WHO เตือน "ยาเรมเดซิเวียร์" ไม่ควรใช้รักษาโควิด-19

20 พ.ย. 2563 | 09:31 น.

องค์การอนามัยโลก เตือน ! ไม่ควรใช้ "ยาเรมเดซิเวียร์" รักษาโควิด-19 เหตุ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า รักษาโควิด-19

20 พฤศจิกายน 2563 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนว่า เรมเดซิเวียร์ (remdesivir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสไม่ควรถูกนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีอาการร้ายแรงแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ยาตัวนี้ใช้รักษาโรคดังกล่าวได้

 

กลุ่มการพัฒนาแนวปฏิบัติ (GDG) ขององค์การฯ ระบุว่าคณะผู้เชี่ยวชาญไม่พบหลักฐานเพียงพอจะบ่งชี้ยาเรมเดซิเวียร์สามารถช่วยรักษาโรคโควิด-19 ทั้งด้านการลดอัตราการเสียชีวิต ลดความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจ ร่นระยะเวลาในการรักษาทางคลินิก และอื่นๆ โดยหากผลเชิงบวกจากการใช้ยาเรมเดซิเวียร์มีอยู่จริง ก็คงอยู่ในระดับต่ำและยังคงมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดอันตรายจากการใช้ยาตัวนี้อยู่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พบ 8 ประเทศยังไม่มีรายงานคนติดโควิด-19 ขณะที่ทั่วโลกทะลุ 57 ล้านราย

ฉุดไม่อยู่ รัฐแคลิฟอร์เนียประกาศ "เคอร์ฟิว"สกัดวิกฤตโควิด

ชาวจีนเกือบ 1 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว 

ยอดโควิด 20 พ.ย. 63 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 รายมาจาก 3 ประเทศ 

 

คำแนะนำขององค์การฯ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารบริติช เมดิคอล จอร์นัล (British Medical Journal) อ้างอิงจากการตรวจสอบทบทวนหลักฐาน ซึ่งรวมถึงข้อมูลจากการทดลองแบบสุ่มระหว่างประเทศ 4 รายการ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมากกว่า 7,000 ราย

หลังจากดำเนินการตรวจสอบทบทวนหลักฐาน กลุ่มฯ ได้ผลสรุปว่า ยาเรมเดซิเวียร์ไม่ส่งผลดีต่ออัตราการเสียชีวิตหรือผลลัพธ์สำคัญอื่นๆ ต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับยาตัวนี้แล้ว ทำให้มีความเห็นว่า ควรมีการสำแดงหลักฐานทางประสิทธิภาพของยาตัวนี้ ซึ่งยังคงไม่พบจากข้อมูลในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ยาเรมเดซิเวียร์ เป็นหนึ่งในยา 2 ตัว ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั่วโลกโดยได้รับอนุญาตในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ หลังจากการวิจัยเบื้องต้นพบว่า ยาตัวนี้อาจร่นระยะเวลาการฟื้นตัวของผู้ป่วยโควิด-19 บางส่วน สำหรับ ยาเรมเดซิเวียร์ นี้ ถูกพัฒนาขึ้นโดยกิลเลียด (Gilead) บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ซึ่งมีราคาสูงมากและต้องถูกฉีดเข้าเส้นเลือดดำ โดยกิลเลียด ระบุว่า ยาเรมเดซิเวียร์ ช่วยกระตุ้นยอดขายช่วงไตรมาส 3 ของบริษัทราว 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.7 หมื่นล้านบาท)