เปิดโผ 10 แบรนด์ชั้นนำแดนมังกร Alibaba-Tencent ครอง 2 อันดับแรก

22 พ.ย. 2563 | 11:09 น.

เปิดโผ 10 แบรนด์ชั้นนำแดนมังกรผงาดโลกปี 63 Alibaba-Tencent ครองมูลค่าแบรนด์สูงสุด 2 อันดับแรก ขณะช่วง 10 ปี 100 แบรนด์ชั้นนำของจีน มีมูลค่าแบรนด์รวมกว่า 30 ล้านล้านบาท

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลของสื่อจีน ที่รายงานการวิจัยเกี่ยวกับผลงาน 10 ปีของแบรนด์จีน พบว่า มูลค่าของแบรนด์สินค้าบางแบรนด์ขยายตัวเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะมีความไม่แน่นอนและได้รับผลกระทบจากความผันผวน ของเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโรค COVID-19

 

การจัดอันดับแบรนด์จีนประจำปีสำหรับปี 2563 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 โดยจัดต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 15 ปี โดยการจัดอันดับแบรนด์นี้เป็นที่รู้จักในนามของ The BrandZ™ Top 100 Most Valuable Chinese Brands คือ การจัดอันดับแบรนด์ของประเทศจีนที่มีความชัดเจน และแข็งแกร่งที่สุด โดยแบรนด์ที่จะได้รับการจัดอันดับจะต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งข้อ ได้แก่ 1) เป็นบริษัทแม่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศจีน 2) เป็นแบรนด์นี้มีต้นกำเนิดในประเทศจีน และบริษัทแม่ของบริษัท ได้รับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

 

3) เป็นแบรนด์ของเอกชน แต่สามารถเปิดเผยงบการเงินฉบับสมบูรณ์ต่อสาธารณะ โดยการจัดอันดับเป็นความร่วมมือของบริษัทเอเจนซี่ด้านสื่อชื่อดังของโลกอย่าง WPP และบริษัท Kantar บริษัทวิจัยด้านข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาการตลาดระดับโลก ได้คัดเลือกแบรนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุด 100 แบรนด์ของจีนที่สามารถรองรับแรงกดดันในการเติบโตได้อย่างโดดเด่นและยังคงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12

 

ผลการจัดอันดับพบว่า แบรนด์ชั้นนำ 100 อันดับแรกมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 106.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.31 ล้านล้านบาท คำนวณที่ 31 บาทต่อดอลลาร์) ทำให้มีมูลค่ารวมเป็น 996.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (30.88 ล้านล้านบาท) แสดงให้เห็นว่าแม้จะเผชิญกับช่วงเวลาที่ตึงเครียด เป็นระยะเวลานาน แต่แบรนด์ที่มีคุณค่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและให้ผลตอบแทนที่เหนือความคาดหวัง เนื่องจากแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญต่อการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคเป็นอันดับแรก

 

รายงานการสำรวจผลงานด้านการเงินและการสร้างความมีส่วนรวมของแบรนด์เป็นหนึ่งในสองหลักเกณฑ์ที่ใช้คำนวณมูลค่าของแบรนด์ โดยผลการจัดอันดับพบว่า บริษัท Alibaba Group ยักษ์ใหญ่ ด้านอินเตอร์เน็ตครองตำแหน่งอันดับ 1 ด้วยผลงานการขยายตัวของมูลค่าแบรนด์ที่ร้อยละ 9 (YoY) ซึ่งคิด เป็นมูลค่า 153.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4.75 ล้านล้านบาท) ตามมาด้วยแบรนด์ Tencent ที่มีมูลค่า 151 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  (4.68 ล้านล้านบาท)และขยายตัวที่ร้อยละ 9 (YoY) เช่นเดียวกัน โดยแบรนด์ที่ติดอันดับ Top 10 ของแบรนด์จีนที่มีมูลค่าสูงที่สุด สรุปได้ดังนี้

 

เปิดโผ 10 แบรนด์ชั้นนำแดนมังกร Alibaba-Tencent ครอง 2 อันดับแรก

 

ในขณะที่แบรนด์จีนในสาขาความบันเทิงและการศึกษา อย่างเช่นแพลตฟอร์ม Douyin (โตว่อิน), Xueersi และ XDF ล้วนเป็นแบรนด์ที่ได้รับประโยชน์และมีมูลค่าเพิ่มท่ามกลางการระบาดของโรค COVID-19 โดยมูลค่าของแบรนด์ในสาขาความบันเทิงเติบโตสูงสุดเป็นปีที่สองโดยขยายตัว 2.2 เท่า ขณะที่แบรนด์ด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 92 อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนเป็นการเรียนทางไกล จากผลกระทบการระบาดของโรค COVID – 19

 

รายงานการวิจัยสรุปได้ว่า การสร้างแบรนด์เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มยอดขาย โดยแบรนด์จะตอกย้ำให้ผู้บริโภคมีความเต็มใจในการซื้อสินค้าและบริการซ้ำแล้วซ้ำอีก และสร้างความเชื่อมั่นว่าสินค้าและ บริการที่มีแบรนด์ดังกล่าว (Branding) จะสามารถมอบประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้กับการบริโภคได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังเปิดเผยถึงแนวโน้มการบริโภค ที่สะท้อนให้เห็นถึงความภาคภูมิใจของผู้บริโภคในการซื้อแบรนด์จีน เมื่อได้เปรียบเทียบกับความคุ้มค่าของราคาและการต่อรอง รวมทั้งข้อเสนอพิเศษที่ได้รับจากการบริโภคแบรนด์นั้น ๆ กล่าวคือ ผู้บริโภคมีความภาคภูมิใจที่ได้ซื้อแบรนด์จีนที่มีความคุ้มค่าของราคา และรู้สึกได้ถึงความมีอำนาจในการต่อรอง ตลอดจนได้รับข้อเสนอพิเศษจากการบริโภค ซึ่งถือว่าแบรนด์จีนสามารถกำหนดกลยุทธ์ในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

 

เปิดโผ 10 แบรนด์ชั้นนำแดนมังกร Alibaba-Tencent ครอง 2 อันดับแรก

 

นอกจากนี้ ยังพบว่าแบรนด์ต่าง ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพศหญิงและสามารถยกระดับและสร้างภาพลักษณ์ในการบริโภคให้เป็นผู้หญิงทำงานที่โดดเด่น และเป็นแม่บ้านที่มีความรับผิดชอบ เป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

 

อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยอื่นๆ ที่กระตุ้นการเติบโตของแบรนด์ ได้แก่ การรุกเข้าสู่ตลาดระดับล่างที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น การปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า ตลอดจนการปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการที่ สร้างสรรค์เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า ยกตัวอย่างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จดังกล่าว เช่น  Pinduoduo (ปินตัวตัว) และ Kuaishou (ไขว้โซว่) ที่ได้สร้างแพลตฟอร์มและสร้างช่องทางในการขยายแบรนด์ของตัวเอง โดยเน้นตลาดชนบทเป็นหลัก เป็นต้น

 

รายงานการจัดอันดับดังกล่าวยังได้อ้างถึงการค้าในรูปแบบที่เป็นการเพิ่มความสะดวกสบาย ให้แก่ลูกค้าด้วยการใช้งานแบบมัลติฟังก์ชันหรือการบริการหลายรูปแบบด้วย ยกตัวอย่าง เช่น แพลตฟอร์ม JD (จิ่งตง) และ Meituan (เหม่ยถวน) กำลังผนึกรวมสื่อโซเชียลมีเดียและการค้าอี-คอมเมิร์ซเข้าด้วยกันเพื่อทำให้ชีวิตของผู้คนง่ายขึ้น พร้อมทั้งสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ แบรนด์ได้อย่างง่ายดาย

 

เปิดโผ 10 แบรนด์ชั้นนำแดนมังกร Alibaba-Tencent ครอง 2 อันดับแรก

 

แบรนด์จีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับโลกและขยายฐานลูกค้าในระดับสากลได้อย่างรวดเร็ว โดยในปี 2006 (2549) มีแบรนด์จีนเพียงแบรนด์เดียว ได้แก่ China Construction Bank ที่ถูกจัดอันดับในแบรนด์ระดับโลกที่มีมูลค่ามากที่สุด ในขณะที่ปี 2020 (2563) มีแบรนด์จีนที่ถูกจัดอันดับในแบรนด์ระดับโลกจำนวน 17 อันดับ โดยผู้เชี่ยวชาญยังคาดหวังว่าแบรนด์จีนจะยังคงมีความสามารถในการก้าวไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะแบรนด์ดังอย่าง Haier (ไห่เอ๋อร์) และ Xiaomi (เสียวหมี่)

 

บริษัท WPP ให้ข้อมูลว่า การเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะและรูปแบบธุรกิจชั้นสูงของแบรนด์จีน จะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้แบรนด์จีนสามารถแซงหน้าคู่แข่ง และสร้างโอกาสให้กับแบรนด์จีนในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศได้ในทศวรรษข้างหน้า ขณะที่การผสมผสานระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและการเข้าใจ พฤติกรรมและธรรมชาติของมนุษย์จะเป็นตัวเปลี่ยนเกม (Game-changer) สำหรับภาคธุรกิจและการแข่งขันในระยะยาว

 

สคต. ณ เมืองชิงต่าว ให้ความเห็นว่า แบรนด์จีนเป็นตัวอย่างของการพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งการเติบโตอย่างต่อเนื่องของแบรนด์จีนทั้ง 100 แบรนด์ดังกล่าวนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะแบรนด์ของประเทศไทยในทุก ๆ สาขาธุรกิจ เนื่องจากแบรนด์จีน ใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และสามารถเข้าถึงผู้บริโภคและสร้างการรับรู้และได้รับความนิยมได้ในระยะเวลาอันสั้น และมีแนวโน้มที่แบรนด์จีนจะพัฒนาและเร่งขยายฐาน ลูกค้าให้ครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

 

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทย และเจ้าของแบรนด์สินค้าและบริการไทยควรมีการปรับตัว และนำเอาบทเรียนความสำเร็จดังกล่าวของแบรนด์ชื่อดังของจีนมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับตลาดภายในประเทศ โดยต้องให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและยอมรับภายในประเทศก่อนเป็นอันดับแรก และขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทุกระดับ โดยอาจจะพิจารณาปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการ ตลอดจนกำหนดราคาให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภค และให้ความสำคัญกับการสร้างความพึงพอใจและตอบสนองความต้องการของลูกค้ามาเป็นอันดับหนึ่ง

 

จากนั้นจึงพิจารณาใช้สื่อโซเชียลมีเดียและการค้า อี-คอมเมิร์ซในการกำหนดกลยุทธ์การเจาะตลาดผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคหลัก ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคเพศหญิง ผู้บริโภค Gen Z หรือผู้บริโภควัยสูงอายุ ที่เริ่มเข้ามาเป็นผู้บริโภคหลักในสินค้าและบริการ จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันหลาย ๆ ประเภท นอกจากนี้ในระยะยาวยังควรมีการพิจารณาวางแผนที่ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของธุรกิจให้มีความหลากหลายและรูปแบบการให้บริการที่โดดเด่น เพื่อสามารถแข่งขันกับแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศได้ และสามารถก้าวขึ้นไปเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป