ธุรกิจโรงพยาบาลถูกจับตาอีกครั้ง หลังบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าบริษัทได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) (BH) ที่ถืออยู่ทั้งหมดจำนวน 180,175,806 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 22.71 % ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของ BH ให้กับผู้ซื้อรายหนึ่งในราคาหุ้นละ 103 บาท มูลค่าราว 18,613.70 ล้านบาท ซึ่งการขายครั้งนี้จะทำให้ BDMS มีกำไร 1,100 ล้านบาท และคาดหมายว่าผู้ซื้อรายนั้นคือ PRINC ทำให้ราคาหุ้นของ PRINC ขึ้น 16% (วันที่ 24 พ.ย.)
ก่อนจะเฉลยในเวลาต่อมาเมื่อนายสาธิต วิทยากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) เจ้าของโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ออกมายืนยันว่าเป็นผู้ซื้อหุ้น BH บิ๊กล็อต โดยล็อตที่ 1 จำนวน 90.5 ล้านหุ้น ในนามส่วนตัว ไม่ใช่ PRINC จาก BDMS ในราคาหุ้นละ 103 บาท หรือคิดเป็นเงิน 9,321.5 ล้านบาท ส่วนล็อตที่ 2 อีก 90,215,806 หุ้น หรือ 11.34% จะดำเนินการซื้อขายแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
หากการซื้อขายครั้งนี้สำเร็จ เท่ากับว่าหุ้นของ BDMS ซึ่งมี “หมอเสริฐ” หรือนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เป็นเจ้าของจะไม่เหลืออยู่ใน BH อีกต่อไป
การขายหุ้นครั้งนี้สปอตไลท์จับไปที่ตระกูลปราสาททองโอสถ เพราะ “หมอเสริฐ” เป็นเศรษฐีหุ้นแถวหน้าของประเทศ การจะทำธุรกิจต้องมีกำไร ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ขณะที่เส้นทางการลงทุนไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะปัจจุบันนอกจากธุรกิจกลุ่มโรงพยาบาลซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลกรุงเทพ , กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช , กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท , กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล ฯลฯ แล้ว ยังมีธุรกิจสายการบินบางกอกแอร์เวย์ และสถานีโทรทัศน์ PPTV ล่าสุด หมอเสริฐ ยังร่วมกับกลุ่มกาญจนพาสน์ ทุ่มเงินกว่า 3.05 แสนล้านบาท คว้าสัมปทาน 50 ปี ในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งคิกออฟด้วยการทุ่มเงิน 4,500 ล้านบาทตั้งบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"สาธิต วิทยากร" เข้าซื้อ BH วางเป้าผนึก PRINC เสริมศักยภาพธุรกิจในกลุ่ม
ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ไทยและทั่วโลกต้องปิดประเทศ นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางข้ามประเทศไม่ได้ การเดินทางด้วยสายการบิน การเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลต้องชะงักงัน ผลประกอบการลดลง ผลที่ตามมาคือกำไรที่หายไป และกว่าจะกลับมาย่อมต้องใช้เวลา ไม่ใช่ในเร็ววันนี้แน่นอน ซึ่งก็น่าจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ “หมอเสริฐ” ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดในครั้งนี้
++ เตือน “ความเสี่ยง” สูง
เมื่อตระกูลโสภณพนิช ต้องเปลี่ยนคู่หูจากตระกูลปราสาททองโอสถ มาเป็นตระกูลวิทยากร เส้นทางธุรกิจจะยังเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะเป็นที่รู้กันว่าตระกูลโสภณพนิช เป็นพวกอนุรักษ์นิยม การทำธุรกิจย่อมไม่ผลีผลาม เห็นได้จากก่อนหน้านี้ที่เข้าไปลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลในฟิลิปปินส์ได้ไม่นานก็ตัดสินใจขายทิ้ง ซึ่งหากอดทนถือไว้อีก 5 ปี ได้กำไรงามมาก อีกทั้งจะเห็นว่าลูกหลานของตระกูลไม่นิยมทำธุรกิจโรงพยาบาล
หากมองถึงตระกูลวิทยากร ซึ่งเส้นทางของนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร ก็ไม่แตกต่างกับหมอเสริฐ เท่าใดนัก แต่การที่นายสาธิต วิทยากร (บุตรชาย) เข้าซื้อหุ้นของ BH ในช่วงนี้หลายคนมองว่าเป็น “ความเสี่ยง”
“กว่าธุรกิจโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลระดับพรีเมี่ยม ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติ 5-6 ดาวจะฟื้นตัวจากพิษโควิด จะต้องใช้เวลา 2-3 ปี นานกว่าโรงพยาบาลระดับกลางหรือล่าง ที่เน้นให้บริการผู้ป่วยในประเทศ และแม้สถานการณ์จะคลี่คลายและกลับมาฟื้นตัวได้ ก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะดีเช่นเดิม เพราะวิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบหนักต่อกำลังซื้อและการว่างงานของคนทั่วโลก” นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าว และยังแสดงความคิดเห็นอีกว่า
“โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีสายป่านที่ยาว มีความพร้อม แต่หากผลตอบแทนต่ำกว่า 1% เชื่อว่าผู้ถือหุ้นใหม่ก็อาจจะต้องคิดให้มาก เพราะวันนี้ธุรกิจจะเติบโตได้ ต้องทำ M&A (Mergers and Acquisitions) หรือ take over เท่านั้น”
นายแพทย์บุญ กล่าวว่า เบื้องต้นมองว่า แม้จะเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น แต่นโยบายของบำรุงราษฏร์จะไม่เปลี่ยน และจะยังคงอยู่ในธุรกิจโรงพยาบาลระดับพรีเมี่ยม ไม่ลงมาแข่งขันในระดับ 3 ดาว ขณะที่การแข่งขันในโรงพยาบาลระดับพรีเมี่ยมก็ยังคงแข่งขันกันเช่นเดิม จากผู้ประกอบการเดิมที่มีอยู่และผู้ประกอบการใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น เมดพาร์ค เป็นต้น ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญสูง ก็ย่อมจะดึงคนไข้ไปได้
++ ปีหน้ารพ.พรีเมี่ยมแข่งดุ
เช่นเดียวกับนายภูมิพัฒน์ ฉัตรนรเศรษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) ที่กล่าวว่า ในปีหน้าเชื่อว่าธุรกิจโรงพยาบาลในเซ็กเม้นท์ระดับบนหรือพรีเมี่ยม ที่เจาะตลาดต่างประเทศ จะแข่งขันสูงจากผู้ประกอบการเดิม และผู้ประกอบการใหม่ ที่มาจากกลุ่มธุรกิจเดียวกันและอุตสาหกรรมอื่น แต่การแข่งขันในธุรกิจนี้ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านโอเปอเรชั่น และต้องใช้การตลาดนำ
ขณะที่โรงพยาบาลในระดับกลาง จะมุ่งจับตามแคชเม้นท์แอเรียของตัวเอง ทำให้การแข่งขันไม่ดุเดือดนัก เพราะแต่ละแคชเม้นท์จะมีเจ้าถิ่นที่ยึดครองโลเคชั่นอยู่ อย่างไรก็ดีการซื้อโรงพยาบาลที่จับกลุ่มชาวต่างชาติเป็นหลัก ยังมีความเสี่ยงและหากเป็นโรงพยาบาลสแตนด์อะโลน เมื่อเกิดปัญหาย่อมได้รับผลกระทบสูง จึงควรต้องไดเวอร์ซิฟายธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนต้องขายโรงพยาบาล เพราะการแข่งขันในแคชเม้นท์ใกล้เคียงกัน ผู้เล่นหน้าใหม่จะดึงดูดแพทย์ดังๆ เข้าไปได้มาก
“ในเซ็กเม้นท์ระดับพรีเมี่ยม ตลาดค่อนข้างกว้าง แต่ละโรงพยาบาลจะมีรูปแบบการทำธุรกิจที่แตกต่างกันไป เช่นของ BCH ใช้ เอเจนซี โมเดล ทำให้มองว่ายังมีโอกาสอยู่ หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เชื่อว่าประเทศไทยจะเนื้อหอม และมีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) กลับเข้ามาใช้บริการมากขึ้น”
++ ซินเนอยี่ต่อยอดธุรกิจ
ด้านนายสาธิต วิทยากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) เจ้าของโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ออกมายืนยันว่า การเข้าซื้อหุ้น BH ในครั้งนี้เพราะมองเห็นถึงศักยภาพของบำรุงราษฎร์ ศักยภาพของแพทย์ และเชื่อว่าจะสามารถซินเนอยี่กับ PRINC ช่วยเสริมทักษะด้านการแพทย์ การบริการ การส่งต่อผู้ป่วยหนักได้ อย่างไรก็ดี PRINC ยังมีแผนเดินหน้าลงทุนโดยเฉพาะการขยายโรงพยาบาลให้ครบ 20 แห่งตามเป้าหมายที่วางไว้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 11 แห่ง
หน้า 01 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,631 วันที่ 29 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563