สวนสัตว์โคราชเฮลั่น กว่า 25 ปีของประเทศไทย ที่พญาแร้งออกไข่สำเร็จ “แม่นุ้ย” พญาแร้ง วางไข่ 1 ฟอง ให้เป็นของขวัญรับเทศกาลตรุษจีน-วาเลนไทน์ แก่คนไทยทั้งประเทศ
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ช่วงสายวันนี้ที่สวนสัตว์นครราชสีมา ต.ไชยมงคล อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา นายณรงวิทย์ ชดช้อย รักษาการผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา เปิดเผยถึงความโชคดี ต้อนรับเทศกาลตรุษจีนและวาเลนไทน์-วันแห่งความรัก ว่า ถือเป็นครั้งแรกในเอเชียที่พญาแร้งออกไข่ในกรงเลี้ยง และกว่า 25 ปีของประเทศไทยที่พญาแร้งออกไข่สำเร็จ
สวนสัตว์นครราชสีมามีพญาแร้งทั้งหมด 4 ตัว ได้แก่ “ป๊อกกี้“ เพศผู้อายุ 19 ปี “แจ็ค “ เพศผู้อายุ 21 ปี “ ตาล” เพศผู้ อายุ 12 ปี และ”นุ้ย” เพศเมีย อายุ 10 ปี โดยเริ่มทำการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ทีมทำงาน"โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย" ต่างรอลุ้นกันมาตลอดทั้งปี ว่าพญาแร้งในกรงเลี้ยงของสวนสัตว์นครราชสีมาจะวางไข่อีกหรือไม่ และก็ได้เฮกันอีกครั้งเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา แม่นุ้ย พญาแร้งในกรงเลี้ยง ได้วางไข่ 1 ฟอง ให้เป็นของขวัญแก่พี่น้องชาวจ.นครราชสีมา และคนไทยทั้งประเทศ
โดย'พญาแร้ง' เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหนึ่งชนิดที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติของประเทศไทยไปแล้วเกือบ 30 ปี และหลงเหลืออยู่ในการเพาะเลี้ยงของประเทศไทย เพียง 5 ตัวเท่านั้น
นายณรงวิทย์ ชดช้อย รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทีมงานสวนสัตว์นครราชสีมาได้นำไข่ของพญาแร้งจำนวนหนึ่งฟอง มาเก็บในตู้ฟักไข่เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ทั้งนี้ การนำไข่เข้าตู้ฟักจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดของลูกนก และยังเป็นการกระตุ้นให้แม่นกวางไข่ใบที่ 2 ตามกระบวนการเพาะพันธุ์นกนักล่าในสภาพการเพาะเลี้ยง เพื่อเพิ่มจำนวนไข่ต่อฤดูกาลอีกด้วย
สำหรับไข่ฟองนี้เกิดจากพ่อพญาแร้ง ชื่อตาล และแม่พญาแร้ง ชื่อนุ้ย ซึ่งจับคู่กันมาซักระยะแล้ว แต่ยังไม่เคยวางไข่สำเร็จ ทีมเพาะเลี้ยงจึงได้พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการเลี้ยงเกือบทั้งระบบ และกำลังอยู่ในความดูแลของทีมเพาะเลี้ยงอย่างใกล้ชิด ในธรรมชาติพญาแร้งจะวางไข่ 2 ปี เพียง 1 ฟองเท่านั้น แต่ในการเพาะพันธุ์ อาจวางไข่ได้ทุกปี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ วัย และอาหารที่อุดมสมบูรณ์ หากโชคดี”แม่นุ้ย” พญาแร้งวางไข่ใบที่สอง จะให้แม่นุ้ยได้ฟักไข่เอง ทั้งนี้ จะรายงานความคืบหน้าต่อไปอีกครั้งใน 2-3 สัปดาห์ต่อจากนี้
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา นายสัตวแพทย์สุเมธ กมลนรนาถ รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Sumate Kamolnorranath เกี่ยวกับโครงการ การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย
ปัจจุบันกำลังมีโครงการภายใต้ความร่วมมือของ 4 องค์กรหลัก ได้แก่ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และอีกหลายหน่วยงานพันธมิตร ที่มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์พญาแร้งนอกถิ่นอาศัย ให้มีประชากรที่เพียงพอต่อการปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่ออนุรักษ์พญาแร้งในถิ่นอาศัย ณ บริเวณพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ต่อไปในอนาคต