หัวเว่ยได้ระบุในรายงานว่า บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ถือสิทธิบัตรรายใหญ่ที่สุดของโลกจากการเดินหน้าลงทุนและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ถือสิทธิบัตรมากกว่า 100,000 รายการ จากกลุ่มสิทธิบัตรมากกว่า 40,000 กลุ่มทั่วโลก
นายเจสัน ติง ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาของหัวเว่ย กล่าวว่า “นวัตกรรมถือเป็นหัวใจสำคัญในธุรกิจของหัวเว่ยนับแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท รายงานสมุดปกขาวประจำปี พ.ศ. 2563 นี้ระบุถึงรายการสิทธิบัตรต่าง ๆ ที่หัวเว่ยได้จดทะเบียน รวมถึงกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการสร้างสรรค์นวัตกรรมอื่น ๆ ของเราในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยจำนวนรายการจดสิทธิบัตรของหัวเว่ยนั้นถือว่าใกล้เคียงกับผู้นำรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และความสำเร็จของหัวเว่ยในวันนี้ก็เป็นผลมาจากการลงทุนด้านนวัตกรรม รวมถึงการวิจัยและพัฒนาในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง”
หัวเว่ยยื่นจดสิทธิบัตรใบแรกในประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ. 2538 และยื่นจดสิทธิบัตรใบแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2542 โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ WIPO จัดให้หัวเว่ยเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในแง่ของจำนวนการยื่นจดสิทธิบัตรภายใต้สนธิสัญญา PCT หรือ Patent Cooperation Treaty เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2551 และในปี พ.ศ. 2562 หัวเว่ยก็เป็นผู้ที่ถือสิทธิบัตรมากเป็นอันดับ 2 ในยุโรป และเป็นอันดับ 10 ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิบัตรมากเป็นอันดับ 1 ในประเทศจีนในปัจจุบัน
นายเจสัน ติง ระบุว่า หัวเว่ยประเมินว่าบริษัทจะมีรายได้จากค่าสิทธิบัตรในช่วงปี พ.ศ. 2562 ถึง 2564 ประมาณ 1,200 – 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และหัวเว่ยจะคิดค่าสิทธิหรือค่ารอยัลตี้ ในอัตราที่เหมาะสมสำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน 5G ในสัดส่วนที่ไม่แพงเกินไป สูงสุดไม่เกินเครื่องละ 2.5 เหรียญสหรัฐ
“หัวเว่ยเป็นผู้นำในการสร้างมาตรฐาน 5G และเราคิดค่ารอยัลตี้โดยยึดมั่นตามหลักการที่เหมาะสมและยุติธรรม เราหวังว่าอัตราค่ารอยัลตี้ที่เราประกาศนี้ จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสให้แก่โครงสร้างด้านต้นทุนให้แก่ผู้ผลิต และเพิ่มอัตราการใช้งาน 5G ในที่สุด” นายเจสันกล่าวปิดท้าย