ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (4)

23 พ.ค. 2564 | 06:35 น.

ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (4) : คอลัมน์เศรษฐทัศน์  โดย... รศ.(พิเศษ) ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,681 หน้า 5 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม 2564

บทความในตอนที่แล้วได้อธิบายถึง Roadmap และมาตรการกรณีของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจกในช่วงปี 2564-2573 โดยที่มาตรการจำนวนหนึ่งระบุเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า ทั้งในส่วนของครัวเรือน อุตสาหกรรม และการคมาคมขนส่ง ซึ่งส่วนสำคัญของพลังงานดังกล่าวมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน นํ้ามัน และก๊าซธรรมชาติ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกด้วย

โดยบทความตอนนี้จะนำเสนอความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งความเสียหายจากมลพิษอันเนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการสรุปให้เห็นถึงการยิ่งใช้พลังงานฟอสซิลยิ่งที่ทำให้โลกร้อน ซึ่งกระบวนการธุรกิจในปัจจุบันก็เกี่ยวข้องกับการใพลังงานฟอสซิล จึงควรมีส่วนร่วมในการลดการใช้พลังงานดังกล่าว

1. ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิล

ข้อมูลจาก National Geographic ฉบับภาษาไทย (ngthai.com) ในบทความเรื่อง เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) โดย คัดคณัฐ ชื่นวงค์อรุณ สรุปไว้ว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลคือ อินทรีย์สารใต้พื้นโลกที่เกิดจากการทับถมกันของซากพืช ซากสัตว์ ใต้ทะเลลึกเมื่อหลายพันปีก่อน พร้อมกับได้รับความร้อนจากใต้ พื้นโลก ทำให้ซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันหนาแน่นใต้ชั้นหินตะกอนเกิดการย่อยสลายกลายเป็นแหล่งสะสมของสารไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) ขนาดใหญ่ที่มนุษย์นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงและแหล่งกำเนิดพลังงานต่างๆ เชื้อเพลิงฟอสซิลจำแนกออกเป็น 3 ประเภทตามสถานะของสารได้แก่

ของแข็ง : ถ่านหิน (Coal)

เป็นหินตะกอนสีนํ้าตาลดำ หรือถ่านหิน เกิดจากซากพืชในพื้นที่แฉะทับถมกันเป็นเวลานาน (ราว 300-360 ล้านปี) ภายใต้แรงดันและความร้อนสูงที่อยู่ลึกลงไปจากพื้นผิวโลก ส่งผลให้เกิดการย่อยสลายและเกิดเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในสถานะของแข็ง ถ่านหินแบ่งออกเป็น 5 ประเภทตามองค์ประกอบทางเคมี ได้แก่ พีต (Peat) ลิกไนต์ (Lignite) ซับบิทูมินัส ( Sub-Bituminous) บิทูมินัส (Bituminous) และ แอนทราไซด์ ( Anthracite) ถ่านหินเป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่สำคัญในการผลิตพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน เพื่อใช้ในครัวเรือน และอุตสาหกรรม ประเทศผู้ผลิตหลักถ่านหินที่สำคัญได้แก่ จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา

ของเหลว: นํ้ามันดิบ (Crude Oil)

นํ้ามันดิบประกอบด้วยคาร์บอน (Carbon) และไฮโดรเจน (Hydrogen) เป็นองค์ประกอบหลักมีสถานะเป็นของเหลวที่มีสีสันหลากหลายและมีอัตราความหนืดขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมี นํ้ามันดิบส่วนใหญ่ก่อตัวขึ้นในช่วงมหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) หรือราว 66-252 ล้านปีก่อน โดยเกิดจากการทับถมกันของซากพืช ซากสัตว์ใต้ท้องทะเลในอดีต นํ้ามันดิบไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรงต้องนำไปผ่านกระบวนการกลั่นและกระบวนการผลิตแยกส่วน กลายเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (Petroleum Product) หลายชนิด เช่น นํ้ามันเบนซิน นํ้ามันดีเซล นํ้ามันอากาศยานและนํ้ามันเตา ประเทศผู้ผลิตนํ้ามันที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบีย และรัฐเซีย

ก๊าซ : ก๊าซธรรชาติ (Natural Gas)

ก๊าซธรรมชาติจะไร้สีไร้กลิ่น ประกอบด้วย มีเทน (Methane) เป็นหลัก เกิดจากกระบวนการย่อยสลายของซากสิ่งมีชีวิตใต้พื้นดิน เมื่อหลายล้านปีก่อน เช่นเดียวกับ ถ่านหินและนํ้ามันดิบ ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสะอาด เนื่องจากมีกระบวนการเผาไหม้ที่สมบูรณ์จึงเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญ ประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติที่สำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และ อิหร่าน

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้จากกระบวนการแยกส่วนในการกลั่นนํ้ามันดิบและเชื้อเพลิงฟอสซิลยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ตั้งต้นในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น พลาสติก ผงซักฟอก ยางสังเคราะห์ ปุ๋ยเคมี และกาว เป็นต้น

เมื่อเชื้อเพลิงฟอสซิลถูกเผาไหม้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ผลผลิตสุดท้ายที่ปล่อยออกมาคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ซึ่งคงค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก ก๊าซเหล่านี้มีความสามารถในการดักจับและเก็บความร้อนได้ดี ส่งผลให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศของโลกในขณะนี้ โดยเฉพาะการเผาไหม้ถ่านหิน และนํ้ามันปิโตรเลียม ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกมากกว่าร้อยละ 75% ตั้งแต่ยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม เป็นต้นมา แม้ว่าการเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ แต่ในกระบวนการสำรวจ ขุดเจาะและขนส่งเชื้อเพลิงฟอสซิลยังสามารถสร้างผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมของโลก

 

2. อากาศพิษ : ราคาของเชื้อเพลิงฟอสซิล

ข้อมูลจาก greepeace.org เปิดเผยว่ามลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนทั่วโลกราว 4.5 ล้านคนต่อปี มลพิษทางอากาศยังทำให้โรคเจ็บป่วยเรื้อรัง และโรคเจ็บป่วยฉับพลันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนหลายล้านคนต้องเข้าโรงพยาบาลและต้องขาดงานเพราะลาป่วย รวมถึงยังสร้างความเสียหายต่อทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ประมาณการว่าความเสียหายดังกล่าวอาจสูงถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 3.3 % ของจีดีพีโลก และตราบใดที่ถ่านหิน นํ้ามัน และบริษัทรถยนต์ยังคงผลักดันการใช้เทคโนโลยีเก่าล้าสมัย เราก็ยังคงต้องจ่ายค่าความเสียหายต่อสุขภาพของผู้คนและชุมชน

ในขณะเดียวกันมีความพยายามประเมินมูลค่าความเสียหายด้านมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งตัวเลขการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนทั่วโลกราว 4.5 ล้านคนในแต่ละปี ตัวเลขดัง กล่าวนี้สูงมากกว่า 3 เท่าของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลก มีการวิเคราะห์ว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) 600,000 คนต่อปี เกี่ยวข้องกับฝุ่น pm 2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ประมาณการของมูลค่าความเสียหายของมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้ฟอสซิลอยู่ที่ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หรือคิดเป็น 3.3% ของจีดีพีโลก

 

ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (4)

 

 

มลพิษทางอากาศยังคงเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศรายได้ตํ่าซึ่งรายงานพบว่ามีเด็ก ราว 40,000 คนทั่วโลกเสียชีวิตก่อนครบรอบวันเกิดวัย 5 ขวบ เพราะรับฝุ่น pm 2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากที่ฝุ่น pm 2.5 ยังเป็นสาเหตุของภาวะคลอดก่อนกำหนดราว 2 ล้านคนต่อปี

3. การใช้พลังงานฟอสซิล : ยิ่งใช้โลกยิ่งร้อน

บทความของ Stephen Leahy ที่สรุปลงใน National Geographic ฉบับภาษาไทย (ngthai.com) เมื่อ 3 ก.ค. 2019 ระบุว่า ณ ขณะนี้โลกของเรามีโรงงานไฟฟ้า โรงงานยานพาหนะ และอาคารที่อาศัยพลังงาน ฟอสซิลอยู่มากมาย ถ้าสถานที่เหล่านี้ยังคงใช้พลังงานฟอสซิลเช่นทุกวันนี้ไปเรื่อยๆ อุณหภูมิของโลกจะสูงเกินความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้โลกได้รับอันตรายอย่างใหญ่หลวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโลกของเราควรยุติการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใดๆ ที่มีการใช้พลังงานฟอสซิล รวมทั้งต้องพิจารณาหาทางทยอย ปิดโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานฟอสซิลที่ดำเนินการอยู่ 

มีงานวิจัยที่พยายามตอบคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่มีการสร้างโรงงานเชื้อเพลิงเผาไหม้ฟอสซิล โดยงานวิจัยได้ตรวจสอบ การปล่อยก๊าซของไฟฟ้า แหล่งพลังงาน การจราจรขนส่ง ที่พักอาศัย และโครงสร้างพื้นฐานเชิงพาณิชย์ของปี 2018 และคำนวณค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคต ซึ่งใช้ค่าเฉลี่ยของระยะเวลาจำนวนปีที่ได้มีการปล่อยก๊าซนี้

มีการยกตัวอย่างว่า โรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่มีอยู่ในทุกวันนี้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นับล้านตันทุกปีในตลอดช่วงดำเนินงานตลอด 40 ปี ที่ผ่านมา รถยนต์คันใหม่ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4 ตันต่อปี จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ราว 60 ตัน ในกรณีที่รถยนต์นี้มีอายุการใช้งาน 15 ปี 

และถึงแม้ว่าจะมีการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยพื้นที่ป่าไม้ และมหาสมุทรแต่ก็ยังมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก อยู่ในชั้นบรรยากาศและถูกขังอยู่ในนั้นเป็นเวลาหลายร้อยปีเว้นเสียแต่ว่าโลกจะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อดูดซับก๊าซเหล่านี้จากชั้นบรรยากาศกลับมาบนโลกอีกครั้ง

 

งานวิจัยสนับสนุนให้ทำการปลดระวาง โครงสร้างพื้นฐานที่ใช้พลังงานฟอสซิลให้เร็วกว่าที่วางแผนเอาไว้ เพราะหากรวมตัวเลขของโรงงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ดำเนินการอยู่ ที่กำลังวางแผนก่อสร้าง หรือมีแผนจะก่อสร้าง จะยิ่งทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น จนทำให้ยาก ลำบากที่จะทำให้อุณหภูมิโลกตํ่ากว่า 2 องศา และลืมเรื่องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสไปเลย

นอกเหนือไปจากการควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าจาก ถ่านหิน นํ้ามันและก๊าซธรรมชาติแล้ว ควรเร่งพัฒนาทางเลือกของพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ซึ่งแม้จะมีการเติบโต แต่ก็ยังไม่ทันกับความต้องการพลังงาน ทำให้การใช้พลังงานฟอสซิลไม่สามารถลดลงอย่างที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ การเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าจำนวนหลายล้านตารางกิโลเมตร ใช้เทคโนโลยีที่สามารถดักจับคาร์บอนในปริมาณที่มากขึ้น จะเป็นวิธีที่ช่วยแก้ปัญหาในอีกทางหนึ่ง

ในมิติของภาคธุรกิจนั้น ควรเริ่มต้นจากการหันไปทบทวนว่า บนกระบวนการทำธุรกิจของตนเองตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นนํ้าและปลายนํ้า บริษัทและผู้เกี่ยวข้องดำเนิธุรกิจด้วยการจัดหาและใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างไรและเท่าใด และบริษัทจะมีส่วนที่กำหนดนโยบาย วางเป้าหมายและแผนงานอย่างไร เพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากพลังงานฟอสซิล 

แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่สามารถทำได้ทันทีทั้งหมดบนกระบวนการทำธุรกิจในปัจจุบัน อย่างน้อยบริษัทก็ได้ตั้งต้นในการเห็นสภาพปัญหา และความเกี่ยวข้องของธุรกิจ และได้แสดงความตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งในส่วนมาตรการการให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้อง การกำหนดนโยบายและเป้าหมาย การกำหนดแผนงานการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างมีประสิทธิภาพในรูปแบบต่างๆ

รวมทั้งการวัด การประเมินผล และเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว บริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการบริหารพลังงานฟอสซิลอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และยังทำให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งทางผลการดำเนินงาน จะได้รับความชื่นชม ว่า ทำธุรกิจอย่างมีความประณีต และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม จริงๆ ไม่ใช่แค่มีคำปฎิญญาประกาศเท่านั้น 

การทำจริงดังกล่าวจะย้อนกลับมาส่งผลดีต่อมูลค่าและความยั่งยืนขององค์กร รวมทั้งความยั่งยืนของโลกด้วย ความร่วมมือเพื่อลดโลกร้อนจากภาคธุรกิจ จึงอาจตั้งต้นกลับไปทบทวนและหาทางแก้ไข การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลซึ่งสามารถเริ่มได้เลย ไม่ต้องรอใคร! 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :