CAT จับมือ China Telecom Global ” เสริมความแข็งแกร่งขยายโครงข่ายระหว่างประเทศมุ่งสู่ “ASEAN Digital Hub”
กระทรวงไอซีทีหนุน CAT เดินหน้าร่วมมือกับ “China Telecom Global” เสริมความแข็งแกร่งขยายโครงข่ายระหว่างประเทศมุ่งสู่ “ASEAN Digital Hub”
รายงานข่าวจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ร่วมคณะเดินทางพร้อมกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมหารือองค์กรภาครัฐและเอกชนของจีน สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทย-จีน ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเป็นทางการ ต่อเนื่องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทยสู่ระดับภูมิภาคมุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมสู่ผู้นำกลุ่มอาเซียน โดยบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT นำโดย ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมกับ นายเซี่ยวเหว่ย (Mr.Xiao Wei) รองประธานบริหาร บริษัท China Telecom Global Limited หรือ CTG หนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านโทรคมนาคมและเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ของประเทศจีน ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางจัดสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่ และระบบเคเบิลภาคพื้นดินจากประเทศไทยไปยังเขตปกครองพิเศษฮ่องกง โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ร่วมเป็นสักขีพยาน
การลงนาม MOU ดังกล่าว สอดคล้องกับเป้าหมายกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการผลักดันการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มุ่งพัฒนาขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยด้านการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศนั้น กระทรวงไอซีทีเน้นส่งเสริมเสถียรภาพโครงข่ายด้วยการเพิ่มความหลากหลายของระบบเชื่อมโยงระหว่างประเทศให้มากขึ้น จากเดิมที่ปริมาณข้อมูลส่วนใหญ่อาศัยการเชื่อมต่อกับสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นหลัก โดยการเชื่อมต่อกับฮ่องกงในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มเส้นทางในการส่งผ่านข้อมูลไปยังภูมิภาคต่าง ๆ และสามารถบริหารประสิทธิภาพโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมในภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของปริมาณการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัล และผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) โดยความร่วมมือกับ CTG ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวในการผลักดันแผนงานที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ของกระทรวงไอซีทีให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ต่อเนื่องจากการสนับสนุนการลงนามความร่วมมือระหว่าง CAT และ ทาทา คอมมิวนิเคชั่นส์ ในการพัฒนาโครงข่ายเคเบิล ใต้น้ำระหว่างประเทศไทยและอินเดีย โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคอย่างแท้จริงจากการเชื่อมโยงระบบเคเบิลภาคพื้นดินประสิทธิภาพสูงที่เชื่อมโยงทั้งในกลุ่มประเทศอินโดจีนและเชื่อมต่อยาวไปจนถึงฮ่องกง รวมถึงการเชื่อมต่อกับระบบเคเบิลใต้น้ำผ่านทั้งด้านตะวันตกฝั่งทะเลอันดามัน และด้านตะวันออกฝั่งอ่าวไทยไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้ทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยจะพร้อมรองรับผู้ให้บริการ Content รายใหญ่ระดับโลกที่จะมาลงทุนจัดวางระบบในประเทศไทยซึ่งมีความพร้อมทั้งในด้านตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ และระบบการสื่อสารโทรคมนาคมครบวงจร
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวเสริมว่า “ก่อนหน้านี้ รองนายกรัฐมนตรีและคณะ ได้ร่วมประชุมกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยชิงหัว เพื่อหารือแนวทางการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี ในมหาวิทยาลัย โดยมีการนำเสนอโมเดลของบริษัท TUS-Holdings ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีของจีน ได้มีการลงทุนธุรกิจ หรือร่วมธุรกิจกับพันธมิตร ในต่างประเทศ ซึ่งเราเองก็ได้เชิญชวนให้ TUS-Holdings มาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในประเทศไทยด้วยเช่นกัน”
พร้อมกันนี้ ผู้บริหาร Baidu ซึ่งเป็นบริษัทแนวหน้าของจีนด้านการพัฒนา Applications และ Search engine เข้าพบรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ โดยได้หารือแนวทางการพัฒนาธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทย เพื่อต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) สำหรับภาคธุรกิจไทย ภายหลังจากที่ได้จัดตั้งสำนักงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2011 โดยรองนายกรัฐมนตรีได้ฝากให้ Baidu พิจารณาสนับสนุนและส่งเสริมการตลาดสำหรับสินค้าไทยจาก SME ชุมชนให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศระดับโลกมากขึ้น
โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีความสนใจสินค้าไทย ซึ่ง Baidu มีความยินดี โดยเสนอว่าหากมีผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า SME ไทย หรือ Web Portal ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการนำเสนอข้อมูลสินค้านั้นๆ ทางช่องทางออนไลน์ในรูปแบบซึ่งเป็นที่สนใจของชาวจีนได้ ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าวกระทรวงไอซีทีจะมอบให้สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA เป็นผู้ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เริ่มหารือความร่วมมือกับ Baidu ในการจัดทำข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวไทยเพื่อการค้นหาบนระบบ Baidu Map ในภาษาอื่นๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวไทยได้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการต่อยอดในเรื่องของการพัฒนาสินค้าชุมชนในธุรกิจการท่องเที่ยวต่อไป