ในการเยี่ยมชมแท่นผลิตปิโตรเลียมกลางแหล่งเอราวัณ ในอ่าวไทย ดำเนินงานโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในวันที่ 4 มีนาคม 2563 จะมีการประกาศเปิดประมูลให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ทั้งนี้ราชกิจจานุเษกษา วันที่ 2 มีนาคม 2563 ได้เผยแพร่ประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่องการกำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย สำหรับการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
สาระสำคัญคือ 1.ให้ยกเลิกประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง เขตพื้นที่แปลงสำรวจปิโตรเลียมบนบกและในทะเลอ่าวไทยที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมลงวันที่ 5 มีนาคม 2561 และ 2.กำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย สำหรับการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำนวน 3 แปลง ในอ่าวไทย ที่ว่างเว้นการดำเนินงานมาร่วม 13 ปี หลังจากที่เปิดประมูลปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ผู้ชนะการประมูลเข้าไปดำเนินงาน
ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการปิโตรเลียม ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบการส่งมอบสิ่งติดตั้งหรือแท่นผลิตปิโตรเลียมของแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะสิ้นสุดสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 ให้กับรัฐแล้วประมาณ 241 แท่นผลิต เป็นของแหล่งเอราวัณ 191 แท่น ซึ่งรัฐจะเก็บไว้ใช้ประโยชน์ราว 142 แท่น และทำการรื้อถอน 49 แท่น ส่วนแหล่งบงกชส่งมอบให้รัฐราว 50 แท่น รัฐเก็บไว้ในประโยชน์ราว 46 แท่น และรื้อถอนราว 4 แท่น
ขณะที่การเจรจาวางหลักประกันและค่ารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมจำนวนดังกล่าว คณะกรรมการเจรจาที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้าคณะ กับผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม 2 ราย ได้แก่ บริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่นฯ ผู้ดำเนินงานแหล่งเอราวัณ และบริษัท โททาลฯ ยักษ์ใหญ่นํ้ามันฝรั่งเศสผู้ถือหุ้นในแหล่งก๊าซบงกช 33.3% ยังไม่ได้ข้อยุติ หลังจากที่ได้ระงับการฟ้องอนุญาโตตุลาการ เป็นการชั่วคราว กรณีข้อพิพาทค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมที่รัฐนำไปใช้ประโยชน์ต่อ
ทั้งนี้ การเจรจาดังกล่าวได้ยืดเยื้อมาร่วม 4 เดือน และมีกรอบการเจรจาให้ได้ข้อยุติอีกราว 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งมีสัญญาณออกมาว่า การเจรจาจะไม่สามารถบรรลุผลตามที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องการได้ โดยเฉพาะทางกระทรวงพลังงาน ได้เตรียมร่างรายละเอียดข้อกำหนดหรือทีโออาร์ ในการว่าจ้างสำนักงานกฎหมาย วงเงินประมาณ 450 ล้านบาท เพื่อเตรียมพร้อมต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการไว้ หากการเจรจาไม่ได้ข้อยุติ
นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ โฆษกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ระหว่างเจรจากับผู้รับสัมปทานอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับแผนงานการรื้อถอน ทั้งประมาณการค่าใช้จ่าย และการวางหลักประกันค่ารื้อถอน ซึ่งขณะนี้ได้ข้อสรุปจำนวนแท่นผลิตปิโตรเลียม ที่รัฐจะเก็บไว้นำไปใช้ประโยชน์ต่อแล้ว เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากมีความชัดเจนจำนวนแท่นผลิตที่รัฐจะเก็บไว้แล้ว คงต้องเจรจาต่อไปถึงความชัดเจนในการวางหลักประกันและค่ารื้อถอนว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะยอมรับกันออกมาอย่างไร หากได้ข้อยุติ กรมจะทำเรื่องไปถึงผู้รับสัมปทาน เพื่อให้มาวางหลักประกันการรื้อถอนภายใน 120 วัน พร้อมกับจัดทำแผนงานการรื้อถอนเบื้องต้นและประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนส่งให้กรม ไม่น้อยกว่า 2 ปี ก่อนเริ่มดําเนินกิจกรรมการรื้อถอน
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม หากผู้รับสัมปทานไม่รับผลการเจรจา และจะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก็ต้องเตรียมการรับมือในส่วนนี้ไว้คู่ขนาน ซึ่งได้มีการยกร่างรายละเอียดข้อกำหนดหรือทีโออาร์ ในการว่าจ้างสำนักงานกฎหมายไว้แล้ว ส่วนจะได้ใช้ดำเนินการหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับผลการเจรจา
แหล่งข่าวจากวงการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม กล่าวว่า การเจรจาที่ยังไม่ได้ข้อสรุปนั้น เพราะไม่มีความชัดเจนว่าจำนวนแท่นที่รัฐนำไปใช้ประโยชน์ต่อ ทางผู้รับสัมปทานจะต้องวางหลักประกันและค่ารื้อถอนหรือไม่ หากต้องจ่ายค่ารื้อถอนทางผู้รับสัมปทานไม่ยอมรับในจุดนี้ เพราะกฎกระทรวงเขียนชัดเจนว่ามีสิ่งติดตั้งใดที่รัฐจะรับมอบ และให้ผู้รับสัมปทาน ส่งมอบสิ่งติดตั้งดังกล่าวให้แก่รัฐโดยไม่คิดมูลค่า หากรัฐยืนยันที่จะให้ผู้รับสัมปทานมารับภาระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม ที่รัฐนำไปใช้ประโยชน์ ผู้รับสัมปทานก็คงจะต้องนำข้อพิพาทดังกล่าวไปให้คนกลางหรืออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด
ส่วนการจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายต่อสู้คดี ก็ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของกรม หากการเจรจาไม่ได้ข้อยุติ เพราะคดีนี้ต้องใช้สำนักงานกฎหมายที่เก่ง และผู้ที่จะมารับงานต้องมีความหวังว่าจะชนะ จึงตั้งงบค่าจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายออกมาค่อนข้างสูง
“หากการเจรจาไม่ได้ข้อยุติก่อนที่จะครบ 6 เดือนหรือก่อนเดือนเมษายน 2563 นี้ เข้าใจว่าทางผู้รับสัมปทานจะยื่นเรื่องเข้าสู่อนุญาโตตุลาการอีกครั้ง ซึ่งอาจจะกระทบต่อการเข้าพื้นที่ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ.ที่ชนะการประมูลในแหล่งเอราวัณ และอาจจะทำให้การผลิตปิโตรเลียมตั้งแต่ปี 2565 สะดุดลงได้”
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3554 วันที่ 5-7 มีนาคม 2563