ขยายสัญญา รถไฟฟ้า แบกดอกเบี้ย-ค่าแรงอ่วม!

23 พ.ค. 2563 | 04:50 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2563 | 11:54 น.

เอกชนอ่วม แบกดอกเบี้ย-ค่าแรง รฟม.เลื่อนขยายสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีเหลือง-ชมพู อีก 1 ปี ขยับเปิดให้บริการปี 2565 ยอมรับมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เดินหน้าเจรจากลุ่มบีทีเอส ส่วนส้มตะวันออก ต้องรอความพร้อมส้มตะวันตก

การส่งมอบพื้นที่ล่าช้า การกำหนดระยะเวลาก่อสร้างรถไฟฟ้าที่สั้นเกินไป ประกอบกับการมาของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายใหม่ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ต้องเลื่อนออกไปอีกราว 1 ปี เริ่มตั้งแต่สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงิน 45,797 ล้านบาท คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศ ไทย (บอร์ดรฟม.) มีมติขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปเกือบ 9 เดือน หรือ 265 วัน และขยับการเปิดให้บริการออกไป เป็นเดือนกรกฎาคม 2565 ตามแผนเดิม จะต้องแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564

เช่นเดียวกับสายสีชมพู ช่วง แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงิน 46,643 ล้านบาท ที่ บอร์ดรฟม. พิจารณาขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปีอย่างไรก็ตาม รฟม.ยอมรับว่าเอกชน อย่างบีทีเอสกรุ๊ปและพันธมิตร ผู้รับสัมปทาน จะกระทบ ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งดอกเบี้ย และค่าแรง

แหล่งข่าวจาก รฟม. เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการขยายสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง สายสีเหลืองและสายสีชมพู ออกไป อีกเกือบ 90 วันและอีก 1 ปี ตามลำดับนั้น เอกชนมีผลกระทบเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายแน่นอน แต่ขณะนี้ได้มีการเจรจากันอย่างต่อเนื่อง กลุ่มบีทีเอสไม่ได้ติดใจเรื่องนี้โดยจะไม่เกิดกรณีค่าโง่ตามมาอย่างแน่นอน

สำหรับปมความล่าช้า เกิดจากความผิดพลาดของรฟม.ที่กำหนดระยะเวลาการก่อสร้าง รถไฟฟ้า 2 เส้นนี้สั้นเพียง 3 ปี เพื่อ เร่งเปิดให้บริการ ทั้งที่ระยะทางยาวกว่าสายอื่นถึง 3 เท่า ขณะระยะเวลาก่อสร้างรถไฟฟ้าแต่ละสาย จริงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี จึงเป็นเหตุให้มีเวลาจำกัดในการส่งมอบพื้นที่ ทั้งรื้อย้าย สาธารณูปโภค และการต่อต้านตลอดแนวของประชาชน ขณะเดียวกันยังถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีส่วนต่อการเข้าพื้นที่ก่อสร้างแต่ทั้งนี้ รฟม.สามารถรับมือวิกฤตินี้ได้

ส่วนความก้าวหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร แม้การก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2565 เป็นไปตามแผน แต่ไม่สามารถเดินรถได้ จนกว่าสายสีส้มตะวันตก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ )ระยะทาง 13 กิโลเมตร มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท จะแล้วเสร็จ นั่นหมายถึงการเปิดให้บริการเดินรถสายสีส้มตะวันออก ปี 2566 ต้องเลื่อนออกไปจนกว่าสายสีส้มตะวันตกจะเปิดใช้เส้นทาง  ทั้งนี้เนื่องจาก 

ขยายสัญญา รถไฟฟ้า  แบกดอกเบี้ย-ค่าแรงอ่วม!

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ผูกให้สัมปทานเดินรถสายสีส้ม ทั้งตะวันออก-ตะวันตก เป็นสัญญาเดียว รวมระยะทาง 35.9 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามเมื่อสายสีส้มตะวันตก ถูกครม. ตีกลับ ร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) เวนคืนฯ โดยมอบรฟม.กลับไปทบทวนเกี่ยวกับเรื่องประชาชนคัดค้าน อีกทั้งโครงการยังไม่ผ่านการอนุมัติการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ จึงต้องใช้เวลา แต่รฟม.พยายามเร่งรัดให้เป็นไปตามแผนที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2567

สำหรับรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นของรฟม.ที่มีกำหนดเปิดให้บริการเป็นไปตามแผน ได้แก่ ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต ระยะทาง 16 กิโลเมตร  และสายสีทองระยะที่ 1 ช่วงกรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน ระยะทางเกือบ 2 กิโลเมตร  สามารถเปิดให้บริการได้เต็มทั้งสายปลายปีนี้ ขณะรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต /บางซื่อ-ตลิ่งชัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีผลกระทบเกี่ยวกับ การจัดตั้งบริษัทลูก ทำให้การเปิดให้บริการต้องเลื่อนจากต้นปี 2564 ไปเป็นปี 2565 โดยมีแผนให้เอกชนร่วมลงทุน หรือพีพีพีเพื่อความคล่องตัว

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,576 วันที่ 21 - 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563