22 ก.ค.จับตายางใต้เข้ากรุงแก้ราคายางตก

21 ก.ค. 2563 | 08:20 น.

“มนัส” รับเทียบเชิญ บิ๊ก กยท. แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ 22 ก.ค.นี้ โอดโดนพ่อค้าทุบราคาสถาบันเกษตรกรเจ๊งระนาว ขอเสนอชดเชยราคายาง ใช้งบกองทุนพัฒนายางพาราฯ มาตรา 49(3) อุ้ม

 

22 ก.ค.จับตายางใต้เข้ากรุงแก้ราคายางตก

นายมนัส บุญพัฒน์ นายสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (ส.ค.ย.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในวันพรุ่งนี้  (22 ก.ค.63 ) ที่ห้องประชุมการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) บางขุนนนท์ จะมีประชุมคณะกรรมการเครือข่ายระดับประเทศ ในส่วนผมที่ปรึกษาเครือข่ายฯ ได้เตรียมข้อมูลการแก้ไขปัญหาราคายางไปเสนอในที่ประชุม จากที่ได้หารือกับประธานบอร์ดและ ผู้ว่าการยางฯ คนล่าสุด ไว้เมื่อวันที่ 18 ก.ค.63 จะมาขับเคลื่อนต่อ เป็นวิธีการเสนอในการแก้ปัญหาราคาน้ำยางสด และยางแผ่นรมควัน ที่ปัจจุบันถูกพ่อค้ากดราคาจากราคากลางของ กยท.ที่ตั้งไว้ 1-2 บาท/กิโลกรัมในแต่ละวัน ยกตัวอย่าง น้ำยางสด ราคาเว็บไซต์กยท. ประกาศ 40.90 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรขายได้ราคาต่ำสุด 39 บาท เช่นเดียวกับยางแผ่นรมควัน ราคา 43.79 บาท ราคาที่เกษตรกรขายได้ต่ำสุด 37.50 บาท จากราคาดังกล่าวนี้ทำให้เกษตรรกรก็หันไปทำน้ำยางสดฝ่ายโรงงานน้ำยางสดก็กดราคารับซื้อทันที

 

“กยท.ที่ผ่านมาไม่มีมาตรการอะไรเลยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไปตามยถากรรมสุดแล้วแต่พ่อค้าจะกดราคาเท่าไรก็ได้ ในวันพรุ่งนี้จึงได้เสนอการชดเชยราคาให้กับสถาบันเกษตรกร โดยใช้งบกองทุนพัฒนายางพาราฯ มาตรา 49(3) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง”


 

22 ก.ค.จับตายางใต้เข้ากรุงแก้ราคายางตก

วิธีการชดเชยก็คือ เว็บไซต์ กยท.ทุกวันจะประกาศราคากลางอยู่แล้ว ถ้าพ่อค้าซื้อยางราคาเท่านี้ ก็ให้ กยท.ชดเชยรายได้ให้กับสถาบันเกษตรกรที่หายไป เช่น ราคาน้ำยางสด อยู่ 40 บาทต่อกิโลกรัม แต่สถาบันเกษตรกรขายได้ 39 บาท/กิโลกรัม ก็ให้ กยท.นำมาชดเชยรายได้ให้แก่สถาบันเกษตรกร 1 บาทต่อกิโลกรัม เป็น ซึ่งในแต่ละวันจะใช้ราคาอ้างอิง ของ กยท. โดยสถาบันที่เข้าร่วมโครงการหากซื้อขายในวันไหน จะใช้ราคาอ้างอิง กยท.เป็นตัวกำหนดการชดเชยราคาในวันนั้น วันนี้โรงรมไม่ไหวอยู่ไม่ได้ ทยอยปิดกิจการลงเรื่อยๆ

 

อนึ่ง ปัจจุบันการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมที่ผู้ส่งออกยางราชอาณาจักรชำระ(CESS) ในอัตราคงที่ กิโลกรัมละ 2 บาท ตามพระราชบัญญัติ การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558  มีกองทุนพัฒนายางพารา จัดสรรเงินตาม มาตรา 49 (1) จํานวนไม่เกินร้อยละ10เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกิจการของ กยท. (2) จำนวนไม่เกินร้อยละ40 เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อการปลูกแทน

 

(3) จํานวนไม่เกินร้อยละ35  เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางในด้านการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต การผลิต การแปรรูป การตลาด และการดําเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับยางพาราและอุตสาหกรรมแปรรูปยางขั้นต้น อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมไม้ยาง การพัฒนายางพาราทั้งระบบ และการรักษาเสถียรภาพราคายาง


 

จดหมายเชิญประชุม

22 ก.ค.จับตายางใต้เข้ากรุงแก้ราคายางตก

 

22 ก.ค.จับตายางใต้เข้ากรุงแก้ราคายางตก