กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ที่ผ่านมามีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภาษีแวต (VAT) ในอัตรา 7% ต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังได้ทำความเห็นเสนอในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีแวต (VAT) เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 1113/10318 มีสาระสำคัญดังนี้
สศช. พิจารณาแล้วเห็นว่า หากกระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการตามนัยมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 แล้ว ก็ไม่ขัดข้องในหลักการของร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีแวต (VAT) ในอัตรา 7% ต่อไป อีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
ทั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และสนับสนุนการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม รวมทั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางธุรกิจให้แก่ภาคเอกชน โดยเฉพาะในช่วงที่การผลิตและการลงทุนยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
อย่างไรก็ดี สศช. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ในระยะต่อไปที่การขยายตัว ทางเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวเข้าสู่ระดับศักยภาพมากขึ้น กระทรวงการคลัง ควรพิจารณาทยอยปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลและขยายฐานภาษีให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้เพื่อลดข้อจำกัดทางการคลัง และรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงินโลก การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
สำหรับการต่ออายุลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ออกไปอีก 1 ปี นั้น จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง ระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อลดภาษีมูลค่าเพิ่มโดยจัดเก็บในอัตรา 6.3% (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือ 7% (รวมภาษีท้องถิ่น) รวม 20 ฉบับ
โดยเริ่มต้นทำมาตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบันรวมกว่า 24 ปีแล้ว และหากไม่มีการต่ออายุภาษี VAT จะกลับมาจัดเก็บอยู่ที่อัตรา 10% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนทั่วประเทศ