thansettakij
“อนุสรณ์” แนะมาตรการ “คนละครึ่ง” ควรให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนต่อปี

“อนุสรณ์” แนะมาตรการ “คนละครึ่ง” ควรให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนต่อปี

13 ก.ย. 2563 | 13:40 น.

“อนุสรณ์” ห่วงBrexit ทำตลาดการเงินผันผวน แนะรัฐมาตรการ “คนละครึ่ง” ควรให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง  และ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ผลกระทบ Brexit อาจทำให้ตลาดการเงินผันผวนมากหากเป็น No Deal Brexit และ นายกรัฐมนตรีอังกฤษบอริส จอห์นสัน พยายามผ่านกฎหมาย Internal Market Bill ที่จะสร้างอุปสรรคต่อการเจรจาการค้ากับอียูและสันติภาพกับไอร์แลนด์เหนือ

การไม่ทำตามข้อตกลงเดิมกับอียูกรณี Brexit ด้วยความพยายามผ่านกฎหมาย Internal Market Bill นั้นจะทำให้ความขัดแย้งและความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อังกฤษเดินหน้าผลักดันการทำข้อตกลงเปิดเสรีกับญี่ปุ่นหลังยุค Brexit ไทยจึงควรเดินหน้าเจรจาทำข้อตกลงเปิดเสรีการค้าทวิภาคีกับสหราชอาณาจักรเพื่อเพิ่มโอกาสให้ตลาดส่งออกไทย โอกาสในภาคการลงทุนหลังยุค Brexit

การไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงกับอียูอาจทำให้ “สถานะของสหราชอาณาจักร” ในเวทีระหว่างประเทศอ่อนแอลง และ อียูอาจตอบโต้ทางกฎหมายต่ออังกฤษจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อตกลง Brexit ที่ตกลงกันไว้  ส่วนข้อตกลง Good Friday Agreement ในไอร์แลนด์เหนือที่ไว้ในปี พ.ศ. 2541 ซึ่งได้ยุติความรุนแรงจากสงครามกลางเมืองในไอร์แลนด์เหนืออาจสั่นคลอน เนื่องจากข้อตกลงตั้งอยู่บนฐานคิดที่สำคัญคือหลักการประชาธิปไตย สันติวิธีและการปฏิบัติตามพันธสัญญาระหว่างประเทศ

“อนุสรณ์” แนะมาตรการ “คนละครึ่ง” ควรให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนต่อปี

ซึ่งทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายชาตินิยมและต้องการเป็นสาธารณรัฐโดยผนวกรวมกับประเทศไอร์แลนด์ กับ ฝ่ายต้องการอยู่ร่วมกับอังกฤษ (Unionist) และเป็นพวกต้องการอยู่ภายใต้การปกครองแบบราชอาณาจักร ได้ตกลงใจที่จะให้การตัดสินอนาคตทางการเมืองของไอร์แลนด์เหนือขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ของคนในพื้นที่ กล่าวคือ การจะแยกหรือไม่แยกไอร์แลนด์เหนือออกจากประเทศอังกฤษ ต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่

ข้อตกลง Good Friday อาจสั่นคลอนอันเป็นคำเตือนของอดีตนายกรัฐมนตรีสองท่านของอังกฤษ ประเด็นข้อตกลง Brexit กับอียูมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ในไอร์แลนด์เหนือมากขึ้น โดยที่ประเทศไอร์แลนด์ซึ่งต้องการรวมประเทศกับไอร์แลนด์เหนืออันเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกสำคัญของอียู  ส่วนผลการประชุมธนาคารกลางของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและยูโรโซนในสัปดาห์นี้ไม่น่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญอันส่งผลต่อตลาดการเงินอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี วิเคราะห์ว่าหากกฎหมาย Internal Market Bill ผ่านรัฐสภาได้ในสัปดาห์หน้า จะทำให้รัฐบาลอังกฤษสามารถมีข้อปฏิบัติที่ขัดแย้งกับความตกลงที่เคยให้ไว้กับ EU ได้ จะทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอังกฤษกับ EU ตึงเครียดขึ้นและอาจนำมาสู่ No-deal BREXIT ในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จะทำให้ “เศรษฐกิจอังกฤษ” ฟื้นตัวช้าลง กระทบมูลค่าส่งออกสินค้าไทยไปยังสหราชอาณาจักรได้ โดยไทยส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์คิดเป็นประมาณ 1.3-1.4% ของมูลค่าส่งออกของไทย

​ในเบื้องต้นอังกฤษประกาศให้สินค้านำเข้ากว่า 60% ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าตามกรอบองค์การการค้าโลก การปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรของอังกฤษในภาพรวมทำให้ผู้ส่งออกไทยในสินค้าบางประเภทประมาณ 50-60% มีภาระทางภาษีน้อยลงแต่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกไม่สูงนัก  เช่น อาหารสุนัขและแมว อุปกรณ์รับส่งสัญญาณ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

ส่วนมาตรการกระตุ้นการบริโภคมาตรการคนละครึ่งของรัฐบาลอาจช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากกระเตื้องขึ้นบ้างในไตรมาสสี่หากกำกับให้การใช้จ่ายเงินทำได้เฉพาะเป็นร้านค้าขนาดเล็กและขนาดย่อมเท่านั้น ถ้ามาตรการเปิดกว้างให้ใช้ที่ไหนก็ได้เม็ดเงินส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่เครือข่ายค้าปลีกของบริษัทขนาดใหญ่เหมือนโครงการชิมช้อปใช้ รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขเงินไม่ควรยุ่งยากเกินไปด้วยการให้ประชาชนสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิผ่านแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” หรือรับเงินสด

กลุ่มแรกที่รับเงินผ่านแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง”  ต้องจ่ายเงินอีกครึ่งหนึ่งในการใช้จ่ายและกำหนดเพดานในการจ่ายรายวัน ตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ โดยคนกลุ่มที่จ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้รับแจกเงินมากกว่า อาจเพิ่มให้เป็นคนละ 5,000 บาท กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มคนที่ต้องการรับเงินสดโอนเงินเข้าบัญชีโดยตรงเลยมอบให้ท่านละ 2,500 บาท กลุ่มที่รับเงินสดก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกจากรัฐบาลจัดสรรให้และไม่กำหนดเพดานการใช้ต่อวัน

ตอนนี้รัฐบาลต้องให้ร้านค้ารายย่อยไปขึ้นทะเบียน “ถุงเงิน” ของธนาคารกรุงไทยมากที่สุด หากไม่เร่งดำเนินการตามที่กล่าวมาอัตราการขยายตัวภาคบริโภคอาจกระเตื้องขึ้นโดยภาพรวมแต่ผู้มีรายได้น้อยไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนักโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยรายเล็ก การใช้เงินงบประมาณ 45,000 ล้านบาทอาจไม่บรรลุเป้าหมายการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย และ เงินจากมาตรการนี้ควรมอบให้กับผู้มีรายได้น้อย มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี หรือ เป็นผู้ว่างงานและไม่มีเงินออมหรือทรัพย์สินทางการเงินใดๆ หรือ ผู้อยู่ในฐานข้อมูลลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะมีจำนวนไม่ถึง 15 ล้านคน

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ด้วยเม็ดเงินงบประมาณ 45,000 ล้านบาท หากประชาชนใช้สิทธิเต็มที่ผ่าน “กระเป๋าตัง” โดยไม่ขอรับเป็นเงินสด จะทำให้เม็ดเงินเพิ่มไปที่ 90,000 ล้านบาท หมุนอย่างน้อย 2-3 รอบจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบประมาณ 180,000-270,000 ล้านบาท อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีเพิ่มขึ้นได้อีกอย่างน้อย 0.3% การที่เงินจะหมุนหลายรอบได้ต้องมุ่งเป้าไปที่คนรายได้น้อยที่มีอัตราความโน้มเอียงในการบริโภคสูง เงินต้องใช้จ่ายไปกับผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอันนำมาสู่การลงทุน การจ้างงานเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจ  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“อนุสรณ์” แนะยกเลิกหนี้ครัวเรือนบางส่วน

"อนุสรณ์" จี้ "ธปท." เลิกแนวคิด "อนุรักษ์นิยม" ชี้แก้วิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้