นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ระลอกใหม่ อ.ส.ค.ได้ปรับทิศทางการดำเนินงานใน 3 ด้านให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและต่างประเทศ ประกอบด้วย ด้านอุตสาหกรรมนม ด้านส่งเสริมด้านการตลาด และด้านกิจการโคนม
สำหรับด้านอุตสาหกรรมนม ขณะนี้ได้เร่งเพิ่มศักยภาพการผลิตโดยติดตั้งเครื่องบรรจุนม UHT แบบไฮสปีด (High Speed) เพิ่มเติมจำนวน 2 เครื่องที่โรงงานนม อ.ส.ค.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และโรงงานนม อ.ส.ค.ภาคใต้ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีกำลังการผลิต 24,000 กล่อง/ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าเครื่องบรรจุเดิม รวมทั้งได้เร่งวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องอย่างน้อยปีละไม่ต่ำกว่า 1-2 ผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มสัดส่วนตลาดธุรกิจตลาดนมพร้อมดื่มดั้งเดิมกับตลาดโมเดิร์นเทรดเป็น 50:50 ภายในปี 2564 โดยหลังจากส่งผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตพร้อมดื่มปราศจากไขมัน ยูเอชที กลิ่นเสาวรสผสมบุก ตราไทยเดนมาร์ค ชิวดี ออกสู่ตลาดเมื่อกลางปี 2563 ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อ.ส.ค.ได้วางตำแหน่งการตลาดจำหน่ายเดิมไว้ที่ Tops Supermarket และกำลังอยู่ระหว่างเจรจาขอจำหน่ายที่ 7-ELEVEN (เซเว่น-อีเลฟเว่น)เพิ่มอีก 1 ช่องทางตลาด
ส่วนด้านส่งเสริมด้านการตลาด จากการศึกษาพบว่าเทรนด์การบริโภคผลิตภัณฑ์นมภายในประเทศมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์กลุ่มนมแช่เย็น ดังนั้นภายในปีนี้อ.ส.ค.จึงมีแผนที่จะผลักดันผลิตภัณฑ์กลุ่มนมแช่เย็น อาทิ นมพาสเจอร์ไรส์ โยเกิร์ต นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม หรือดริงค์กิ้งโยเกิร์ต และไอศกรีม เป็นต้น จำหน่ายผ่านช่องทางการตลาดค้าขายปลีกแบบสมัยใหม่ (Modern Trade ) เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคและตลาดที่มีแนวโน้มต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งถือเป็นไปในทิศทางเดียวกับเทรนด์การบริโภคของต่างประเทศที่นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์นมเย็นกันมาก โดยต้นปีใหม่ล่าสุดได้ส่งนมโยเกิร์ตพร้อมดื่มกลิ่นเลมอนและกลิ่นสตรอเบอร์รี่เข้าไปวางจำหน่ายใน 7- ELEVEN (เซเว่น-อีเลฟเว่น)ซึ่งก็ได้ผลตอบรับในทางที่ดี
“แม้ปีนี้อ.ส.ค.จะหันมารุกตลาดขยายช่องทางจำหน่ายผ่านตลาดโมเดิร์นเทรด และคอนวีเนียนสโตร์มากขึ้น แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการขายผ่านระบบการตลาดออนไลน์ ผ่านลาซาด้า (LAZADA) และช้อปปี้ (Shopee) เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคยุคปัจจุบันให้ครอบคลุมเป้าหมายมากทุกกลุ่ม เพื่อขยายช่องทางตลาดและเพิ่มรายได้ให้กับอุตสาหกรรมนมของอ.ส.ค. ให้มากที่สุด”
ส่วนด้านกิจการโคนมได้นำกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามมาตรควบคุมของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำอย่างเข้มงวด รวมทั้งได้บูรณการความร่วมมือกับบริษัท เบทาโกร จำกัดและบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) ด้านส่งเสริมการเลี้ยงโคนมโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาพัฒนาฟาร์มโคนมของสมาชิกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับยอดจำหน่ายในปี 2563 ที่ผ่านมา อ.ส.ค.ทำยอดขายได้ 9,500 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายปี 2564 จากการปรับทัพการบริหารและปรับแผนการตลาดเชิงรุกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ มั่นใจว่าจะสามารถผลักดันยอดขายได้ตามเป้าคือ 11,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อ.ส.ค. ขยายตลาดบนเครื่องบิน หวังดันยอดขายทะลุ 1.2 หมื่นล้าน
อ.ส.ค. ประกาศ “สเปก”สรรหาผอ.คนใหม่
ป่วน “อ.ส.ค.” ปฏิเสธรับซื้อน้ำนมดิบ
ดักคอ ‘มนัญญา’ ฮุบโควตานมโรงเรียนให้ อ.ส.ค.