ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่19 พฤษภาคม 2564 มีมติ ปรับเพิ่มคาดการณ์ส่งออกไทยจะขยายตัวได้ที่ 5-7% จากเดิมคาดขยายตัว 4-6 % ขณะที่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ปรับคาดการณ์ส่งออกเพิ่มเป็น 6-7% จากเดิมคาดขยายตัว 4-6% และแม้กระทั่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ก็ได้ปรับตัวเลขส่งออกเพิ่มเป็น 10.3% จากเดิมคาด 5.8%
ปัจจัยหลักที่ทุกสำนักพยากรณ์ปรับตัวเลขการส่งออกไทยสูงขึ้นมีปัจจัยจากเศรษฐกิจ และการค้าโลกกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจที่เป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกทั้งสหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น กลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ หลังซมพิษโควิดในปีที่ผ่านมา รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาดหลักปรับตัวดีขึ้น หลังหลายประเทศมีการระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน มีผลให้กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น
สอดคล้องกันกับตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายนล่าสุดไทยส่งออกได้ 21,429 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวที่ 13% ถือเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 36 เดือนหรือในรอบ 3 ปี ขณะที่เทียบการส่งออกช่วง 4 เดือนแรกปี 2564 ที่ส่งออกได้ 85,577 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.7% ซึ่งหากเทียบกับตัวเลข 4 เดือนแรกปี 2562 ที่เป็นปีฐานปกติที่ไม่มีโรคโควิด ไทยส่งออกได้ 80,665 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกไทยขยายตัวที่ 6%
ทั้งนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุ 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้ภาคการส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาได้แก่ 1.ปัจจัยจากต่างประเทศที่เศรษฐกิจ และการค้าโลกฟื้นตัว 2.ปัจจัยจากการบริหารจัดการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีการวางแผนร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด รวมถึงการช่วยกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ผ่านกลไกของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) มาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแผนงาน/นโยบายของกระทรวงเพื่อผลักดันการส่งออกในเดือนที่เหลือของปีนี้รวมถึงในอนาคตจะดำเนินนโยบายเชิงรุกโดยแบ่งตลาดออกเป็น 3 ตลาด คือ 1.ตลาดเดิมที่ยังต้องรักษาไว้ เช่น สหรัฐฯ จีน ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น 2.เจาะเพิ่มตลาดใหม่ เช่น รัสเซีย กลุ่มประเทศยูเรเซีย มองโกเลีย อินเดีย เป็นต้น และ 3.ฟื้นตลาดเก่าที่เคยเสียไปให้กลับคืนมา เช่น อิรัก ซาอุดีอาระเบีย และประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ โดยช่องทางการตลาดหลักในยุค New Normal ที่ไม่สามารถค้าขายผ่านออฟไลน์ได้ตามปกติ จะเน้นการจัดเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ การปรับรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในไทยเป็นรูปแบบเสมือนจริง (Virtual Trade Fair) หรือรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) การเพิ่มพันธมิตรแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซชั้นนำของต่างประเทศในตลาดต่างๆ เพื่อช่วยขายสินค้าไทยมากขึ้น เป็นต้น
ทั้งนี้แม้ตัวเลขการส่งออก 4 เดือนแรกมีทิศทางการขยายตัวที่ดี แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประกาศยังไม่ปรับเป้าหมายการส่งออกของปีนี้ใหม่ ยังคงไว้ที่ 4% ตามเดิม แต่วงในจากที่ประชุมร่วมระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับตัวแทนสถาบันภาคเอกชนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ประเมินสถานการณ์ส่งออกไทยทั้งปีนี้น่าจะขยายตัวได้มากกว่า 6% ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าฯ จะนำข้อมูลที่ได้ไปเสนอให้นายจุรินทร์ เป็นผู้พิจารณาปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งออกคาดจะประกาศตัวเลขใหม่ได้ในเดือนกรกฎาคมนี้
จากทิศทางการส่งออกไทยที่ทุกฝ่ายชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ปีนี้อย่างไรน่าจะขยายตัวในระดับ 5-7% (มูลค่า 243,042-247,671 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งอกของไทยกลับไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด (ปี 2562 ไทยส่งออก 246,269 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ทั้งนี้จากช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ที่ไทยส่งออกแล้ว 85,577 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากทั้งปีนี้จะผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวได้ที่ 5% ในอีก 8 เดือนที่เหลือจะต้องส่งออกเฉลี่ย 19,683 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน และหากจะขยายตัวที่ 7% ต้องส่งออกเฉลี่ย 20,262 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน
อย่างไรก็ดีแม้การผลักดันการส่งออกในปีนี้ให้ขยายตัว 5-7% จะเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ภาคเอกชนมองอาจทำให้ภาคการส่งออกสะดุดในเดือนที่เหลือปีนี้ได้แก่ ข้อกังวลเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ลามเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกที่ยังต้องคุมเข้ม ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าที่ต้องแย่งชิงกับผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น จีน เวียดนาม ค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มขึ้น 100-300% จากภาวะปกติ (ขึ้นกับเส้นทางการขนส่ง) ราคาแผ่นเหล็กเคลือบทั้งเหล็กทินเพลท และเหล็กทินฟรี ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกระป๋องเพื่อบรรจุอาหารมีการขยับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนชิปในอุตสาหกรรมรถยนต์กระทบต่อการผลิตรถรุ่นใหม่ๆ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 2-3 แสนคน จากผลกระทบแรงงานต่างด้าวกลับประเทศช่วงการระบาดของโควิด และยังไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาได้
ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงต่างๆเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการส่งออกไทยมากน้อยแค่ไหน และสุดท้ายแล้วส่งออกไทยทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 5-7% หรือไม่ คงต้องรอลุ้นกันยาวๆ ในอีกหลายเดือนที่เหลือ
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 08 ฉบับที่ 3,683 วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564