ตามที่หน่วยงานกำกับดูแลตลาดของจีนได้ตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหารของทุเรียนไทยที่นำเข้ามาประเทศจีน พบปัญหาการใช้สารย้อมสีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Basic Yellow 2” ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ ลักษณะเป็นผงสีเหลืองใช้ในการย้อมผ้า กระดาษ หนัง และสีทาบ้าน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้สารนี้เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2B
ทั้งนี้วันที่ 8 มกราคม 2568 จีนกำหนดให้ทุเรียนทุกล๊อตที่ส่งออกจีนต้องแนบผลวิเคราะห์ Basic Yellow 2 โดยจีนจะสุ่มที่ด่านนำเข้าทุกล๊อตหากพบ จะระงับทันที มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 (ก่อนการออกใบPCในสินค้าทุเรียนทุกตู้ต้องมี test report ทั้ง Basic Yellow 2
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางยกระดับการควบคุมตรวจสอบ สารตกค้างในทุเรียนและลำไยส่งออกไปจีนกับผู้ประกอบการส่งออกและโรงคัดบรรจุ (ล้ง) เพื่อยกระดับมาตรการการส่งออกผลไม้ไปจีน กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ทุเรียน ลำไย และสินค้าอื่นที่ไปสู่ประเทศจีนในปี 2568 มีการหารือแนวทางเพื่อยกระดับควบคุมการตรวจสอบคุณภาพและสารตกค้างในทุเรียนและลำไย
วันนี้ (10 ม.ค.68) ได้รับมอบหมายจาก ศ.ดร นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัย ซึ่งจากปัญหาในเรื่องการตรวจพบสารตกค้างทั้งในทุเรียนและลำไย และก็มีการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับผู้ประกอบการ พี่น้องเกษตรกรมาโดยตลอด ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จึงได้ทำหนังสือไปถึงผู้ประกอบการในต้นปีจะต้องมาเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ฤดูการส่งออกผลไม้ที่สำคัญที่นิยมในประเทศจีน ก็คือ ทั้งลำไยและทุเรียน
“เป็นจังหวะที่ดี เมื่อ 2 วันที่แล้วได้มีการประชุมกับ GACC มีการประชุมด่วน ในเรื่องการตรวจพบสารตกค้าง ที่เรียกว่า “Basic Yellow 2” ในทุเรียน และ ทางจีนมีความต้องการที่จะเห็นทางไทยมีมาตรการอย่างจริงจัง และให้มีผลกระทบน้อยที่สุดในการส่งออกไปประเทศจีน ตามที่ประเทศจีนได้มีนโยบายสำคัญในการยกระดับเรื่องของความปลอดภัยในอาหารทุกมิติ
ล่าสุดรัฐบาลจีนได้มีการแบนการส่งออก“น้ำเชื่อม-น้ำตาลผสม” ไปแล้วประมาณกลางเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่ามีการจริงจังในเรื่องความปลอดภัยในอาหาร ซึ่งเข้าใจว่าในเรื่องของน้ำเชื่อม มีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือมีสิ่งปนเปื้อน"
โดยก่อนหน้านี้ได้มีการแจ้งเตือนมาแล้วในระยะหนึ่งแล้ว “อุตสาหกรรมน้ำตาล หรือน้ำเชื่อม” ไม่ใช่บทบาทที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไปตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ แต่นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นที่อยากจะหยิบยกมาฉายภาพให้เห็นว่าเมื่อทางการจีนเข้ม และสั่งยกระดับแล้วไม่มีการแก้ไขจะประกาศยกเลิกการนำเข้าสินค้านั้นๆสู่ประเทศจีนได้ตลอดเวลา
เช่นเดียวกับกรณีแบนนำเข้า“น้ำเชื่อม-น้ำตาลผสม” ปัจจุบันยังส่งออกไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อได้รับการแจ้งเตือน ยิ่งถ้าเป็นสินค้าภายใต้กำกับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะผัก ผลไม้
ล่าสุดทางกรมได้ออก ประกาศ เรื่อง มาตรการควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้ในทุเรียนผลสดส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2568 แล้วมีผลบังคับใช้แล้วตามที่ทางการจีนร้องขอให้ไทยทำตามมาตรการ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรฐาน
อย่างไรก็ดีจะมีการประชุม คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ซึ่งศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ จะเป็นประธาน ได้มีการสั่งเรียกประชุม ในวันที่ 13 มกราคม 2568 เป็นวาระเร่งด่วน ที่อาจจะต้องหยิบยกขึ้นเจรจาระหว่างประเทศในระดับสูง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ
"สิ่งสำคัญที่ต้องการก็คือการหารือระหว่างประเทศ ก็คือเรื่องของวิธีการ และหลักเกณฑ์ในการตรวจของจีนเพื่อทำให้ถูกต้อง ตามทางการจีนต้องการและให้ถูกวิธีในการเก็บตัวอย่าง เป็นเรื่องสำคัญที่กรมวิชาการเกษตรและผู้ประกอบการจะได้ดำเนินการถูกต้อง เพราะหากไปขัดกับองค์การค้าโลก (WTO) หรือขัดมาตรฐานกับโคเด็กซ์ จะได้สอบถามว่าทำไมถึงได้ยกระดับสูงกว่ามาตรฐานความปลอดภัยของการค้าโลก เป็นต้น นอกจากนี้หากทางการจีนเองเห็นว่าไทยเองเร่งยกระดับสารเคมีต่างๆ ในโรงคัดบรรจุแล้ว โดยไม่มีสารตั้งต้นพวกนี้เลย ก็จะทำให้ไม่มีสารตกค้าง ในทุเรียนเลย"
อย่างไรก็ดีผลการประชุมในวันนี้ผ่านทูตเกษตรไปอธิบาย หรือเข้าร่วมประชุมกับทาง GACC ก็มีความพร้อมในสัปดาห์หน้าหลังการประชุมฟรุ๊ทบอร์ด เพื่อที่จะทำให้เกิดความชัดเจน และนำไปสู่การแก้ไขที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย เพื่อนำไปสู่ความปลอดภัยอาหาร รวมทั้งแคดเมียม (ครั้งแรกของโลก คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ได้มีการตรวจ )ก็ต้องเพิ่มและบรรจุให้มีการตรวจ ตลอดจนกรณีพบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในลำไยสดด้วย
“หากสารวัตรเกษตร มีการตรวจพบจับดำเนินคดีทันที และถ้าสารวัตรเกษตร และสารวัตร GMP ถ้าตรวจพบแล้วไม่ดำเนินคดี ก็ต้องจัดการเช่นเดียวกัน ผมย้ำเตือนขอให้รองอธิบดีกำกับ และผู้อำนวยการเขตต่างๆ ถ้าลูกน้องมีพฤติกรรมเห็นแล้วไม่เตือน หรือไม่ดำเนินคดี ในฐานะอธิบดีกรมวิชาการเกษตรก็จะดำเนินคดีทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นเดียวกัน โดยงัดมาตรการ 4 ไม่ ได้แก่ 1.ไม่อ่อน 2.ไม่หนอนทุเรียน 3.ไม่มีการสวมสิทธิ์ และ4.ไม่มีสารเคมีต้องห้าม มีเป้าหมาย “Set Zero” การใช้สารเคมีในโรงคัดบรรจุทั้งหมด” นายรพีภัทร์ กล่าวว่า