นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการปฎิรูปโครงสร้างภาษีจะมีการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ ซึ่งจะรายงานความคืบหน้าการศึกษาเพิ่มเติมจากครั้งก่อนของการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบที่ได้ให้การสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแก้ในส่วนที่ยังมีความไม่เหมาะสมอยู่ ซึ่งยังคงยืนยันว่าการพิจารณาการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 10% ยังคงอยู่ในแผนการศึกษาอยู่
อย่างไรก็ตาม ยอมรับการปรับโครงสร้างภาษีนั้น มีหลายขั้นตอนในการพิจารณา ดังนั้นจึงอาจไม่แล้วเสร็จภายใน ก.พ.ปีหน้าตามที่เคยคาดการณ์แน่นอน แต่คาดว่าในการประชุมนัดสุดท้ายของปีนี้ จะมีมาตรการภาษีบางส่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันที และประกาศใช้ออกมา เพื่อให้เป็นของขวัญในช่วงปีใหม่ให้กับประชาชน
“มาตรการภาษีจะประกาศอย่างเป็นทางการช่วงหลังปีใหม่ ถ้าบอกก่อนก็ไม่ใช่ของขวัญปีใหม่ ส่วนการปรับลดภาษีเงินได้ 10% อาจจะยังไม่ทันในรอบนี้ เพราะคณะกรรมการก็ต้องศึกษาในภาพรวมทั้งหมด การลดภาษีก็ต้องดูในเรื่องของความยั่งยืนทางการคลังด้วย ซึ่งการปรับโครงสร้างจะต้องปิดช่องโหว่ต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีทั้งหมด” นายประสงค์ กล่าว
นายประสงค์ กล่าวว่า การปฏิรูปโครงสร้างภาษี จะต้องพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจ ปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัว ระบบไอทีในการจัดเก็บภาษี ความพร้อมของหน่วยงานจัดเก็บ และความพร้อมของผู้ประกอบการ ซึ่งขณะนี้พบว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี บางเรื่องยังเขียนได้ไม่ครอบคลุม ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการทำธุรกิจ ก็ต้องเข้าไปปิดช่องว่าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า สศค. ได้เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ว่าควรต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องอะไรบ้าง กรมสรรพากร จะเป็นเพียงหน่วยงานปฏิบัติงานในฐานะหน่วยงานจัดเก็บ เมื่อได้รับนโยบายจาก สศค.มาแล้ว ก็จะให้ความเห็นว่าดำเนินการได้หรือไม่ได้ และมีข้อโต้แย้งในประเด็นใดบ้าง รวมทั้งในแผนการปฏิรูปดังกล่าว จะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ในภาพรวมอย่างไร ก็จะเสนอกลับไปที่ สศค. ก่อนจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการจัดเก็บภาษีในขั้นตอนต่อไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การพิจารณาปฏิรูปโครงสร้างภาษีครั้งนี้ คลังจะให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) 7% ในสินค้าที่สั่งซื้อออนไลน์และส่งไปรษณีย์มาจากต่างประเทศทุกชนิดราคา พร้อมกับยกเลิกการยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับภาครัฐเพิ่มขึ้น ลดปัญหาการแจ้งสำแดงราคาต่ำเพื่อเลี่ยงภาษี รวมถึงสร้างความเป็นธรรมให้กับคนขายสินค้าเดียวกันที่อยู่ในประเทศ ซึ่งปัจจุบันต้องเสียภาษีแวท 7%
“ทุกวันนี้คนไทยหันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากจีน สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมูลค่านับหมื่นนับแสนล้านบาท และบางส่วนมีพฤติกรรมการเลี่ยงภาษี โดยแจ้งราคานำเข้าเป็นสินค้าที่มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ทั้งที่จริงสินค้าเหล่านี้ราคาสูงเกินไปมาก ซึ่งทำให้คนหันไปสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แทน และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ดี ดังนั้นการปฏิรูปโครงสร้างภาษีจะเข้าไปอุดช่องโหว่ตรงจุดนี้ โดยจะคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของสินค้าที่สั่งซื้อทางออนไลน์เข้ามาทั้งหมด ส่วนอากรนำเข้าจากศุลกากรอาจมีการยกเว้นไว้อยู่” แหล่งข่าว กล่าว
ทั้งนี้ในแผนการปฏิรูปภาษี ต่อไปกรมศุลกากรจะต้องตรวจสแกนสินค้าที่ส่งนำเข้ามาได้ทั้ง 100% โดยไม่ใช่วิธีสุ่มตรวจอีก เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก สามารถแยกการเก็บภาษีอากร และแวทได้แล้ว รวมถึงกรมศุลฯ ยังมีแผนการติดตั้งเครื่องสแกนคร่อมสายพานกระเป๋าที่สนามบินสุวรรณภูมิ และเครื่องสแกนสินค้านำเข้าทางไปรษณีย์ ที่หลักสี่ ซึ่งจะช่วยให้สแกนสินค้านำเข้าได้ละเอียดและลดการรั่วไหลได้มีประสิทธิยิ่งขึ้น