บิสิเนส แบ็กสเตจ
รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล
คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
การระบาดของ COVID-19 ทำให้เราทั้งโลกต้องเผชิญกับวิกฤตินี้ ในอีกด้านหนึ่งเราก็เห็นหลายๆ เรื่องที่สภาวะปกติเกิดขึ้นได้ยากหรือเรามองไม่เห็น เช่น การรวมตัวของรถตุ๊กๆ เพื่อเป็นช่องทางส่งของทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการความรวดเร็ว หรือ Platform ร้านอาหารชุมชน เป็นต้น ในสถานการณ์ที่ยากลำบากก็มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น พิสูจน์ว่าถ้าหากไม่สิ้นหวังและมีความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ ทุกปัญหาจะมีทางออกหรือโอกาสใหม่ๆ สำหรับเรา
Ramon Pueyo Vinuales ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจครอบครัวของ KPMG กล่าวว่า “นวัตกรรมและการฝึกอบรมบุคลากรนั้นเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก ธุรกิจครอบครัวต้องการคนที่เหมาะสมเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม ซึ่งการลงทุนในเรื่องของการฝึกอบรมและการศึกษาจะช่วยให้สามารถพัฒนาคนที่มีทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการแสดงความคิดสร้างสรรค์และจุดประกายความคิดใหม่ที่สามารถขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจได้”
สอดคล้องกับผลจากการสำรวจผู้บริหารธุรกิจครอบครัวกว่า1,613 รายจาก 27 ประเทศในยุโรปของ KPMG ที่พบว่าการส่งเสริมนวัตกรรมและพัฒนาทักษะบุคลากรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจครอบครัวในยุโรป และ 72% ของผู้ถูกสำรวจบอกว่า “การสร้างนวัตกรรมมากขึ้น” เป็นสิ่งที่สำคัญมากถึงมากที่สุดสำหรับธุรกิจของตนในอีก 2 ปีข้างหน้า (ภาพที่ 1) ซึ่งการขับเคลื่อนในเรื่องนี้มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษในธุรกิจขนาดใหญ่ โดยพบว่า 78% ของธุรกิจที่มีพนักงาน 250 ถึง 999 คนและ 80% ของธุรกิจที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน ระบุว่านวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กอาจเผชิญความท้าทายมากกว่าในการจัดหาทรัพยากรเพื่อการลงทุนในนวัตกรรมหรือการวิจัยและพัฒนาเนื่องจากมักจะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตและความสามารถในการทำกำไรมากกว่า นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าคนรุ่นใหม่ (48%) เห็นว่านวัตกรรมมีความสำคัญมากกว่าในคนรุ่นอาวุโส (42%) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ซึ่งช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโตให้กับบริษัทในตลาดสมัยใหม่อีกด้วย
โดยรวมแล้วธุรกิจขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นนวัตกรรมการพัฒนาบุคลากร การขยายกิจการและขยายตลาดไปพื้นที่ใหม่ๆ มากกว่ากลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก แม้สิ่งนี้อาจชี้ให้เห็นว่าธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่มีความทะเยอทะยานในการเติบโตและยินดีที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มากกว่า แต่ก็อาจสะท้อนถึงความจริงที่ว่าธุรกิจขนาดใหญ่
เหล่านี้เผชิญกับแรงกดดันในการแข่งขันทั่วโลกที่สูงกว่าและจะต้องผลักดันเพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไป
อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าธุรกิจครอบครัวทุกขนาดล้วนจับตาดูอนาคต และตระหนักว่าในขณะที่ธุรกิจหลักอาจยังคงเติบโตต่อไปได้ แต่ก็อาจไม่สามารถรักษาอัตราการเติบโตที่ต้องการได้ในระยะยาว นวัตกรรมจึงเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการความเสี่ยง สร้างรายได้ แก้ปัญหาอัตรากำไรที่ลดลงและอยู่ในธุรกิจต่อไปได้นานๆ
ที่มา: KPMG Enterprise. 2019. European family business barometer: Succession top of mind as business families eye their legacy. 8th edition. Available: https://assets.kpmg/content/dam/kpmg/xx/pdf/2019/11/european-family-business-barometer.pdf
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,565 วันที่ 12-15 เมษายน 2563