การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธ์ใหม่โควิด-19 ส่งผลให้สายการบินทั่วโลกแทบล้มละลาย จากมาตรการล็อกดาวน์และปิดสนามบินของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ประกาศห้ามสายการบินพาณิชย์เข้าประเทศถึงวันที่ 31 พฤษภาคมนี้
ทั้งนี้เว็บไซต์ ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท. ) รายงานเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา หน้าเว็บไซต์) ได้รายงานสถิติการขนส่งทางอากาศ พบว่าภาพรวมมีการขอยกเลิกเที่ยวบินสะสม ถึง ณ วันที่ 20 เมษายน จำนวน 144,201 เที่ยวบิน คิดเป็น 26.9% ของปริมาณเที่ยวบินที่ขอจัดสรรเวลาบินตามที่กำหนด การบินฤดูร้อน 2563
โดยตารางบินฤดูร้อน 2563 มีสายการบินขอจัดสรรเวลาการบินทั้งสิ้นจำนวน 537,061 เที่ยวบิน โดยแบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ ขอจัดสรรการบินฤดูร้อน 2563 ไว้จำนวน 311,354 เที่ยวบิน มีการยกเลิกสะสมแล้ว 87,304 เที่ยวบิน ส่วนเที่ยวบินภายในประเทศ ขอจัดสรรการบินฤดูร้อน 2563 ไว้จำนวน 225,707 เที่ยวบิน มีการยกเลิกสะสมแล้ว 56,897 เที่ยวบิน
สำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศมีจำนวน 12,781 ตัน ลดลง 1.5% จากสัปดาห์ก่อนหน้า การขนส่งสินค้าทางอากาศภายในประเทศมีจำนวน 71 ตัน ลดลง 43.6% ยกเว้นท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ 4 ตัน เพิ่มขึ้น 8.7% เทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การบินภายในประเทศ ถึงวันที่ 21 เมษายน มีสายการบิน 2 สายยังคงทำการบินเส้นทางประจำ ได้แก่ นกแอร์และไทยเวียดเจ็ต อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้สายการบินไทยแอร์เอเชีย และไลอ้อนแอร์ จะเริ่มทะยอยเปิดบริการในบางเส้นทางที่ผ่อนคลายล็อกดาวน์
ส่วนสถิติการขนส่งทางอากาศรายสัปดาห์ กพท.ระบุว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID 19 ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนเมษายน (12-18 เม.ย.63) พบว่า จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศลดลงถึง 51.8 % ส่วน จำนวนผู้โดยสารภายในประเทศที่ลดลง 47.7%
เมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้อัตราการบรรทุกผู้โดยสารในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนเมษายน เป็นสัปดาห์ที่มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารต่ำที่สุดตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด ในขณะที่การขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศมีปริมาณลดลง 1.5% โดยเป็นการลดลงของการขนส่งสินค้า ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ส่วนการขนส่งสินค้าทางอากาศภายในประเทศลดลงในอัตรา 43.6% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยพบว่า สายการบินมีการลดจำนวนที่นั่งขายลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนที่นั่งขายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนเมษายน(12-18 เม.ย.) ลดลงทั้งสิ้น 59,243 ที่นั่ง (ลดลง36.1%) จากสัปดาห์ที่ผ่านมา และไม่มีการขายที่นั่งในเส้นทางระหว่างประเทศไทยไปยังภูมิภาคออสเตรเลียและโอเชียเนีย เอเชียกลางและอเมริกา
ส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศพบว่าลดลงเหลือเพียง 7,223 คน (ลดลง 51.8%) จากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Passenger Load Factor : PLF) ของผู้โดยสารระหว่างประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนเมษายน มี อัตราบรรทุกผู้โดยสาร เพียง 7% ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยที่สุด นักตั้งแต่เกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่วนปริมาณผู้โดยสารภายในประเทศ มีจำนวนเพียง 17,304 คน ลดลง 47.7%