วันที่ 24 มิถุนายน 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงที่ทำเนียบรัฐบาลถึงมาตรการ คลายล็อก การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของชาวต่างชาติว่า ได้พิจารณาผ่อนคลายการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของชาวต่างชาติ ผ่อนคลายให้กับ
1. กลุ่มเป้าหมายที่ตอบรับมาตรการ State Quarantine และได้ทำการลงทะเบียนไว้แล้ว ให้สามารถเข้ามาในประเทศไทยได้ โดยจะต้องกักตัว 14 วัน ใน State Quarantine ได้แก่
- นักธุรกิจ/นักลงทุนประมาณ 700 คน
- แรงงานฝีมือ/ผู้เชี่ยวชาญประมาณ 15,400 คน
- คนต่างด้าว กรณีครอบครัวเป็นคนไทย และ/หรือ มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 2,000 คน
- ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนนักศึกษาประมาณ 2,000 คน
- Medical and Wellness Tourism ประมาณ 30,000 คน
2) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้มาตรการคุมไว้สังเกต ได้แก่ นักธุรกิจ/นักลงทุน ที่เดินทางเข้ามาในระยะเวลาสั้น ๆ และแขกของรัฐบาลหรือส่วนราชการต่าง ๆ ให้มีการตรวจปลอดโควิด-19 ทั้งจากประเทศต้นทาง และเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย ให้มีทีมติดตามด้านการแพทย์ และสาธารณสุข หรือทีมที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขติดตามคณะเดินทาง ตามมาตรการคุมไว้สังเกต และกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้เดินทางตามโครงการ Travel Bubble โดยจะมีขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 กลุ่มที่ 1 นักธุรกิจ/นักลงทุนที่ตอบรับมาตรการ ASQ (Waiting List) ให้ดำเนินการได้ทันที และกลุ่มที่ 2 กลุ่มแรงงานฝีมือ/ผู้เชี่ยวชาญ คนต่างด้าว กรณีเป็นครอบครัวของคนไทย และ/หรือ มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนนักศึกษา รวมถึงกลุ่มนักธุรกิจ/นักลงทุน ที่เข้ามาในระยะสั้น ๆ และแขกของรัฐบาล (ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณามาตรการผ่อนคลายฯ) ให้ดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคม 63 เป็นต้นไป
ขั้นที่ 2 กลุ่ม Medical and Wellness Tourism ในพื้นที่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ และเชียงราย (ตามความพร้อม) และ Medical and Wellness Tourism/กระทรวงสาธารณสุข ผนวกกับ Safety Tour (SHA) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคม 63 หรือเมื่อมีความพร้อม ขั้นที่ 3 โครงการ Travel Bubble รูปแบบที่ 1 แบบมาตรการ Villa Quarantine ให้เริ่มในวันที่ 1 สิงหาคม 63 และรูปแบบที่ 2 แบบผ่อนคลายมาตรการ State Quarantine ให้เริ่มดำเนินการเมื่อพร้อมและสังคมเชื่อมั่นในมาตรการ
-ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"คลายล็อก เฟส5" เตรียม เปิดผับ-บาร์ กิจการ เสี่ยงสูงมาก 1 ก.ค. เช็กที่นี่
“คลายล็อกดาวน์” ลุยเปิดรถใหม่-จัดอีเวนต์
อังกฤษคลายล็อกดาวน์ เปิด"ภัตตาคาร-ผับ-ร้านทำผม"4 ก.ค.นี้
ส่วนการให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศ คนไทยที่จะกลับมาตามโควตารู้สึกไม่สบายใจ ทำไมไม่ให้คนไทยมาทั้งหมดก่อน นายแพทย์ทวีศิลป์ ชี้แจงว่า ยืนยันให้ความสำคัญกับคนไทย แต่ขึ้นอยู่กับการจัดการได้และเหมาะสม SQ และ LQ พอดี แต่กำลังจะปรับเพิ่มขึ้นให้ ถ้าคนที่มีศักยภาพและหาที่พักได้ ก็มี Alternative State Quarantine ยังมีห้องว่าง 605 ห้อง ถ้าจะมาในโควตานี้ โรงแรมชั้นนำและโรงพยาบาลเอกชนจับมือกัน คนไทยเข้ามาเพิ่มเติมได้เลย
ส่วนการเพิ่มโควตาเป็น 600 คน จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ส่วนภาคเอกชนที่อยู่ต่างจังหวัดจะมี Alternative Local Quarantine ให้โรงแรมจับคู่กับโรงพยาบาลเอกชนและเปิดขึ้นมา ฝากให้แนวคิดนี้เพื่อรองรับเพื่อให้เกิดการประกอบกิจการ กิจกรรมให้ได้เหมือนเดิม ได้ใช้บริการและควบคุมเชื้อได้ด้วย
โดยในวันเดียวกันนี้(24 มิถุนายน2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2563 โดยในวันนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและเห็นชอบ ร่าง “ระบบการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากผู้เดินทางที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558”
นายอนุทินกล่าวว่า ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากนานาประเทศในความสำเร็จของการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทูตานุทูตหลายประเทศเข้ามาหารือเรื่องมาตรการผ่อนปรนการเดินทางระหว่างประเทศและขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมาตรการที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเสนอ จะใช้วิธีการจับคู่เจรจาและทำข้อตกลงระหว่างประเทศคู่เจรจา ทั้งนี้ จะเริ่มจับคู่กับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน และจะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะ เพื่อปรับกลุ่มประเทศและมาตรการได้ตลอด
สำหรับกลุ่มคนที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ จำแนกเป็น3กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นบุคคลที่นายกรัฐมนตรีอนุญาต เช่น คณะทูต คณะกงศุล องค์กรระหว่างประเทศหรือผู้แทนรัฐบาล ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น กลุ่มที่สอง คนไทยกลับบ้านที่ต้องเข้าสู่ระบบกักกันซึ่งดำเนินการอยู่แล้ว กลุ่มที่สาม คนต่างชาติ จะพิจารณาจากวัตถุประสงค์การเข้ามา ความจำเป็นด้านเศรษฐกิจและสังคม ระยะเวลาในการอยู่ในประเทศ โดยมีการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขรองรับ
ส่วนในกลุ่มชาวต่างชาติ จะแบ่งเป็น 3 ระยะของการผ่อนปรน ดังนี้
ระยะที่ 1 คือ กลุ่มที่เข้ามาระยะสั้น อาทิ อาคันตุกะของรัฐบาล กลุ่มนักธุรกิจ/นักลงทุนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ กลุ่มที่เข้ามาอยู่ระยะยาว อาทิ กลุ่มแรงงานฝีมือ/ผู้เชี่ยวชาญ คนต่างชาติที่เป็นครอบครัวคนไทย ผู้มีเหตุจำเป็น เช่น ครู/นักเรียนจากต่างประเทศตามความจำเป็นด้านเศรษฐกิจและสังคม
ระยะที่ 2 คือ กลุ่มที่มีผลต่อเศรษฐกิจและเข้ามาอยู่ในสถานที่เฉพาะคือโรงพยาบาล คือผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการด้านสุขภาพ
และระยะที่ 3 คือ กลุ่มที่มีการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ มีผลต่อเศรษฐกิจและการผลิต คือกลุ่มนักท่องเที่ยว และแรงงาน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเมื่อพร้อมและสังคมมีความเชื่อมั่น ทั้งนี้ จะได้นำเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ต่อไป
ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดมาตรการในการดำเนินการ ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนเดินทางเข้าประเทศ อาทิ การลงทะเบียนและมีใบรับรองจากสถานทูตไทย การทำประกันภัยที่ครอบคลุมการตรวจ/รักษาโควิด19 ใบรับรองการบิน ระหว่างอยู่ในประเทศ อาทิ การคัดกรอง การตรวจหาเชื้อ การแยกกัก กักกัน และคุมไว้สังเกตตามระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทย โดยทีมติดตามด้านการแพทย์และสาธารณสุข และก่อนเดินทางกลับ อาทิ การรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การตรวจหาเชื้อก่อนกลับ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในการดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชน และเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผน การเฝ้าระวังประชากรกลุ่มเสี่ยงที่จะดำเนินการต่อเนื่อง ได้แก่ ผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ผู้ต้องขังแรกรับ ผู้ต้องกักแรกรับ และอาชีพเสี่ยง เช่น พนักงานในโรงงานผลิตอาหาร พ่อค้าแม่ค้า บุคลากรที่ทำงานกับผู้สูงอายุ พนักงานนวด พนักงานสถานบันเทิง โดยระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม - 22 มิถุนายน 2563 ได้ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ 89,620 ราย ตรวจพบเชื้อ 1 รายเป็นผู้ป่วยเก่า รอผลตรวจ 8,257 ราย