จากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินของไทย และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง มาเป็นเวลาร่วม 8 เดือนแล้ว ส่งผลให้ภาพรวมของสายการบินของไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ช่วง 9 เดือนแรกของปี2563 ในภาพรวมมีผลการดำเนินงานขาดทุนรวมกันสูงถึง 6.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 5.1 หมื่นล้านบาทหากเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี2562 ที่ภาพรวมธุรกิจการบินขาดทุนอยู่ที่ 1.39 หมื่นล้านบาท
โดยการบินไทย ขาดทุนสูงสุด 4.9 หมื่นล้านบาท ตามด้วยไทยแอร์เอเชีย (รวมส่วนที่บริษัท เอเชียเอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ถือหุ้น55%) ขาดทุน 6.64 พันล้านบาท
ขณะที่ บางกอกแอร์เวย์ส ก็เป็นปีนี้แรกที่ประสบปัญหาการขาดทุน นับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา ตามมาด้วยสายการบินนกแอร์ ยังไม่รวมกับสายการบินอื่นๆที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแต่ก็อ่วมขาดทุนทุกราย
จากการขาดทุนอย่างหนักที่เกิดขึ้น นอกจากการบินไทย ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เพื่อหาแหล่งเงิน 5-8 หมื่นล้านบาทของบริษัทเองฯแล้ว สายการบินเอกชนต่างก็ยังคงรอความหวังเฮือกสุดท้ายจากรัฐบาลในการขอสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า(ซอฟต์โลน)
โดยล่าสุดสายการบินได้ปรับวงเงินการขอซอฟต์โลนใหม่ หลังการเข้าหารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ธุรกิจการบินโคม่า 7 แอร์ไลน์ไทยร้อง ‘อาคม’ เร่งซอฟต์โลนกู้ชีพ
ไหวมั้ย ! 8 แอร์ไลน์ไทย ตุนสภาพคล่องถึงปี66 ยืนระยะฝ่าโควิด
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชียเอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาการปล่อยซอฟต์โลนให้สายการบิน โดยไม่ให้เกิดข้อกังวลว่า ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 สายการบินจะสามารถชำระหนี้จ่ายคืนได้หรือไม่
ทำให้ล่าสุดทั้ง 7 สายการบิน(ไม่นับรวมสายการบินนกสกู๊ตที่ปิดกิจการไปแล้ว) จึงได้ปรับวงเงินการขอซอฟต์โลนใหม่ จากเดิมอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็ลดลงกว่าเดิมถึง 50%
โดยจะขอให้รัฐบาลสนับสนุนซอฟต์โลนเฉพาะส่วนที่เป็นเงินเดือนของพนักงานเท่านั้น ตั้งเดือนธันวาคม2563-ธันวาคมปี2564 เพื่อให้สายการบินต่างๆสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง ซึ่งก็จะทำให้รักษาพนักงานของทั้ง 7 สายการบิน
ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยไลอ้อนแอร์ นกแอร์ บางกอกแอร์เวย์ส ไทยสมายล์ ไทยเวียตเจ็ท ที่มีจำนวนรวมกว่า 1.5 หมื่นคนไว้ได้ต่อไป
ทั้ง 7 สายการบินได้ทำข้อมูลการจ่ายเงินเดือนของพนักงานมาแล้ว และได้ส่งข้อมูลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ก็คาดหวังว่าภายในสัปดาห์หน้าน่าจะมีความชัดเจน โดยขอดอกเบี้ย 2% ผ่อนจ่ายเป็นเวลา 5 ปี เบิกจ่ายเป็นเดือนต่อเดือน เพื่อนำมาจ่ายเงินเดือนพนักงาน
วันนี้แม้สายการบินต่างๆจะเริ่มกลับมาบินเส้นทางภายในประเทศได้บ้าง แม้ค่าตั๋วโดยสารจะเพิ่มขึ้นกว่าในอดีต แต่สายการบินก็มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกันหลังโควิด-19 และดีมานต์การเดินทางในประเทศก็ยังไม่เพียงพอ
ทำให้การใช้เครื่องบินยังไม่สามารถกลับมาบินได้ทุกลำ อย่างไทยแอร์เอเชีย ปัจจุบันใช้เครื่องบินได้เพียง 30 ลำจาก 60 ลำที่มีอยู่ในฝูงบินเท่านั้น สายการบินอื่นๆ ก็เช่นกัน”
อีกทั้งรายได้ของธุรกิจสายการบิน ก็มาจากเที่ยวบินระหว่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้นหากไทยยังไม่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างแท้จริง ธุรกิจก็คงขยับอะไรไม่ได้มาก เพราะการทยอยเปิดอย่างในปัจจุบันที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 1.2 พันคนต่อเดือน ก็ไม่ต่างกับหยดนํ้าลงในมหาสมุทร นายธรรศพลฐ์ กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามนับจากเกิดโควิด-19 ส่งผลปริมาณเที่ยวบินของไทย จากเดิมอยู่ที่ 3 พันเที่ยวบินต่อวัน ลดลงมาเหลือ700-800 เที่ยวบินต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งก็หายไปร่วม 2 พันกว่าเที่ยวบินต่อวัน ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการบินและสนามบิน ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ไม่ว่าจะเป็นบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย(บวท.)และบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือ ทอท. จากกระแสเงินสดในปี64 ที่มีแนวโน้มจะติดลบ จากรายได้ที่หายไป และการออกมาตรการช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการในสนามบิน และยังเป็นปีแรกที่ทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าวจะไม่มีการจ่ายโบนัสหรือเงินรางวัลพิเศษเหมือนทุกปีด้วย
จากก่อนหน้านี้ที่ทอท.จ่ายโบนัสในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 7.75 เดือนในปี2561 และ 7.25 เดือนในปี2562 ขณะที่บวท.จากทุกปีจะได้รับเงินรางวัลพิเศษอยู่ที่ 4 เดือน ในปีนี้ก็ไม่มีการจ่ายแต่อย่างใด