นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ส่งหนังสือเรื่อง “แนวทางการดำเนินการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กรณีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์” ถึง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยระบุว่า
ตามหนังสือที่อ้างถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ("ตลาดหลักทรัพย์ฯ") ได้แจ้งดำเนินการ กับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ("บริษัทฯ") เร่งดำเนินการแก้ไขกรณีส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ มีค่าน้อยกว่าศูนย์ ส่งผลให้บริษัทฯ เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนตามข้อกำหนดตลาดหลักทรัพย์ฯ
เรื่องการเพิกถอนบริษัทหลักทรัพย์จดทะ เบียนนั้นบริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า นอกเหนือจากการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งบริษัทฯ เชื่อว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและเกิดประ โยชน์สูงสุดต่อบริษัทฯ แล้ว
บริษัทฯ มีแนวทางในการแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนและกำหนดระยะเวลาการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยสรุปดังนี้
1. การดำเนินการให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ มีค่ามากกว่าศูนย์ บริษัทฯ มีแผนที่จะปรับโครงสร้างทุน และโครงสร้างหนี้เพื่อทำให้บริษัทฯ สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ในเบื้องต้นบริษัทฯ คาดว่าจะมีการเพิ่มทุน
รวมถึงมีการให้สิทธิการแปลงหนี้เป็นทุนแก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นและลดภาระหนี้สิน อีกทั้งบริษัทฯ ได้ดำเนินการในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยว ข้องกับการรักษาสภาพคล่องทางการเงิน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มทั้งรายได้ และลดค่าใช้จ่ายอย่างมีนัยสำคัญให้กับบริษัทฯ
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้จัดทำแผนการปฏิรูปธุรกิจ โดยมีผู้นำบริหารการขับเคลื่อนการปฏิรูปธุรกิจ(Chicf Transformation Officer - CTO) เป็นผู้ผลักดันให้พนักงานทั้งองค์กรทำงานอย่างเป็นระบบ
2. การดำเนินการให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติ ซึ่งเกิดจากธุรกิจหลัก จากที่กล่าวไปข้างต้น แผนการปฏิรูปธุรกิจนั้นเกิดจากการศึกษาวิเคราะห์ธุรกิจ และการแสวงหาโอกาสพัฒนาธุรกิจ โดยละเอียด
โดยบริษัทฯ ได้ริเริ่มโครงการมากกว่า 600 โครงการ ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการตามแผนแล้วและมีความคืบหน้าอย่างชัดเจนแผน การปฏิรูป ธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่ การปรับลดขนาดฝูงบิน และปรับลดแบบเครื่องบินและแบบเครื่องยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกำลังลูกเรือ และลดต้นทุนในด้านการซ่อมบำรุง
การปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินและการเจรจาต่อรองปรับลดค่าเช่าเครื่องบินอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว การปรับเปลี่ยนเส้นทางการบิน และยกเลิกเส้นทางที่ทับซ้อนและให้ผลตอบแทนต่ำการปรับลดขนาดองค์กรและขั้นตอนการบังคับบัญชา รวมถึงปรับปรุงสวัสดิการของพนัก งานให้มีความเหมาะสม เป็นต้น
หากสถานการณ์การแพร่ระบาคของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) มีแนวโน้มที่ดีขึ้น อาจทำให้มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งส่งผลในทางบวกแก่ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจการบินอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทฯ เชื่อว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวและแผนการปฏิรูปธุรกิจของบริษัทฯ นี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้กำไรสุทธิของบริษัทฯ กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง
3. กำหนดระยะเวลาการดำเนินการ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ผู้ทำแผนได้นำส่งแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดการประชุมเจ้าหนี้ของบริษัทฯ เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564
โดยหากแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ได้รับมติเห็นชอบจากเจ้าหนี้แล้ว ศาลจะนัดพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ถึง 2 เดือน หลังจากการประชุมเจ้าหนี้ หรือในช่วงเดือนมิถุนายน ถึง เดือนกรกฎาคม 2564 โดยหากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้บริหารแผน บริษัทฯ จะเร่งดำเนินการตามแผนที่ระบุในแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด
ตามประมาณการของบริษัทฯ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น บริษัทฯ จะกลับมามีกำไรจากการดำเนินงานตามปกติจากธุรกิจหลักได้ในปี 2566 และส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ จะกลับมามีค่ามากกว่าศูนย์ได้ในปี 2573 ซึ่งหากพิจารณาประกอบกับข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ
เรื่องการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน และแนวทางการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ให้ระยะเวลาบริษัทฯ ในการแก้ไขเหตุเพิกถอนให้หมดไปภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2564 จะพบว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาข้างต้น บริษัทฯ อาจยังไม่สามารถแก้ไขเหตุเพิกถอนให้หมดไปได้
เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ยังคงมีค่าน้อยกว่าศูนย์ กรณีนี้จึงอาจเข้าข่ายที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเสนอคณะกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: