หลังจากเจ้าหนี้โหวตผ่านแผนฟื้นฟูการบินไทยเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนจากนี้ยังต้องรอการนัดไต่สวนของศาลล้มละลายกลาง ในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ ถ้าศาลฯเห็นชอบแผน คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู ก็จะเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูที่วางไว้ต่อไป
ผู้ทำแผนฟื้นฟู ได้วางสมมติฐานการทำแผนการบินไทยฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม 64 ไว้ว่าศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนภายในเดือนมิถุนายนนี้
รวมทั้งการบินไทยยังอยู่ระหว่างเตรียมแผนเพื่อทยอยกลับมาเปิดทำการบินประจำอีกครั้ง เพื่อเพิ่มกระแสเงินสดและรองรับการ เตรียมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของไทย
หลังจากร่วม 1 ปีที่ผ่านมาการบินไทยได้เปิดให้บริการเฉพาะการขนส่งสินค้าและเที่ยวบินพิเศษเท่านั้น ซึ่งรายได้ไม่มาก แต่เน้นการลดค่าใช้จ่ายเป็นหลัก
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการโหวตผ่านแผนฟื้นฟูกิจการที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ค.64 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้ 140,000 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนหนี้รวมกันกว่า 91.56%โหวตผ่านแผนฟื้นฟูรวม 3 ฉบับ ได้แก่
1.แผนฟื้นฟูของการบินไทย ที่ผู้ทำแผนเสนอไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม2564 รวมกับฉบับขอแก้ไขแผนเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ที่ขยายเพิ่มเรื่องแหล่งเงินใหม่และการตั้งคณะกรรมการกำกับสินเชื่อใหม่
2.แผนแก้ไขของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ขอเสนอผู้บริหารแผน 2 คนคือ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ และนายไกรสร บารมีอวยชัย
3.แผนแก้ไขของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ที่มีเรื่องการแปลงดอกเบี้ยเป็นทุน การเสนอให้พิจารณาแยกบิสิเนส ยูนิตของการบินไทยเป็นบริษัทลูก และการเสนอตั้งนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์,นายพรชัย ฐีระเวช และผมเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู
ดังนั้นเมื่อเจ้าหนี้โหวตแผนทั้ง 3 ฉบับประกอบกัน และแผนก็ไม่ได้ขัดแย้งกัน ก็เหมือนกับเอาทั้งหมดมากรุ๊ปรวมกัน และลงตัวพอดีซึ่งจากนี้ต้องรอการนัดไต่สวนของศาลล้มละลายกลางในวันที่ 28 พ.ค.ก่อน
โดยก็ต้องดูว่าศาลฯจะพิจารณาแผนในวันดังกล่าวเลย หรือจะนัดหมายมารับฟังการพิจารณาเมื่อไหร่ โดยหากศาลฯเห็นชอบด้วยแผน ก็จะเริ่มเดินตามแผนฟื้นฟูกิจการได้
นายชาญศิลป์ กล่าวต่อว่า การที่เจ้าหนี้โหวตแผนให้การบินไทย ทำให้เราไม่ต้องล้มละลาย และเรากำลังเตรียมเดินหน้ากลับมาเปิดบินตามปกติ และจ่ายชำระหนี้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งร่วม 1 ปีกว่าที่ผ่านมาการบินไทยทำการบินรวม 3,179 เที่ยวบิน เราให้บริการได้เฉพาะเที่ยวบินขนส่งสินค้า (คาร์โก้) รวมกว่า6.6 หมื่นตัน และเที่ยวบินพิเศษที่รับคนไทยกลับบ้าน
ที่ผ่านมาเรายังทำรายได้ไม่ได้มากนัก เพราะยังบินได้ไม่เต็มที่ แต่เราลดค่าใช้จ่ายไปได้สูงถึง 40-60% ทั้งจากการปรับโครงสร้างองค์กรและการเจรจาเจ้าหนี้
หากแผนฟื้นฟูผ่านความเห็นชอบจากศาลฯการบินไทยก็จะทยอยกลับมาเปิดให้บริการบินประจำ ซึ่งในขณะนี้การบินไทยได้ทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (ททท.) เพื่อเตรียมแผนรองรับการเปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ในวันที่ 1 ก.ค.นี้
ทั้งนี้ในเร็วนี้การบินไทยมีแผนจะบินตรงจาก 4 เมืองในยุโรปเข้าจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ แฟรงก์เฟิร์ต ลอนดอน โคเปนเฮเกน และปารีส ในธีม Amazing Phuket Getaway ส่วนเส้นทางอื่นๆก็คาดว่าจะทยอยกลับมาบินได้ในช่วงไตรมาส4 ปีนี้
สิ่งที่ยากคือการขาดดีมานต์การเดินทางจากโควิด-19 การบินไทยต้องปรับการให้บริการให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสาร รวมไปถึงประเภทของเครื่องบินที่จะใช้ทำการบินที่เหมาะสมกับตลาดด้วย นายชาญศิลป์ กล่าวทิ้งท้าย
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทการบินไทย เผยว่า การหาแหล่งเงินใหม่ 5 หมื่นล้านบาทของการบินไทย เพื่อนำมาใช้เพิ่มสภาพคล่องและเปิดดำเนินธุรกิจการบินต่อนั้น คือการขอสนับสนุนเงินกู้จากเจ้าหนี้ภาครัฐ และเจ้าหนี้สถาบันการเงินฝั่งละ2.5 หมื่นล้านบาทแล้วและจากเอกชนรายอื่นควบคู่ไปด้วย
เพราะที่ผ่านมาการบินไทยสามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้ราว 3 หมื่นล้านบาท จากการปรับโครงสร้างองค์กร ลดจำนวนพนักงาน การลดแบบเครื่องบิน และการเจรจาต่อรองค่าเช่าเครื่องบิน ซึ่งเชื่อว่าการบินไทยยังเป็นธุรกิจที่ดี
“การบินไทยต้องการเงินราว 5 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ในช่วง 3-5 ปีนี้ เพื่อให้การบินไทยกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างมีกำไรและไม่ได้ต้องการกู้ทีเดียว แต่เป็นการทยอยกู้ตามที่ต้องใช้จริง เผื่อให้มีเวลาในการบริหารสภาพคล่องได้ระหว่างที่ทยอยกลับมาเปิดทำการบินปกติได้อีกครั้ง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา: หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,681 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564