สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล(27)

29 ต.ค. 2562 | 11:26 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3518 ระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-2 พ.ย.2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

สัญญา'ไฮสปีด 3 สนามบิน'

ประวัติศาสตร์การประมูล(27)

 

          ผมนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่มีความล่าช้าในการลงนามเซ็นสัญญายาวนานที่สุด

          คณะกรรมการพิจารณาการประกวดราคา ได้พิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 (ด้านการเงิน) ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ และ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพีและพันธมิตร ที่ เมื่อเปิดซองด้านการเงินพบว่า กลุ่มซีพี เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่า กลุ่มบีเอสอาร์ กลุ่มซีพีจึงชนะประมูล แต่กว่าจะมีการลงนามกันได้ต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี

          สัญญาที่จะมีการลงนามกันนั้นรายละเอียดเป็นอย่างไร มาติดตามร่างสัญญากันนะครับ ซึ่งผมนำเสนอมา 26 ตอนเข้าไปแล้ว ตอนนี้เป็นตอนที่ 27 ซึ่งเป็นเรื่องสัญญาแอร์พอร์ตลิงค์ ครับ....

          (ค) การคิดผลประโยชน์ตอบแทนของ รฟท. นอกเหนือจากค่าเช่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน  เอกชนคู่สัญญาจะต้องแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนในส่วนอื่นให้แก่ รฟท. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 8.1 (1)  โดยคู่สัญญาตกลงว่าตลอดระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ให้นำรายได้ดังต่อไปนี้ คิดเป็นรายได้ของเอกชนคู่สัญญาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ เพื่อนำไปแบ่งให้ รฟท. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อข้างต้น

          1)  กรณีเอกชนคู่สัญญาดำเนินการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ เอง รวมถึงการให้บุคคลอื่นเช่าและ/หรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทั้งหมดหรือบางส่วนของอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวที่พัฒนาโดยเอกชนคู่สัญญาให้นำรายได้หรือผลประโยชน์ที่เอกชนคู่สัญญาได้รับทั้งหมดจากการจัดหาผลประโยชน์ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และ/หรือบรรดาสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว (ก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงภาษีและค่าธรรมเนียมตามกฎหมายไทย) มาคิดเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ของเอกชนคู่สัญญาที่จะต้องนำมาแบ่งให้ รฟท. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 8.1(1) และ

          2)  กรณีเอกชนคู่สัญญาให้บุคคลอื่นเช่าช่วง และ/หรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ (นอกเหนือจากกรณีข้อ 16.1(2)(ค)1)) ให้นำรายได้ค่าเช่าช่วง และ/หรือค่าให้ใช้ประโยชน์มาคิดเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ของเอกชนคู่สัญญาที่จะต้องนำมาแบ่งให้ รฟท. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 8.1(1) โดยเอกชนคู่สัญญาตกลงดังนี้

          ก) ภายหลังสามสิบ (30) วัน นับจากวันที่เข้าทำสัญญาให้เช่าช่วงและ/หรือใช้ประโยชน์เอกชนคู่สัญญาจะส่งข้อมูลเกี่ยวกับการให้เช่าช่วงและ/หรือให้ใช้ประโยชน์ดังกล่าวให้แก่ รฟท.  ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อมูลดังนี้สำเนาสัญญาให้เช่าช่วงและ/หรือให้ใช้ประโยชน์  ระหว่างเอกชนคู่สัญญาและผู้เช่าช่วง และ/หรือผู้ใช้ประโยชน์ รายชื่อ ที่อยู่  ผู้รับการติดต่อ ระยะเวลาค่าตอบแทน (รวมถึงค่าเช่าช่วงและ/หรือค่าให้ใช้ประโยชน์) พร้อมหลักฐานพิสูจน์ว่าค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นไปตามอัตราราคาตลาดตลอดระยะเวลาของการเช่าช่วงและ/หรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ  ดังกล่าวและรายละเอียดอื่นตามที่ รฟท.  กำหนดอย่างสมเหตุสมผล โดยให้จัดส่งรายงานซึ่งแสดงข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดเป็นเอกสารและสิ่งบันทึกข้อมูล (เช่น ซีดี ดีวีดี ธัมป์ไดรฟ์ (thumb drive) หรือแฟลชไดรฟ์ (flash drivel) หรืออื่นๆ ที่จะพึงมี ณ วันที่ส่งรายงานข้อมูล) และหลังจากวันลงนามในสัญญาร่วมลงทุน เอกชนคู่สัญญาจะจัดส่งอัตราค่าเช่าที่เอกชนคู่สัญญาจะคิดจากผู้เช่าช่วงและ/หรือผู้ใช้ประโยชน์  ซึ่งจะต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าเช่าที่เอกชนคู่สัญญาต้องชำระให้แก่ รฟท. ตามที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุนหมายเลข 5 (ข้อกำหนดของ รฟท. ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ)  ภาคผนวกหมายเลข 2 (รายละเอียดค่าเช่าและการชำระค่าเช่า) ให้แก่ รฟท.

          ข) ตลอดระยะเวลาการให้เช่าช่วงและ/หรือให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ หาก รฟท. เห็นว่าค่าตอบแทนมีอัตราตํ่ากว่าอัตราค่าเช่าที่เอกชนคู่สัญญาต้องชำระให้แก่ รฟท. ตามที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุนหมายเลข 5 (ข้อกำหนดของ รฟท. ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการ) ภาคผนวกหมายเลข 2 (รายละเอียดค่าเช่าและการชำระค่าเช่า) เอกชนคู่สัญญาจะดำเนินการแก้ไขสัญญาให้เช่าช่วงและ/หรือใช้ประโยชน์ให้ค่าตอบแทนนั้นให้มีอัตราที่ไม่ตํ่ากว่าอัตราค่าเช่าที่เอกชนคู่สัญญาต้องชำระให้แก่ รฟท.  ตามที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุนหมายเลข 5 (ข้อกำหนดของ รฟท. ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ) ภาคผนวกหมายเลข 2 (รายละเอียดค่าเช่าและการชำระค่าเช่า)  และหากเอกชนคู่สัญญาไม่ดำเนินการดังกล่าว รฟท. มีสิทธิเรียกให้เอกชนคู่สัญญาชำระค่าปรับเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างระหว่างค่าตอบแทนนั้นกับอัตราค่าเช่าที่เอกชนคู่สัญญาต้องชำระให้แก่ รฟท.  ตามที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุนหมายเลข 5 (ข้อกำหนดของ รฟท. ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ) ภาคผนวกหมายเลข 1 (ข้อกำหนดของ รฟท. ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ) ทั้งนี้ การดำเนินการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯจะต้องไม่ละเมิดต่อกฎหมายไทยและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

          (ข)  เอกชนคู่สัญญาอาจดำเนินการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผู้เช่าช่วงและ/หรือผู้ใช้ประโยชน์ดำเนินการดังกล่าวก็ได้โดยในกรณีที่เอกชนคู่สัญญามอบหมายให้ผู้เช่าช่วงและ/หรือผู้ใช้ประโยชน์ดำเนินการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ต้องได้รับการอนุมัติจาก รฟท. ก่อนการให้เช่าช่วงและ/หรือการให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าว

          ในการดำเนินการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ เอกชนคู่สัญญาจะระมัดระวังมิให้การดำเนินงานข้างต้น  หรือมอบหมายให้ผู้เช่าช่วงและ/หรือผู้ใช้ประโยชน์ดำเนินการข้างต้นให้ส่งผลกระทบต่อโครงการอื่นหรือการให้บริการสาธารณะของหน่วยงานรัฐ

          (4) สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายในการเช่าพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ

          (ก)  สิทธิและหน้าที่ของ รฟท.ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน รฟท. มีสิทธิและหน้าที่ดังต่อไปนี้

          1) รฟท. หรือผู้แทนของ รฟท. มีสิทธิเข้าไปตรวจพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ  ได้ในเวลาทำการปกติของเอกชนคู่สัญญา  ผู้เช่าช่วง  หรือผู้ใช้ประโยชน์แล้วแต่กรณี  โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า สำหรับนอกเวลาทำการปกติ (รวมเวลากลางคืน) นั้นให้ รฟท. หรือผู้แทนของ รฟท.  เข้าไปตรวจได้ทันทีในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน โดยต้องแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาทราบก่อน และเอกชนคู่สัญญาต้องอำนวยความสะดวกแก่ รฟท. หรือผู้แทนของ รฟท. ในการเข้าตรวจพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ

          2) ในกรณีที่เกิดความชำรุดหรือเสียหายต่อพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ  บรรดาสิ่งปลูกสร้างต่างๆ บนพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และ/หรือ บรรดาส่วนควบและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เอกชนคู่สัญญา ผู้เช่าช่วง และ/หรือผู้ใช้ประโยชน์  นำมาใช้และ/หรือติดตั้งในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ  หรือเหตุการณ์อื่นใด  ซึ่ง รฟท. เห็นว่าอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย  พลานามัยของประชาชน หรือต่อทรัพย์สินของ รฟท. หรือบุคคลอื่นใด  หรือต่อสิ่งแวดล้อม รฟท. มีสิทธิออกคำสั่งให้เอกชนคู่สัญญา (และให้เอกชนคู่สัญญาดำเนินการให้ผู้เช่าช่วงและ/หรือผู้ใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ (ถ้ามี)  หยุดการดำเนินการใด ๆ ในและ/หรือเกี่ยวข้องกับพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ  บรรดาสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ บนพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และ/หรือบรรดาส่วนควบและอุปกรณ์ต่างๆเอกชนคู่สัญญา  ผู้เช่าช่วงและ/หรือผู้ใช้ประโยชน์ (ถ้ามี)  นำมาใช้ และ/หรือ  ติดตั้งในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ (ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือแต่บางส่วน) ไว้ชั่วคราว 

          จนกว่าเอกชนคู่สัญญาจะดำเนินการหรือมีการแก้ไขเหตุดังกล่าวได้สำเร็จครบถ้วนจนเป็นที่พอใจของ รฟท. แล้ว

          เสียดายพื้นที่จำกัด คอยติดตามกันต่อ...เรื่องแบบนี้ต้องบันทึกครับ!