สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล(31)

13 พ.ย. 2562 | 11:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3522 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 14-16 เม.ย. 2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'

ประวัติศาสตร์การประมูล(31)

 

     ผมนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่มีความล่าช้าในการลงนามเซ็นสัญญายาวนานที่สุด

     กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพีและพันธมิตร เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่า กลุ่มบีเอสอาร์ กลุ่มซีพีจึงชนะประมูล แต่กว่าจะมีการลงนามกันได้ต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี

     สัญญาที่จะมีการลงนามกันนั้นรายละเอียดเป็นอย่างไร มาติดตามร่างสัญญากันในเรื่องที่ดินมักกะสันและแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งต้องมีการส่งมอบพื้นที่ร่วม 300 ไร่ แต่ในพื้นที่เหล่านั้นต้องมีการย้ายระบบพวงรางที่เป็นศูนย์การซ่อมออกไป อันนี้แหละครับที่น่าจะมีปัญหาการส่งมอบที่ดิน

     เพราะที่ดินมักกะสันประกอบด้วยศูนย์ซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ (Phase B, C, D) และเนื้อที่ที่ติดกับสถานีแอร์พอร์ตเรลลิงค์ที่ รฟท. จะให้เอกชนใช้สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งมีเนื้อที่ 140.80 ไร่ (Phase A ประกอบด้วยเนื้อที่ไม่รวมพวงราง 131.49 ไร่ และพวงรางอีก 9.31 ไร่) เนื่องจาก รฟท. จำเป็นต้องใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงเพื่อสนับสนุนงานประจำวันอยู่ตลอดเวลา โดยใช้พวงรางเพื่อชักลากขบวนรถเข้าและออก และเป็นที่วางพักรถ 100 คัน (ประกอบด้วย รถที่รอเข้าซ่อม รถที่ซ่อมเสร็จรอย้ายออก และรถที่รอตัดบัญชีซึ่งจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบมูลค่าก่อนย้าย)

     ดังนั้น รฟท. จะยุติการใช้พวงรางปัจจุบันได้ก็ต่อเมื่อมีการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและพวงรางแห่งใหม่นอกที่มักกะสันให้เสร็จพร้อมใช้งานได้เสียก่อน ถ้าย้ายไม่ทันก็ยุ่งละพะยะค่ะ

     สัญญาว่าอย่างไรมาติดตามกันครับ สัญญาในข้อ 3) ความรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องของงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนของงานสะพานเลื่อนเพื่อย้ายพวงรางในพื้นที่มักกะสัน

     เมื่อมีการออกหนังสือรับรองการก่อสร้างงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานสะพานเลื่อนเพื่อย้ายพวงรางในพื้นที่มักกะสันแล้ว หากมีเหตุชำรุดบกพร่องหรือความเสียหายเกิดขึ้นในงานดังกล่าว ภายในกำหนดระยะเวลาสอง (2)ปี นับจากวันที่มีการออกหนังสือรับรองการก่อสร้างงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานสะพานเลื่อนเพื่อย้ายพวงรางในพื้นที่มักกะสันในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งสองส่วนนั้น ซึ่งความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของเอกชนคู่สัญญา ซึ่งรวมถึงกรณีที่เกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ถูกต้องหรือทำไว้ไม่เรียบร้อย หรือทำไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชา

     ในกรณีดังกล่าว เอกชนคู่สัญญาจะต้องทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ชักช้าตามที่ รฟท. กำหนด โดย รฟท. ไม่ต้องออกเงินใดๆ ในการนี้ทั้งสิ้นหากเอกชนคู่สัญญาไม่กระทำการดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ รฟท. กำหนด คู่สัญญาตกลงสิทธิ รฟท. ที่จะทำการนั้นเอง หรือจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้น โดยเอกชนคู่สัญญาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการดังกล่าว

     ในกรณีเร่งด่วนจำเป็นต้องรีบแก้ไขเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายโดยเร็ว และไม่อาจรอให้เอกชนคู่สัญญาแก้ไขในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่งได้ รฟท. มีสิทธิเข้าจัดการแก้ไขเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายนั้นเอง หรือจ้างผู้อื่นให้ซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องหรือเสียหาย โดยเอกชนคู่สัญญาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการดังกล่าว

     การที่ รฟท. ทำการนั้นเอง หรือจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้นแทนเอกชนคู่สัญญา ไม่ทำให้เอกชนคู่สัญญาหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาร่วมลงทุน

     (ข) งานทางแยกต่างระดับ (Directional ramps) สำหรับพื้นที่มักกะสัน 1) การดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนของงานแยกต่างระดับ (Directional ramps) สำหรับพื้นที่มักกะสัน

     ก) เอกชนคู่สัญญาจะต้องดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนของงานทางแยกต่างระดับ (Directional ramps) สำหรับพื้นที่มักกะสันให้แล้วเสร็จและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก ถูกต้องและเป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน รวมถึงข้อกำหนดของ รฟท. ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ มีสภาพปลอดภัยเพียงพอที่จะเริ่มการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ

     ข) ในระหว่างระยะเวลาของงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานทางแยกต่างระดับ(Directional ramps) สำหรับพื้นที่มักกะสัน ให้นำข้อ 15.1(3)(ก)และ(ข) มาใช้บังคับโดยอนุโลมเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของ รฟท. และเอกชนคู่สัญญา ในการดำเนินการและการตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าว

     ค) ในการดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานทางแยกต่างระดับ (Directional ramps) สำหรับพื้นที่มักกะสัน เอกชนคู่สัญญาจะระมัดระวังมิให้การดำเนินงานข้างต้นส่งผลกระทบต่อโครงการอื่นหรือการให้บริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ

     2) การเริ่มต้นการดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนของงานทางแยกต่างระดับ (Directional ramps) สำหรับพื้นที่มักกะสัน

     ก) ในวันเริ่มต้นระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนแรกตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(1)(ข)1) เอกชนคู่สัญญาจะต้องดำเนินงานทางแยกต่างระดับ(Directional ramps) สำหรับพื้นที่มักกะสันให้แล้วเสร็จโดยมีสภาพสมบูรณ์ สามารถใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงปลอดภัย ภายในห้า (5) ปี นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนแรกตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(1)(ข)1)

     ข) เมื่อ รฟท.พิจารณางานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานทางแยกต่างระดับ(Directional ramps) สำหรับพื้นที่มักกะสันแล้วเห็นว่างานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานทางแยกต่างระดับ(Directional ramps) สำหรับพื้นที่มักกะสันแล้วเสร็จ ถูกต้องและเป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน รวมถึงข้อกำหนดของ รฟท.ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ มีสภาพปลอดภัยเพียงพอที่จะเริ่มใช้งาน รฟท.จะออกหนังสือรับรองการก่อสร้างงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานทางแยกต่างระดับ(Directional ramps) สำหรับพื้นที่มักกะสัน

     ค) คู่สัญญาตกลงให้นำข้อ 15.1(3)(ค) มาใช้บังคับโดยอนุโลมเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของ รฟท.และเอกชนคู่สัญญา ในการตรวจสอบความแล้วเสร็จของการดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของ
โครงการฯ ในส่วนงานทางแยกต่างระดับ (Directional ramps) สำหรับพื้นที่มักกะสัน

     ง) กรณีที่เอกชนคู่สัญญาดำเนินงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานทางแยกต่างระดับ(Directional ramps) สำหรับพื้นที่มักกะสันไม่แล้วเสร็จ ภายในห้า (5)ปีนับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนแรกตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(1)(ข)1) เอกชนคู่สัญญาจะรับผิดชอบชำระค่าปรับให้แก่ รฟท.เป็นจำนวนเงินสองหมื่น (20,000)บาทต่อวัน โดยเริ่มนับถัดจากวันดังกล่าว จนถึงวันที่เอกชนคู่สัญญาได้รับหนังสือรับรองการก่อสร้างงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานทางแยกต่างระดับ(Directional ramps)

     สำหรับพื้นที่มักกะสันโดยหากเอกชนคู่สัญญาไม่ชำระค่าปรับดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ รฟท.กำหนด รฟท.มีสิทธิบังคับชำระค่าปรับจากหลักประกันสัญญาตามข้อ 10.1

     ผมรับประกันว่า ยุ่งครับ ในสัญญาเขียนให้รฟท.คิดค่าปรับ แต่ในความเป็นจริงน่าจะตรงกันข้ามครับ!

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (30)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (29)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (28)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (27)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (26)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (25)