สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (34)

24 พ.ย. 2562 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2562 | 10:04 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3525 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 24-27 พ.ย.2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'

ประวัติศาสตร์การประมูล (34)

 

     ผมนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของไทยที่มีความล่าช้าในการเซ็นสัญญายาวนานที่สุด

     กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพีและพันธมิตร เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่าคู่แข่งจึงชนะประมูล แต่กว่าจะมีการลงนามกันได้ต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี

     สัญญาที่ลงนามกันนั้นเป็นอย่างไร มาติดตามร่างสัญญากันในเรื่องการส่งมอบพื้นที่การรถไฟฯที่มักกะสันกับศรีราชา ซึ่งจะเป็นตัวบอกว่า ส่งมอบล่าช้าหรือไม่...และอาจมีค่าโง่ตามมาในอนาคตหรือเปล่า!

     (7) ข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ เอกชนคู่สัญญาจะไม่ใช้หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในลักษณะใดๆ ที่ผิดกฎหมายไทยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี หรือน่ารังเกียจ น่ากลัว หรืออาจกระทบกระเทือนความปลอดภัยและความสงบหรือเป็นอันตรายต่อสาธารณะ

     (8) ความคุ้มกันความรับผิด เอกชนคู่สัญญาต้องปกป้องคุ้มครอง รฟท. บุคลากรของ รฟท.และบุคคลในคณะกรรมการต่างๆ ของ รฟท.จากความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในทุกกรณี

     ในกรณีที่ รฟท.หรือบุคคลดังกล่าวในวรรคแรกถูกฟ้องร้องให้รับผิดใดๆ ไม่ว่าทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางปกครอง เนื่องจากการกระทำของเอกชนคู่สัญญา ผู้เช่าช่วงและ/หรือผู้ใช้ประโยชน์บุคลากรของเอกชนคู่สัญญา ผู้เช่าช่วงและ/หรือผู้ใช้ประโยชน์ หรือการดำเนินการใดๆ ของเอกชนคู่สัญญาและ/หรือบุคคลดังกล่าวตามสัญญาร่วมลงทุน เอกชนคู่สัญญาต้องเข้าเป็นคู่ความ รวมทั้งจัดหาทนายความเพื่อแก้ต่างแทน รฟท.และบุคคลดังกล่าวที่กล่าวมาแล้วข้างต้นและชดใช้ความเสียหายนั้นทุกประการ ซึ่งรวมทั้งค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายทั้งปวงในการดำเนินคดีและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งหมดด้วย

     (9) การเชื่อมกับโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน เพื่อเป็นการเสริมสร้างการใช้ประโยชน์ เพิ่มศักยภาพการใช้งาน และมูลค่าของพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ รฟท.และ/หรือเอกชนคู่สัญญาอาจพิจารณาให้มีการก่อสร้างทางเชื่อมจากพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และ/หรือจากบรรดาสิ่งปลูกสร้างต่างๆ บนพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ กับโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนตามที่ รฟท.เห็นสมควรด้วยค่าใช้จ่ายของเอกชนคู่สัญญาเอง โดยในการดำเนินการดังกล่าวเอกชนคู่สัญญาจะต้องนำส่งแผนงานรายละเอียดรวมทั้งแบบการก่อสร้าง(ถ้ามี)ให้แก่ รฟท.และหน่วยงานของรัฐ เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนเริ่มดำเนินการ

     (10) การปฏิบัติตามกฎหมายไทย เอกชนคู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานและการดำเนินการของเอกชนคู่สัญญา โดยเอกชนคู่สัญญาจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากปรากฏว่า รฟท. ต้องรับผิดชอบหรือได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่เอกชนคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไทยเอกชนคู่สัญญาจะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ รฟท.ทั้งสิ้นโดยไม่ชักช้า

     (11) การขออนุญาตหรือขอความยินยอมต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่สัญญาร่วมลงทุนนี้จะระบุไว้เป็นอย่างอื่น ในกรณีที่เอกชนคู่สัญญาประสงค์จะยื่นเรื่องขออนุญาตหรือ ขอความยินยอมต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายไทยหรือตามสัญญาร่วมลงทุนนี้ หรือจะต้องได้รับอนุญาตหรือยินยอมจาก รฟท.ก่อน เอกชนคู่สัญญาจะต้องตรวจสอบข้อมูลและบรรดาเอกสารต่างๆ รวมถึงขั้นตอนที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องทั้งหมดก่อนการดำเนินการ ตลอดจนรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ฝ่ายเดียว โดย รฟท.อนุมัติโดยไม่ชักช้า

     (12) การเตรียมการสำหรับการสิ้นสุดระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ

     (ก) ภายในช่วงระยะเวลาเตรียมการส่งมอบทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการฯ เอกชนคู่สัญญาจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วยค่าใช้จ่ายของเอกชนคู่สัญญาแต่ผู้เดียว

     1) จัดส่งข้อมูลรายการทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้และประเภททรัพย์สินที่ไม่ใช่ทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ รวมถึงข้อมูลการเช่า การเช่าช่วงและ/หรือการให้ใช้ประโยชน์ ข้อมูลการประกอบธุรกิจภายในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ของเอกชนคู่สัญญา ผู้เช่า ผู้เช่าช่วงและ/หรือผู้ใช้ประโยชน์ซึ่งประกอบด้วย รายชื่อ ที่อยู่ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ พื้นที่ ผู้รับการติดต่อ ระยะเวลา ค่าเช่าและค่าตอบแทนอื่นใดในอัตราเฉลี่ยเป็นกลุ่มตามประเภทธุรกิจในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และผลรวมค่าเช่าเป็นรายชิ้น พร้อมสำเนาสัญญา และบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องที่แสดงข้อมูลดังกล่าวข้างต้นให้ รฟท.โดยให้ส่งตั้งแต่วันที่เริ่มช่วงระยะเวลาเตรียมการส่งมอบทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการฯ และส่งข้อมูลอัพเดตทุกรอบระยะเวลาหก (6)เดือน

     2) ถ่ายทอดความรู้ (Know how) อบรมพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือตัวแทนของ รฟท.หรือบุคคลอื่นใดที่ รฟท.กำหนด ในการประกอบธุรกิจบนหรือในทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ตลอดจนวิธีการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ และการอื่นใดที่จำเป็นต่อการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ตามที่ รฟท.กำหนด

     3) แจ้งผู้เช่า ผู้เช่าช่วง และ/หรือผู้ใช้ประโยชน์ที่ประกอบกิจกรรมอยู่ในทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ให้ทราบถึงการสิ้นสุดของระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ

     4) จัดทำบัญชี รายการทรัพย์สิน วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ให้แก่ รฟท.โดยเอกชนคู่สัญญาจะต้องดำเนินการรื้อถอนและ/หรือขนย้ายทรัพย์สินดังกล่าวออกจากพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และ

     5) บำรุงรักษา ดูแล ปรับปรุงทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีตามวัตถุประสงค์ของการเช่าพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินดังกล่าว ยกเว้นการเสื่อมสภาพการใช้งานตามปรกติ

     (ข) ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเอกชนคู่สัญญา ผู้เช่า ผู้เช่าช่วงและ/หรือผู้ใช้ประโยชน์เพิกเฉยหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อ 16.1      (12) นี้ โดยถูกต้องครบถ้วนหรือทำให้พื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ เสื่อมสภาพลงเป็นอุปสรรคต่อการใช้งานตามวัตถุประสงค์ หรือมี การกระทำอย่างอื่นในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ รฟท.มีสิทธิเข้าไปดำเนินการด้วยตนเองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการเพื่อให้เกิดผลตามข้อ 16.2(12) หรือเข้าไปป้องกันทำให้ทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ เสื่อมสภาพลง หรือเข้าไประงับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว โดยเอกชนคู่สัญญา ต้องอำนวยความสะดวกและต้องรับภาระค่าใช้จ่ายและความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นแต่เพียง
ผู้เดียว

     เห็นสัญญาแล้วอย่าคิดแต่เพียงว่า รฟท.จะได้เปรียบนะครับ อ่านให้ดีๆ ตีโจทย์ให้แตกนะขอรับ!

 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (33)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (32)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (31)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (30)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (29)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (28)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (27)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (26)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (25)