ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไรให้ “รอด” เมื่อโควิด-19 อยู่ด้วยอีกยาว

07 พ.ค. 2563 | 23:44 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2563 | 06:27 น.

ใครๆก็อยากรู้ว่าโลกจะรอดพ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 เมื่อไหร่  แต่ในระหว่างที่ไม่มีใครตอบได้  มาดูมุมมองจากบรรดานักธุรกิจเขาพากันประเมินว่า “โควิด-19 ยังอยู่กับเราไปอีกนาน”  พร้อมกับเศรษฐกิจที่ “ตกหลุมอากาศ”ไปพร้อมกันทั่วโลก และธุรกิจควรจะปรับตัวอย่างไรให้อยู่ “รอด”   “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ 2 ผู้บริหารที่มีบทบาทในภาคธุรกิจ

คนแรกนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทกลุ่มมิตรผล ซึ่งดำเนินธุรกิจน้ำตาล, เอทานอลและผลิตไฟฟ้าชีวมวลและไอน้ำ จากชานอ้อยและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ถ้าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลากยาวถึงปลายปี2563  หรือมากกว่านั้นรัฐบาลคงช่วยเหลือลำบาก  จะนำเงินที่ไหนไปแจกไปช่วยคงไม่ไหว ขณะที่ภาคธุรกิจขณะนี้สถาบันการเงินยืดการชำระหนี้ให้ แต่ในแง่ผู้ประกอบการก็ต้องแสดงให้สถาบันการเงินเห็นว่ามีความสามารถบริหารธุรกิจต่อไปได้เพื่อให้เกิดความมั่นใจ 

-ธุรกิจต้องช่วยตัวเองด้วย

ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยได้คือ ภาคธุรกิจต้องช่วยตัวเองด้วย ต้องพร้อมที่จะปรับตัว คน 1 คนต้องทำงานให้ได้หลายด้านและทำทันที 

“ผมดูคลิปคนที่เคยเป็นกัปตัน ยอมถอยบทบาทตัวเองมาขับมอเตอร์ไซด์ส่งของ บางวันได้เงินมา 500 บาท หรือ 1,000 บาท เขาก็อยู่ได้ นี่คือเขายอมปรับตัวเอง ถ้าเราแย่อยู่แล้ว ยิ่งไปหวังให้คนอื่นช่วยคงลำบาก ดังนั้นช่วงนี้จะเป็นจังหวะที่เราต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อน  ผมเชื่อว่าคนที่ปรับตัวได้และปรับตัวเร็วเท่านั้นที่รอด”

ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไรให้ “รอด” เมื่อโควิด-19 อยู่ด้วยอีกยาว

นายอิสระกล่าวอีกว่าในแง่กลุ่มมิตรผล ได้มีการปรับตัวเองมาอย่างต่อเนื่องโดยมองถึงการปรับตัวให้มีประสิทธิภาพ ศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจใหม่ๆ หรือทำการค้าขายแบบใหม่ เช่น ขายน้ำตาลทางออนไลน์  รวมถึงมองว่าเรามีกากน้ำตาล ก็ควรจะนำไปผลิตแอลกอฮอล์ได้  และแอลกอฮอล์ก็สามารถปรับมาตรฐานไปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น ยาฆ่าเชื้อได้ เป็นต้น ดังนั้นประเมินภาพแล้วถ้า “ธุรกิจ” และ “คน”มีการปรับตัวก็น่าจะรอด

-เมื่อคลี่คลายแล้วยังต้องใช้เวลาฟื้นฟูธุรกิจอีก1-2ปี

นักธรุกิจอีกราย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)และประธานสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมมองว่า เราต้องอยู่กับโควิด-19ไปอีกพักใหญ่เพราะ ยังไม่รู้จะค้นพบวัคซีนได้เมื่อไหร่ เมื่อค้นพบแล้วจะเพียงพอต่อการแจกจ่ายไปทั่วโลกแค่ไหน และเมื่อคลี่คลายแล้วก็ต้องใช้เวลาฟื้นฟูความเชื่อมั่น ฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งก็ต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 1-2 ปี นับจากที่ปัญหาคลี่คลายแล้ว

ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไรให้ “รอด” เมื่อโควิด-19 อยู่ด้วยอีกยาว

นอกจากนี้การกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเวลานี้หลายประเทศเผชิญภาวะคนตกงาน ยกตัวอย่าง เพียงแค่ 4 สัปดาห์เท่านั้นในอเมริกามีคนตกงานแล้ว  22-23 ล้านคน จนล่าสุดพุ่งแตะที่ 30 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทย

 

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ระบุว่าถ้าควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ได้ภายในปลายเดือนมิถุนายนนี้ก็จะมีคนตกงานราว 7 ล้านคน แต่ถ้ายืดเยื้อไปถึงเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมปี 2563 คนตกงานก็จะเพิ่มเป็น 10 ล้านคน และกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจะต้องเกิดการสร้างงานก่อน ซึ่งจะต้องใช้เวลาหลายเดือนอาจนานเป็นปีกว่าจะฟื้นฟูไปสู่ภาวะปกติได้

 

ขณะที่ราคาน้ำมันร่วงลงกราวรูด และไม่มีคลังเก็บน้ำมันจนต้องแก้ปัญหาเก็บน้ำมันทางเรือ  จากผลกระทบที่การเคลื่อนไหวในระบบขนส่งลดลง ทั้งการเดินทางทางบก อากาศ เรือ โรงงานผลิตหยุดการผลิตลงชั่วคราวพร้อมกัน จากแรงกระทบครั้งนี้ ทำให้ทั่วโลกต้องกลับมามองตัวเอง กลับมาทบทวนอีกครั้งถึงการทำธุรกิจและการตั้งฐานการผลิตนอกบ้าน

 -พึ่งพาตัวเองมากขึ้นถึงจะรอด

สำหรับประเทศไทยโครงสร้างของรายได้กว่า 70% พึ่งพาการส่งออก และ 12% พึ่งพาภาคท่องเที่ยว เฉพาะ 2 ส่วนนี้เราต้องพึ่งพาทั่วโลกมากถึง 80% ในแง่การผลิต เมื่อวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนบางอย่างต้องนำเข้าทำให้สายพานการผลิตสดุดลง   การอาศัยฐานการผลิตนอกบ้านทำให้การผลิตในประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ทั้งที่มีออเดอร์เข้ามา ซึ่งในช่วงโควิด-19 ระบาดไทยจะต้องนำเข้าชิ้นส่วนต่างๆที่ผลิตจากจีนมากถึง 20%  และตรงนี้จะเห็นว่าถึงแม้ไทยมีการส่งออกสินค้าไปจีน 12% แต่ไทยก็นำเข้าจากจีน 21% 

ในช่วงวิกฤติโควิดจะเห็นว่าอุตสาหกรรมที่เราเคยขายดี พอจีนปิดโรงงาน  เราก็ไม่สามารถผลิตได้ เพราะต้องพึ่งการนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนทำให้ไทยเสียโอกาส ดังนั้นเชื่อว่าหลายภาคส่วนด้านการผลิตต้องใช้บทเรียนช่วงนี้มาทบทวนว่าเราต้องหันกลับมาพึ่งพากันเองในประเทศมากขึ้น

-ย้ำต้องส่งเสริมใช้สินค้าไทย

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ส.อ.ท.เน้นหลักการพึ่งพาตัวเองก่อนแล้วโดยเฉพาะนโยบายผลิตและใช้ของไทย ซึ่งในส่วนนี้ถ้าผู้ประกอบการทำได้ก็เท่ากับว่าเป็นการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองด้วยในระยะยาว และไทยจะได้หลุดพ้นจากคำว่าโออีเอ็มที่ได้ประโยชน์แค่เพียงค่าแรงงานเท่านั้น

นอกจากนี้เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างก็ควรมีการเน้นการซื้อและใช้สินค้าในประเทศไทยเป็นหลักก่อน ซึ่งในอดีตมีการประมูลเอาสินค้าจากจีนเข้ามาดั้มราคาจนสินค้าไทยแข่งขันไม่ได้

-ตั้งคณะฟื้นฟูโควิด-19

อีกทั้งล่าสุดอเมริกาก็ออกมาเคลื่อนไหวบอกว่าจีนต้องชดใช้ความเสียหายจากการปล่อยเชื้อโควิด  โดยการเก็บภาษีอากรขาเข้าจากจีนสูงขึ้นกับสินค้าที่จีนส่งไปยังอเมริกา จากกรณีนี้ทำให้ส.อ.ท. ต้องรับมือโดยการตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูโควิด-19 ขึ้นมาโดยมีตนนั่งเป็นประธานชุดนี้ ซึ่งก็ต้องรับมือตรงนี้เพื่อปรับไปสู่Localization  หรือการพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น

“เบื้องต้นได้เชิญประธาน 11 กลุ่มคลัสเตอร์ที่ครอบคลุม 45  กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อมาทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกัน เช่น ไปดูเรื่องการย้ายฐานการผลิต  ดูเรื่องการพึ่งพาการใช้สินค้าภายในประเทศ รวมถึงการโยกย้ายคนข้ามบริษัทเพื่อช่วยแรงงานที่ว่างงานชั่วคราว  และดูเรื่องการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ เป็นต้น”

โดยมองว่า ต่อไปจะเกิดการค้าขายในระดับภูมิภาคมากขึ้นในCLMV และไทย  รวมถึงตลาดไทยและอาเซียน รวมตลาดที่มีกำลงซื้อ 650 ล้านคน

ตอนนี้มองว่าการที่เราหันมาพึ่งพาตัวเองในประเทศมากขึ้นบวกกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19ได้ดีเมื่อเทียบกับหลายประเทศเพื่อนบ้าน ก็ยิ่งเป็นโอกาสที่ไทยจะกลับมาเป็นฮับในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้นโดยเฉพาะการบูมด้านสุขภาพ  ด้านเครื่องมือแพทย์ ที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ขณะเดียวกันคาดว่าจะมีการลงทุนจากจีนโยกย้ายเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นด้วยน่าจับตามองเหตุการณ์หลังโควิด-19 อาจเป็นโอกาสของไทยครั้งสำคัญอีกครั้งก็ได้ในแง่การลงทุนและการย้ายฐานการผลิต