ใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน
ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
อย่างระมัดระวัง
ทันทีที่สำนักงานสภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ เปิดให้หน่วยงานในระดับพื้นที่ ทุกภาคส่วน ส่วนราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาคเอกชนวิสาหกิจชุมชน เสนอแผนงานหรือโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยเป็นการใช้เงินก้อน 4 แสนล้านบาท จากพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินกู้สำหรับการดูแลเศรษฐกิจ ที่รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ก็มีโครงการเข้ามาอย่างหลากหลาย
การขอใช้เงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจก้อนนี้ รัฐบาลได้วางกรอบการใช้เงินเอาไว้อย่างกว้างๆ ต้องประกอบไปด้วย 4 เงื่อนไข ลงทุนกิจกรรมพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและชุมชนฐานราก การส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนกระบวนการผลิต
สภาพัฒน์ รายงานถึงเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมามีโครงการนำเสนอเข้ามารวม 28,331 โครงการ มูลค่า 372,532 ล้านบาท แบ่งเป็น 55 จังหวัด เสนอ 28,196 โครการ วงเงินรวม 203,643.48 ล้านบาท และส่วนราชการ 13 กระทรวง 4 หน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี 115 โครงการ มูลค่า 168,889.17 ล้านบาท ในส่วนของจังหวัด องค์กรบริหารส่วนจังหวัด 823 โครงการ มูลค่ารวม 16,559.77ล้านบาท เทศบาล/อบต. รวม 20,407 โครงการ มูลค่ารวม 79,141.83ล้านบาท และส่วนราชการที่เสนอผ่านจังหวัด 2,781โครงการ มูลค่ารวม 54,161.91 ล้านบาท
สภาพัฒน์เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมวิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะโครงการใดเหมาะสม โครงการใดต้องเฝ้าระวัง 8-15 มิ.ย.นี้ เพื่อนำข้อมูลไปกลั่นกรอง วิเคราะห์โครงการก่อนเข้าพิจารณาในคณะกรรมการกลั่นกรองที่ตั้งขึ้น เพื่อพิจารณาโครงการนำเสนอครม.อนุมัติในต้นเดือนก.ค. โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติต้องเบิกจ่ายงบประมาณให้เสร็จภายในปีงบประมาณ 2564
เราเห็นว่าเงินกู้วงเงิน 4 แสนล้านเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจก้อนนี้ เป็นเม็ดเงินสำคัญและแทบเป็นก้อนสุดท้าย ที่รัฐบาลและหน่วยราชการสามารถนำมาใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้เงินอย่างยิ่งยวด โดยต้องเกิดประสิทธิภาพในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ไม่เป็นโครงการที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ และควรสร้างระบบป้องกัน ตรวจสอบไม่ให้การใช้เงินมีการรั่วไหลหรือเปิดช่องให้ใครหาประโยชน์โดยมิชอบให้เข้มแข็งมากกว่านี้