เมื่อ 4 ปีที่แล้วผมเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ โดยกล่าวว่า “แบตเตอรี่คือหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาพลังงานและปัญหาภาวะโลกร้อน” และยังคาดว่า “ในอีก 10 ปีข้างหน้า (คือปี 2569) เทคโนโลยีจะทำให้ราคาแบตเตอรี่ลดลง และราคารถยนต์ไฟฟ้าก็จะถูกลงมาก จนทำให้สามารถแข่งขันกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันได้...เราจะเห็นรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งกันเกลื่อนถนน การผลิตไฟฟ้าก็จะหันไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น...”
ในปัจจุบันเราเริ่มเห็นรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นรถประเภท hybrid ที่ใช้น้ำมันสลับกับไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถที่ใช้ไฟฟ้าแต่เพียงอย่างเดียว (battery electric vehicle หรือ BEV) มีวิ่งอยู่น้อยมาก และยานยนต์ส่วนใหญ่ก็ยังใช้น้ำมัน จึงยังนึกไม่ออกว่าคนไทยจะหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากมายในอนาคตได้อย่างไร
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนยังไม่สนใจใช้รถยนต์ไฟฟ้า (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง BEV) แทนรถยนต์ใช้น้ำมันก็คือเจ้าตัวแบตเตอรี่นี่เอง คนไม่อยากใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพราะยุ่งยากในการเติมไฟฟ้าใส่แบตเตอรี่ หาสถานที่เติมไฟก็ยาก เติมไฟครั้งหนึ่งกว่าจะเต็มก็ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง เติมไฟเต็มหม้อก็วิ่งรถได้ไม่ถึง 200 กิโลเมตร
ผมขอบอกว่า ปัญหาความยุ่งยากเหล่านี้มีแนวโน้มลดน้อยลงไปบ้างแล้ว สถานีเติมไฟฟ้าสำหรับรถ plug-in hybrid และ BV มีมากขึ้นและมีจำนวนเป็นร้อยแล้วในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ศูนย์การค้าและปั๊มน้ำมันหลายแห่งติดตั้งเครื่องเติมไฟฟ้าแล้ว บางแห่งให้เติมฟรีด้วยซ้ำไป บางสถานีมีเครื่องเติมไฟฟ้าแบบเร่งด่วนหรือ quick/fast charger ซึ่งสามารถเติมไฟให้รถยนต์ไฟฟ้าได้เกือบเต็มหม้อภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เจ้าของรถส่วนใหญ่ติดตั้ง charger ไว้ที่บ้านเพื่อใช้เติมไฟให้เต็มหม้อโดยใช้เวลาประมาณ 4 ถึง 6 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันสถานีเติมไฟฟ้ายังมีกระจายอยู่ค่อนข้างน้อยในต่างจังหวัด ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทางไกลๆ โดยรถยนต์ไฟฟ้า
อุปสรรคที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นราคาของตัวรถ ในสองปีที่ผ่านมามีรถ BEV เปิดตัวในตลาดเมืองไทยสองยี่ห้อ คือ Nissan Leaf ราคาลดแล้วคันละ 1.5 ล้านบาท และ MG ZS EV ราคาคันละ 1.2 ล้านบาท ทั้งคู่แพงกว่ารถขนาดและลักษณะเดียวกันที่ใช้น้ำมันอย่างน้อย 400,000 บาท
คิดสะระตะแล้ว การซื้อรถ BEV สองยี่ห้อนี้ยังไม่คุ้มค่าทางการเงิน จริงอยู่ที่ว่าการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทำให้ประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เมื่อคำนวณเปรียบเทียบโดยใช้ราคาน้ำมันเบนซินและราคาไฟฟ้าในปัจจุบัน (น้ำมันลิตรละ 20 บาท และไฟฟ้าหน่วยละ 4 บาท) เราจะพบว่าค่าเชื้อเพลิงที่ประหยัดได้จากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าตลอดช่วงอายุการใช้งาน 10 ปี คิดได้เป็นเงินไม่ถึง 100,000 บาท (ข้อสมมุติสำคัญคือ ระยะทางใช้รถปีละ 20,000 กิโลเมตร รถยนต์กินน้ำมัน 16 กิโลเมตรต่อลิตร มีค่าเชื้อเพลิงกิโลเมตรละ 1.25 บาท รถยนต์ไฟฟ้าวิ่งได้ 5 กิโลเมตรต่อหนึ่งหน่วยไฟฟ้า มีค่าเชื้อเพลิงกิโลเมตรละ 80 สตางค์)
สรุปแล้ว ประหยัดค่าน้ำมันไปได้แค่ 100,000 บาท และประหยัดค่าซ่อมบำรุงไปได้อีกจำนวนหนึ่ง (รถยนต์ไฟฟ้าไม่ต้องซ่อมบำรุงมากเท่ากับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เนื่องจากมีชิ้นส่วนประกอบจำนวนน้อยกว่ามาก) แต่ต้องจ่ายค่าตัวรถแพงขึ้น 4 - 5 แสนบาท
คนส่วนใหญ่จึงไม่คิดที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงนี้ คงต้องรอให้ราคารถลดลงมากกว่านี้อีก ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าราคารถจะถูกลงได้ก็ต่อเมื่อแบตเตอรี่มีราคาลดต่ำลง เพราะแบตเตอรี่เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญและแพงที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ราคาถูกมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน? ครั้งหน้ามาติดตามเรื่องต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่กันต่อครับ
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563