รสชาติมันหวานของเนื้อปลาตะเพียนนี่เอง ทำเอาสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ ได้ชื่อขนานพระนามว่า_พระเจ้าท้ายสระด้วยทรงมุ่งมั่นตกเกี่ยวปลาตะเพียน อยู่ตรงพระที่นั่งบรรยงก์รัตนมาส ท้ายสระริมวังหลวง ปวงอำมาตย์เห็นช่องทางเอาหน้าคลาไคล เร่งออกกฎหมายห้ามราษฎรจับและกินตะเพียนเนื้อหวานแย่งพระเจ้าท้ายสระ อโยธยา ศรีรามเทพนคร!
ด้วยชาวบ้านเคยสัมผัสรับรสเอร็ดตะเพียนมานาน ถึงเวลาเจอกฎอำมาตย์พาลอดสิ้น_ก็เกิดเปนตำนานใบลานสานปลาตะเพียนต่อมา_ชะรอยว่าจะเปนที่รฤกถึงรสโอชากระมัง?
วิชาการจัดการก้างมหากาฬของตะเพียนไทยนี้ มีอยู่สองสามแนว
ทางแรกก็จับบั้งบากเสียให้ถี่ๆ แล้วเอาไปทอดกรอบน้ำมันลอย ใช้ verb คำว่าบั้งบากก็ด้วยว่าคมมีดต้องลงผ่านเนื้อให้ลึกถึงกระดูกก้างฝอยเฉือนขาด ถ้าว่าบั้งคำเดียวกระเดี๋ยวไม่ลึกพอ
ด้วยอำนาจความถี่รอยมีด และอำนาจความคมตัดก้างขาดแต่ปลายังไม่ขาดตัวนั้น ยามเมื่อตั้งน้ำมันร้อนเดือดลวกไหลไปเข้าแผลแล้ว ก้างที่ถูกซอยจนเล็กก็พาลสุกกรอบตามไป_ยกขึ้นมากินกับข้าวใหม่ยางมาก หุงเช็ดน้ำ คู่น้ำปลายำใส่น้ำลูกมะกรูดหมกเถ้าติดไอผิว จะซึ้งถึงคำว่าข้าวใหม่ปลามัน
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 23 ฉบับที่ 3,589 วันที่ 5 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563