คอลัมน์ อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,594 หน้า 10 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม 2563
ที่ประชุมครม.นัดล่าสุด เพิ่งมีมติเกลี่ยงาน แบ่งงานกันใหม่ในส่วนของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ เพื่อรับภารกิจเพิ่มในการไปนั่งกำกับดูแลงานในส่วนของ “กระทรวง” ที่รัฐมนตรีได้ลาออกไปก่อนหน้านี้ ให้กระทรวงเหล่านั้นขับเคลื่อนงานต่อไปได้ไม่สะดุด
ทั้งกระทรวงที่กลุ่ม 4 กุมาร เคยรับผิดชอบอยู่ ได้แก่ กระทรวงการคลัง (อุตตม สาวนายน) กระทรวงพลังงาน (สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (สุวิทย์ เมษิณทรีย์) รวมทั้ง สำนักนายกรัฐมนตรี ที่เดิมมี “เทวัญ ลิปตพัลลภ” นั่งในเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
แต่การทำหน้าที่ รมต.รักษาการฯ นั้น ว่ากันว่าคงไม่เนิ่นนานมากนัก เพราะอย่าลืมช่วงนี้เป็นช่วงที่ภาระงานหลักแต่ละท่านก็หนักหนาเอาการอยู่แล้ว แถมความเข้าใจเรื่องราวที่มาที่ไปในแต่ละกระทรวงต้องใช้เวลาใน การฝังตัวอยู่ในกระทรวงพอสมควร
และที่สำคัญคือ “อำนาจ” ในการเซ็นอนุมัติต่างๆ ก็ไม่ได้มี 100% เหมือนกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ตัวจริงเสียงจริง
จึงไม่แปลกใจ และไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นกับปรากฏการณ์ “เกียร์ว่าง” ของบรรดาข้าราชการบางส่วนเช่นกัน ที่เกาะติดข่าวการ “ปรับครม.” คู่ขนานไปด้วยเช่นกัน
เพราะอย่าลืมว่า รัฐมนตรีใหม่ หมายถึง เจ้ากระทรวงคนใหม่ เจ้านายคนใหม่ ที่จะมาดำเนินนโยบายภายใต้กระทรวงนั้นๆ ฉะนั้นข้าราชการบางส่วนก็อาจจะเพลาๆ งานจากนโยบายของรัฐมนตรีคนเดิม เพื่อรอดูว่า ใครกันนะจะเป็นรมต.คนใหม่ ที่ไม่รู้จะมาสานต่อ หรือรื้อใหม่ทั้งหมด หรือยกเลิกไม่ทำแล้ว ในงานที่ข้าราชการท่านนั้นกำลังทำอยู่
แต่ข้าราชการบางส่วนเหล่านั้นอาจจะลืมไปในจุดหนึ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังอยู่ภายใต้อำนาจพิเศษ ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พรก.ฉุกเฉิน ที่มีศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนนโยบายแทบจะทั้งหมด ไม่ให้สะดุดขาดตอน
ที่เอ่ยถึง ศบค. เพราะ “ปลัดกระทรวง” ทุกกระทรวง นั่งเป็นหัวหน้ากลุ่มงานต่างๆ และคณะกรรมการชุดย่อยๆ อยู่ภายใต้ร่มใหญ่การบริหารของ ศบค. ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งปีกของความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุข
การสั่งการของ นายกฯลุงตู่ ในช่วงสุญญากาศทางการเมืองแบบนี้ จึงยังสามารถมีกลไกพิเศษบัญชาการผ่านปลัดกระทรวง ขับเคลื่อนงานไปยังข้าราชการท่านอื่นๆ ไม่ให้เกียร์ว่าง (มากจนเกินไป) เหมือนกับสุญญากาศการเมืองที่ผ่านมาๆ
ในอีกมิติหนึ่ง ส่วนราชการใด ที่เข็นงานออกมาได้ไม่สะดุดในช่วงรอยต่อที่รอรมต.คนใหม่ อาจจะเข้าตากรรมการ นายกฯลุงตู่ รวมทั้ง ปลัดกระทรวง หรือหัวหน้าส่วนราชการนั้น อาจจะตบรางวัลอย่างงามให้สมกับความตั้งใจ ที่จะมีผลในการแต่งตั้งโยกย้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ในเดือนสิงหาคม-กันยายน ก่อนสิ้นปีงบประมาณ
ตรงกันข้าม ถ้าใครเกียร์ว่าง จนงานของรัฐบาลสะดุด ท่านก็จะมีรางวัลอย่างสาสมเช่นกัน ที่จะรู้ผลใน การแต่งตั้งโยกย้าย…