ไทย “เอาอยู่” โควิดไม่ระบาดรอบ 2

22 ส.ค. 2563 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2563 | 10:18 น.

ไทย “เอาอยู่” โควิดไม่ระบาดรอบ 2 : คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3603 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 23-26 ส.ค.2563 โดย... ว.เชิงดอย

 

ไทย “เอาอยู่” โควิดไม่ระบาดรอบ 2
 

     +++ ทำเอา “แตกตื่น” กันไปพอสมควร เมื่อปรากฏข่าวพบคนไทยติดเชื้อโควิด-19 เข้ารักษาตัวที่ “ร.พ.รามาธิบดี” แต่เมื่อทั้ง นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. รวมถึงผู้แทนคณะแพทย์รพ.รามาธิบดี ออกมาแถลงความจริงและยอมรับว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จริง เป็น “หญิงไทย 2 ราย” พร้อมกับให้รายละเอียดต่าง ๆ ทำให้ “ความตระหนกตกใจ” คลายลงไปได้บ้าง
 

     +++ โดยกรมควบคุมโรคชี้แจงว่า “หญิงไทยรายแรก” ที่ติดเชื้อพบว่าเป็น “ซากเชื้อ” ซึ่งก่อนหน้านี้เคยตรวจพบการติดเชื้อมาก่อน ตั้งแต่ที่อยู่ในสถานที่กักกันของรัฐ ส่วน “หญิงไทยรายที่สอง” ตรวจไม่พบเชื้อตอนที่ยังอยู่ในสถานที่แยกกักของรัฐ 14 วัน แต่ต่อมาตรวจสารพันธุกรรมเชื้อในปริมาณน้อย จึงรอผลตรวจแล็ปยืนยันอีกครั้ง

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

 

"หมอยง"  ชวนผู้หายป่วยโควิด-19 บริจาคพลาสมา ชี้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

"หมอธีระ" เตือนเร่งปลดล็อกเร็ว จุด"โควิด"กลับมาระบาดรุนแรงยิ่งซ้ำเติมศก

     +++ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาอธิบายถึงการพบเชื้อในผู้ที่พ้นจากการกักกันโรคแล้ว 14 วัน มีความเป็นไปได้ คือ 1.ระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่จะเป็น 2-7 วัน อาจพบได้ถึง 14 วัน และอาจจะเป็นไปได้น้อยมากถึง 21 วัน ดังนั้น ในทางปฏิบัติผู้ที่พ้นระยะการกักกันโรคแล้ว 14 วัน มักจะแนะนำให้ไปกักกันที่บ้านต่ออีก 14 วัน เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการป้องกัน การกระจายโรค 2.การตรวจพบเชื้อหลังจาก 14 วันไปแล้ว ก็เป็นไปได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อเกิดขึ้นในช่วง 14 วันที่อยู่ในสถานที่กักกัน ในอดีตเช่นในเรือสำราญ ดังนั้นในสถานที่กักกัน เราจึงเคร่งครัด ไม่ให้มีการพบปะกัน ระหว่างผู้ที่กักกันด้วยกัน หรือบุคคลภายนอก
 

     +++ 3.ผู้ป่วยนั้นมาติดเชื้อในประเทศไทย โอกาสนี้เป็นไปได้น้อยมาก ขณะนี้ไม่พบการติดต่อเกิดขึ้นในประเทศไทยมากว่า 80 วันแล้ว 4.มีความเป็นไปได้ที่ผู้นั้น ติดเชื้อมาจากต่างประเทศหรือป่วยอยู่ต่างประเทศแล้ว และเมื่อมาถึงเมืองไทย เชื้อมีปริมาณน้อย ในบางช่วงก็ตรวจไม่พบ และต่อมา หรือบางช่วง ก็ตรวจพบ อย่างเช่น การระบาดในรอบแรกของเรา เราได้ทำการศึกษาร่วมกับ สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย กทม. พบว่า ก่อนกลับจาก ร.พ.ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว หลังจากนั้นเราติดตามก็ยังมีการพบเชื้อ แต่เชื้อมีปริมาณน้อยมาก ในการติดตามระยะยาวที่เราทำการศึกษา จำนวน 212 ราย พบว่าในช่วง 4-12 สัปดาห์ หลังจากที่มีอาการ และผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว เรายังตรวจพบเชื้อได้ประมาณ 6.6% ของผู้ป่วย เราพบไวรัสได้หลังจากมีอาการ 36-105 วัน แต่ปริมาณไวรัสที่พบน้อยมาก ดังนั้น การพบเชื้อดังกล่าว ผู้ป่วยไม่มีอาการ รวมทั้งการตรวจปริมาณไวรัส ถ้ามีเป็นจำนวนน้อย โอกาสที่จะแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นก็น้อยมากๆ ดังข้อมูลในการระบาดรอบแรก ที่เราได้ทำการศึกษาถึงแม้จะตรวจพบเชื้อ ก็ไม่พบว่าแพร่กระจายไปสู่ผู้ใดเลย

     +++ ด้านภาคเอกชนของไทย สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นกรณีที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในประเทศครั้งแรก ในรอบ 87 วัน โดยแสดงความมั่นใจว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะควบคุมไม่ให้การระบาดแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น และไม่ถึงขั้นต้องล็อกดาวน์กิจกรรมเศรษฐกิจอีก พร้อมระบุว่าในฐานะคณะทำงาน ในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบศ. ที่ประชุมนัดแรกไปแล้ว มั่นใจใน 4 มาตรการเพิ่มเติม ที่ศบศ.อนุมัติ ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ทั้งการขยายสิทธิ์มาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งเบื้องต้นข้อมูลของกระทรวงแรงงาน พบว่ามีตำแหน่งที่สามารถจ้างงานได้อีกประมาณ 7 แสนตำแหน่ง ทั้งจะจัด “จ๊อบ เอ็กซ์โป” ให้ผู้ประกอบการและแรงงาน มาเจอกันง่ายขึ้น เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจนถูกเลิกจ้าง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นที่อยู่ระหว่างขอความคิดเห็นจากภาคเอกชน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ คาดว่าจะมีการพิจารณารายละเอียดในการประชุม ศบศ.นัดต่อไป
 

     +++ ปิดท้าย... ขอแสดงความยินดีกับ ราเมศ รัตยันตรกร ผู้ก่อตั้งบริษัท มาดามแมงโก้ จำกัด ที่คว้าแชมป์ชนะเลิศ นักธุรกิจนวัตกรรม รางวัล NSP INNOVATION AWARDS 2020 จากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือซึ่งถือได้ว่าเป็นรางวัลใหญ่และสำคัญที่สุดทางธุรกิจนวตกรรมของภาคเหนือ  พร้อมทั้งได้เป็นตัวแทนระดับภูมิภาคขึ้นเวทีชิงแชมป์ระดับประเทศต่อไป ซึ่งราเมศ รัตยันตรกร ถือเป็นเกษตรกรผู้ไม่ย่อท้อจากจังหวัดเชียงใหม่ ที่พัฒนาสินค้าเกษตรของไทย ด้วยแนวคิดสินค้าเกษตร 4.0 นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจยกระดับการผลิต ทั้งกระบวนการ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปที่มีคุณภาพ เพิ่มมูลค่า พร้อมโชว์หมัดเด็ดเอาชนะใจกรรมการ  ด้วยแผนดำเนินธุรกิจ สร้างการรับรู้ และทำการตลาดแบบ “Triple O” (3โอ) ซึ่งให้ความหมายถึง Online การทำธุรกิจหลักผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ, OEM การรับผลิตและแปรรูปผลไม้ภายใต้แบรนด์สินค้าของลูกค้า และ Offline หรือการขายหน้าร้านผ่านช่องทางจำหน่ายต่างๆ เช่น ร้านค้า Outlet และพันธมิตรทางธุรกิจ ตอบโจทย์ที่ท้าทายกับสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ในปัจจุบัน และสร้างความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติสูงสุดพร้อมแก้ปัญหาทางธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม...