“ธนาธร จึงรุ่งเรือง” แกนนำคณะก้าวหน้าอาศัยหัวโขน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โจมตีการจัดสรรงบประมาณปี 2564 ของรัฐบาลผ่านสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวนเงิน 287 ล้านบาท ให้กับ “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนว พระราชดำริ”
หากใครได้อ่านข้อความระหว่างบรรทัดทั้งหมดที่ “ธนาธร” นำมากล่าวอ้าง ย่อมทราบดีว่าเป้าหมายที่แท้จริงคือะไร?
“ธนาธร”กล่าวหาว่าการตั้งงบให้กับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เป็นการตั้งงบประมาณที่ซํ้าซ้อนไม่สอดรับกับการบริหารราชการแผ่นดิน
อีกทั้งยังอ้างว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิใช้เงินที่ได้รับจากรัฐไม่หมด มีรายรับมากกว่ารายจ่ายสะสม 1,223 ล้านบาท ใน 4 ปีล่าสุด มูลนิธิมีรายได้เฉลี่ยต่อปี 320 ล้านบาท (เงินสนุบสนุนจากรัฐบวกด้วยดอกเบี้ยรับ ไม่มีรายได้จากการบริจาคหรือจากที่อื่นที่สำคัญ) มีรายจ่ายเฉลี่ยต่อปี 241 ล้านบาท หากนำรายรับที่ใช้ไม่หมดในระยะสิบปี 1,200 ล้านบาทเป็นตัวตั้ง หารด้วยค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 4 ปีหลังสุด 241 ล้านบาทต่อปี จะได้จำนวน 4.9 ปี
การออกมาไล่บี้งบประมาณมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ของ “ธนาธร” ครั้งนี้ ดูประหนึ่งต้องการให้การใช้งบประมาณ ซึ่งมาจากภาษีของประชาชน เป็นไปด้วยความมีประสิทธิภาพและด้วยความเป็นธรรม
แม้ “ธนาธร” จะออกตัวในตอนท้ายว่า โครงการของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ จะมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพหรือไม่ เขาไม่อาจตอบได้เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เพียงพอได้
ทั้งๆ ที่มีข้อมูลมากมายเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธิให้ “ธนาธร” เข้าไปศึกษาก่อนออกมากล่าวหา
โดยเฉพาะผลงานในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้ส่งเสริม บูรณาการ และพัฒนาพื้นที่ให้เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาของประชาชนในชนบท ตามพันธกิจที่มติคณะรัฐมนตรีมอบหมาย คือ จัดการความรู้และส่งเสริมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างเป็นระบบกว้างขวาง จนกระทั่งเป็นแนวทาง การพัฒนาหลักของประเทศทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า
จากการประเมินเบื้องต้นที่น่าสนใจ พบว่าพื้นที่รับประโยชน์จากการบริหารจัดการนํ้าชุมชนตามแนวพระราชดำริ 275,714 ไร่ จากการร่วมกับชุมชนและราชการพัฒนาแหล่งนํ้าและสร้างฝาย 6,259 แห่ง
รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 109 ล้านบาท (เมื่อเริ่มโครงการ ปี 2553) เป็น 2,676 ล้านบาท
รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ สูงกว่าครัวเรือนในพื้นที่ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญ คือ 134,890 บาท (คิดเป็นร้อยละ 64) และผ่านพ้นเส้นความยากจนแล้วร้อยละ 74
เกิดพื้นที่ป่าและป่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นรวม 106,580 ไร่ (จังหวัดน่าน เพชรบุรี และ อุทัยธานี)
การพัฒนาอาชีพทางเลือก ทำให้เกิดกลุ่มกองทุนที่บริหารจัดการโดยชุมชน จำนวน 66 กลุ่ม มีสมาชิก 2,150 ครัวเรือน มีเงินในกองทุนหมุนเวียน 12 ล้านบาท
หาก “ธนาธร” ต้องการทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ โดยไม่มีเจตนาแอบแฝง ผู้เขียนแนะนำให้ธนาธรหาเวลาว่างลงพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบไปพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งมีให้เลือกหลายที่
แต่สำหรับคนที่ต้องการเป็นนักปฏิวัติ นักต่อสู้ทางชนชั้นอย่าง “ธนาธร” ผู้เขียนแนะนำให้ลงไปดูโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบบูรณาการฯ จังหวัดน่าน โดยเฉพาะในพื้นที่ยอดดอย “ภูพยัคฆ์” ที่ในอดีตชาวม้งกับชาวลัวะ ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่สองฝั่งแม่นํ้าน่าน ได้เข้าร่วมกับ พคท. จับอาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐส่วนกลางในยุคสงครามเย็น
หลังพคท.ล่มสลาย สงครามยุติลงเมื่อปลายปี 2525 ภูพยัคฆ์คืนสู่สันติ ชาวลัวะผู้ตํ่าต้อยติดดิน ถูกกดขี่ ไม่ได้รับความเป็นธรรมมากกว่าชนเผ่าอื่น ยิ่งกว่า “คนตกขบวน” จากความยากจนและการขาดโอกาส ต้องเอาชีวิตรอดด้วยการบุกรุกป่า เพื่อการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว จนป่าต้นนํ้าน่าน หัวใจสำคัญของระบบนํ้าในประเทศไทย กลายเป็น “เขาหัวโล้น”
กระทั่งเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2552 มี การเปิดตัวโครงการปิดทองหลังพระฯ ด้วยการน้อมนำหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางปฏิบัติในทุกขั้นตอน
ถึงวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ต้นแบบ พ้นจากระยะ “อยู่รอด” “พอเพียง” จากการมีอาหารเพียงพอ สามารถสร้างรายได้เสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างรายได้อื่นๆ ลดหนี้ได้ มีเงินออม มีผลผลิตที่สร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ และกำลังก้าวเข้าสู่ “ความยั่งยืน” จากความร่วมมือของหน่วยงานภาคีต่างๆ
นาคีมีพิษเพี้ยง สุริโย
เลื้อยบ่ทำเดโช เเช่มช้า
พิษน้อยหยิ่งโยโส เเมงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า อวดอ้างฤทธี
“ธนาธร” ควรกลับไปอ่าน และทำความเข้าใจกับโคลงโลกนิติบทนี้หลายๆ รอบ
“บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว - ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ”