นกกระจิบ กระจาบ พิราบน้อย อีกา พญาเหยี่ยว ย่านหัวลำโพง ริมคลองผดุงกรุงเกษมที่ปกติมิค่อยจะปรองดองกันเท่าไหร่ พากันส่งเสียงร้องระงมให้ผู้คนที่เดินทางผ่านได้สดับรับฟัง...ตุ๊บๆ ตั๊บๆ จุ๊บๆ จั๊บๆ ยังกะมีใครจ้องจะกินตับใคร
นกกา พญาเหยี่ยว ร้องเซ็งแซ่กันเรื่องเดียวคือ การประมูลงานโยธาโครงการรถไฟไทย-จีน วงเงิน 117,914 ล้านบาท ว่ากันว่า เจ้าถิ่นที่คว้างานรถไฟไทยมายาวนานนอนเป็นจรเข้ขวางคลอง ประเภทว่า “ถิ่นของข้า ใครอย่ามาแตะ”
ที่อื้ออึงกันมากในตอนนี้คือการที่ คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มี จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นประธานกรรมการ ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดีด้านที่ราชพัสดุกรมธนารักษ์ อำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินบริษัท เอกชัย ดิสทริบิวชั่นชิสเทม จำกัด ธันวา เลาหศิริวงศ์ ประธานกรรมการตรวจสอบ กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) พินิจ พัวพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท หลักทรัพย์เคที ชีมิโก้ จำกัด เป็นกรรมการ มีมติอันพิลึก...
ประกาศให้ กลุ่มอิตาเลี่ยนไทย ดิเวลล๊อปเม้นท์ ITD ที่จับมือพันธมิตรจีน ชนะประมูลสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในสัญญาที่ 3-1 ช่วง แก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30 กิโลเมตร โดยระบุว่า เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด
นกกา พญาเหยี่ยว ยันอีแร้งที่สังเกตุการณ์ประมูลบอกว่า ราคาที่กลุ่มบริษัท ITD-CREC No.10JV ซึ่งประกอบด้วยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับพันธมิตรจากจีนคือ ซีอาร์อีซี (CREC: China Railway Engineering Corporation) เป็นผู้เสนออยู่ที่ 9,349 ล้านบาท ขณะที่ราคากลางอยู่ที่ 11,386 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางกว่า 2,037 ล้านบาท แต่จุ๊ๆ....มิใช่ราคาที่ต่ำสุดในการประกวดทางอิเลคทรอนิกส์
กลุ่มที่เสนอราคาต่ำสุดคือกลุ่มบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด และพันธมิตรจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งยื่นซองประกวดราคาในนามบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด เป็นผู้ยื่นเสนอราคาต่ำสุด 9,330 ล้านบาท ต่ำกว่า ITD-CREC No.10JV อยู่ 19 ล้านบาท แต่คณะกรรมการคัดเลือกของ ร.ฟ.ท.ได้ตัดสิทธิ์กลุ่มบริษัทนภาก่อสร้าง ด้วยเหตุผลว่า บริษัทนี้ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ เพราะเอกสารการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ไม่ถูกต้องตามทีโออาร์
ผลที่ตามมาคือ กลุ่มบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด ที่ร่วมกับพันธมิตรจากประเทศมาเลเซีย ในนามบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ได้ยื่นอุทธรณ์ผลการประมูลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน ที่มี “ภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข” อธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฎิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน
หนังสืออุทธรณ์ระบุว่า ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้างว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน ตามเอกสารการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ และขอบเขตของงานทีโออาร์ รวมถึงเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ซึ่งกรณีนี้สอดคล้องกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการที่ได้พิจารณาอุทธรณ์ประกวดราคาจ้างก่อสร้าง โครงการความร่วมมือแห่งราชอาณาจักรไทย และ รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในโครงการ พัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา) สัญญาที่ 3-4 งานโยธา ช่วงลำตะคอง-สีคิ้วและช่วงกุดจิก-โคกกรวด ในประเด็นเรื่องคุณสมบัติของผู้อุทธรณ์ ว่าผู้อุทธรณ์ มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วน ตามเอกสารการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์และทีโออาร์ เมื่อผู้อุทธรณ์ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดในโครงการนี้ ผู้อุทธรณ์จึงได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ชนะการเสนอราคา
ขณะที่ รฟท.พิจารณาและเห็นว่า บริษัทบีพีเอ็นพี จำกัด (ผู้อุทธรณ์) ได้ยื่นข้อเสนอในนามกิจการร่วมค้า และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ โดยการที่นายชาตรี เขมาวชิรา เป็นบุคคลธรรมดา และเป็นสมาชิกรวมตัวเข้าก่อตั้งบริษัท บีพีเอ็นพีจำกัด จึงมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ตามเงื่อนไข เอกสารการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ จึงตัดสิทธิ์ผู้อุทธรณ์ แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ไม่เห็นด้วย
ร.ฟ.ท.เห็นว่า กรณีผู้อุทธรณ์ได้ยื่นหนังสือรับรองเสนอผลงาน ตามเงื่อนไขเอกสารการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์และทีโออาร์ ซึ่งมีการพิจารณาประเด็นนี้เห็นว่า. กำหนดให้กิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ ให้แล้วเสร็จก่อนวันยื่นเอกสารการประกวดราคา และแนบเอกสารการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่มาด้วย โดยต้องมีผลงานก่อสร้างทางรถไฟและปลงานก่อสร้างงานโยธาที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท และต้องมีมูลค่างานก่อสร้างในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 1,106 ล้านบาท ซึ่งรฟท.พิจารณาเห็นแล้วว่าบริษัทฯ เป็นนิติบุคคลใหม่จึงยังไม่มีผลงานในการยื่นข้อเสนอ และหนังสือรับรองผลงานเป็นหนังสือรับรอง ของนิติบุคคลอื่นที่แยกต่างหาก และไม่ได้ระบุมูลค่าที่ออกโดยของเจ้าของงาน รับรองแก่ผู้รับจ้างช่วง ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดจึงตัดสิทธิ์ผู้อุทธรณ์
ปรากฎว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่เห็นด้วย และตัดสินว่า ร.ฟ.ท.ตัดสิทธิ์ไม่ได้ เนื่องจากเห็นว่า การระบุชื่อหนังสือรับรองของผลงานนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยได้ยกเว้นผู้อุทธรณ์ เป็นกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่สามารถนำผลงานของผู้ร่วมค้า ใช้เป็นผลงานการยื่นประกวดราคาได้
ขณะเดียวกันหนังสือรับรองผลงานโครงการเป็นบริษัทที่ก่อตั้ง ที่ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลังของรัฐบาลประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ที่ได้ตั้งบริษัทดังกล่าวดำเนินการทั้งหมด พร้อมแนบเอกสารมูลค่าโครงการ 218 ล้านริงกิตมาเลเซีย โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทย 1,788 ล้านบาท ซึ่งหนังสือรับรองของผู้อุทธรณ์เป็นไปตามเงื่อนไขเอกสารการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้อุทธรณ์ได้ยื่นหนังสือรับรองต่อบริษัท Prasarana Malaysia Berhad โดยรับรองว่าผู้อุทธรณ์ เป็นผู้รับจ้างช่วงและดำเนินโครงการเสร็จเรียบร้อย
กรณีนี้หนังสือรับรองจึงเป็นผลงานที่เชื่อถือได้
ข้ออ้างของผู้อุทธรณ์คือบริษัท บีพีเอ็นพีจำกัด ฟังขึ้น และมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างเป็นนัยสำคัญจึงเห็นควรให้ร.ฟ.ท.กลับไปดำเนินการขั้นตอนการพิจารณาเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไปตามมาตรา 119 วรรค2 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพ. ศ. 2560 และให้แจ้งผลการอุทธรณ์ของคณะกรรมการให้ผู้อุทธรณ์ทราบ
พญาเหยี่ยวแปลไทยเป็นไทยว่า คณะกรรมการอุทธรณ์ที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธานยืนยันว่า กลุ่มบริษัท นภาก่อสร้างชนะการประมูลสัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า เฉือนกลุ่มอิตาเลี่ยนไทย ดิเวลล๊อปเม้นท์ไปแบบเฉียดปลายจมูก
คำตัดสินนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ผลประกฎว่า ทางกลุ่มอิตาเลี่ยนไทย ดิเวลล๊อปเม้นท์ และทางเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่ง ซึ่ง นกกา พญาแร้ง ร้องเป็นเสียงเดียวกัน “เป็นทีมเดียวกัน” ร้องคัดค้าน
ทางกลุ่ม บริษัท ITD-CREC No.10JV โดยนายพิพัฒน์ โลราช ผู้รับมอบอำนาจ ทำหนังสือแจ้งขอคุ้มครองสิทธิ์ของกิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10JV และขอความอนุเคราะห์จากร.ฟ.ท.ถึง นิรุฒิ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. สวนหมัดมติคณะกรรมการอุทธรณ์
หนังสือดังกล่าวร้อนแรงยิ่ง ระบุว่า ผลการวินิจฉัยของคระกรรมการอุทธรณ์ฯข้างต้นนั้น เป็นผลมาจากการดำเนินงานที่ส่อไปในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย...อัยหยา...
หนังสือดังกล่าวระบุว่า คำตัดสินแบบนี้มีผลต่อข้าพเจ้าโดยตรง หากร.ฟ.ท.ดำเนินการตามผลวินิจฉัยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อข้าพเจ้าอย่างร้ายแรงอันไม่อาจกลับมาเป็นดังเดิมได้
จึงขอให้คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.อละอนุกรรมการของร.ฟ.ท.ทุกคณะที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอีกกา พญาแร้งบอกว่านอกจากบอร์ด 7-8 คนแล้ว ยังมีคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาทางอิเลคทรอนิกส์อีก 5 ราย ประกอบด้วย “เอก สิทธิเวคิน” ประธานกรรมการ สุรณเดช ธูปะวิโรจน์ กำพล บุญชม สินีนาถ เสียงเสนาะ สมเกียรติ ทองเกิด เป็นกรรมการ ให้ระงับการดำเนินการตามผลของการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ รวมทั้งกำหนดวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ของข้าพเจ้าที่ได้รับจากคำวินิจฉัย...555
ขณะเดียวกันทาง ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ITD-CREC No.10JV ระบุว่า จะฟ้องร้องทางคดีปกครองกับศาลปกครองกลาง ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนคำอุทรณ์...มันพะยะค่ะ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้อวเรียน กรมบัญชีกลาง รายหนึ่งบอกว่า งานนี้ยุ่ง เพราะเสือเจ้าถิ่นบอกว่า คำตัดสินของคุณ กระทบกับผลประโยชน์ของข้าพเจ้า คุณอย่าทำให้เสียประโยชน์ ข้าพเจ้าถูกทุกอย่าง การพิจารณาคำอุทธรณ์ของกรมบัญชีกลางที่ไม่เกี่ยวกับการประมูลใดๆ แต่ดูตามกฎกติการการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ ผิด...สลบ...ดีกว่า
กติกา ผู้คนในบ้านเมืองไทยพิลึกพิลั่นมั้ยขอรับ!