ศูนย์กลางยางพาราโลก: ทำไม? อย่างไร? ชาวสวนยางได้อะไร?

23 ธ.ค. 2563 | 04:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2563 | 11:31 น.

ศูนย์กลางยางพาราโลก: ทำไม? อย่างไร? ชาวสวนยางได้อะไร? : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,638 หน้า 5 วันที่ 24 - 26 ธันวาคม 2563

 

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาในหัวข้อเดียวกันกับบทความนี้ ที่จัดขึ้นโดยการยางแห่งประเทศไทย ณ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช 

 

แน่นอนว่ายางพาราเป็นอีกหนึ่งภาคการเกษตรและต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาลและกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคใต้ ดังนั้นหากจะพัฒนาไทยให้กลายเป็นจุดศูนย์กลางยางพาราโลก คงต้องคำนึงถึงสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมยางพาราของไทยเสียก่อน โดยข้อมูลเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของไทยในอุตสาหกรรมต้นนํ้าหรือชาวสวนยางไทย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่เพาะปลูกไม่ถึง 50 ไร่ แต่จะเห็นได้ว่ารายได้ต่อพื้นที่ที่เท่ากันไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรายใหญ่ รายกลาง หรือ รายย่อย มีประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ในระดับพอๆ กัน

 

ศูนย์กลางยางพาราโลก: ทำไม? อย่างไร? ชาวสวนยางได้อะไร?

 

 

เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตใน 2 ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของยางพาราในตลาดโลก เราพบว่าไทยมีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด จะเห็นได้จากผลผลิตยางพาราต่อไร่ของไทยที่ระดับ 240 Kg/ไร่ ในขณะที่ อินโดนีเซียและมาเลเซียผลผลิตอยู่ที่ระดับ 158  และ 133 Kg/ไร่ ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ตามพื้นที่การผลิตของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณเหลือ 22 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ที่กรีดได้ 20 ล้านไร่ และมีพื้นที่ยังไม่เปิดกรีดยางลดลงอย่างมีนัยสำคัญพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นใน เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว จีนตอนใต้ และอินเดีย 

 

ปัจจุบันมูลค่าการแปรรูปยางพาราเบื้องต้นของไทยอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท โดย 74% อยู่ในรูปของยางแผ่นดิบ (146,952 ล้านบาท) 15% ผลิตนํ้ายางสด (29,788 ล้านบาท) และ 11% เป็นยางก้อนถ้วย (21,884 ล้านบาท)

 

นํ้ายางสดส่วนใหญ่กว่า 60% จะถูกแปรรูปเป็นนํ้ายางข้น (37,046 ล้านบาท) เพื่อส่งออกไปยัง มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม สหรัฐ และนำไปผลิตเป็น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ด้ายยาง ยางลบ ในขณะที่อีก 40% จะนำไปผลิตเป็นยางแท่ง ซึ่งมีมาตรฐาน (Standard Thai Rubber: STR) ขนาด STR5/ STR5L/ STRXL และ ยาง Compound (81,407 ล้านบาท) โดยตลาดส่งออกสำคัญของยางแท่งคือ จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมัน เกาหลีใต้ ตุรกี เพื่อนำไปผลิตเป็น ยางล้อ ท่อยาง ยางจุกนม เส้นด้ายยาง เทปกาว ชิ้นส่วนรองเท้า ซีลยาง สายพาน ยางรองคอสะพาน

 

 

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงยุทธศาสตร์ และแนวนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางของประเทศ ไทย ไม่ว่าจะเป็น แผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมยางไทย (2555-2574), ยุทธศาสตร์ ยางพารา 20 ปี (2560-2579), ยุทธศาสตร์ วิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย (2559-2563) และแผนวิสาหกิจการยางแห่งประเทศ ไทย (2560-2564) จะพบว่า แนวทางการเดินหน้าอุตสาหกรรมยางพาราของไทยยังมีข้อพึงระวังดังนี้

 

• ยุทธศาสตร์ทั้งหมดเน้นการพัฒนาเฉพาะด้านอุปทาน อาทิ การพัฒนาคน พัฒนาสายพันธุ์ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต แต่ไม่ได้มีการทำนโยบายหรือยุทธศาสตร์ด้านอุปสงค์ ทั้งที่ในความเป็นจริงสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจคือ การเข้าใจ สาระสำคัญของข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ (Intelligence) และความต้องการแท้ จริง (Insight) ของผู้ซื้อว่า พวกเขาต้องการผลิตภัณฑ์อย่างไร เพื่อจะได้ผลิตสินค้าในรูปแบบที่ลูกค้าต้องการ

 

• เป้าหมายการดำเนินนโยบายยังมีความขัดแย้งกัน อาทิ ไทยอยากจะเป็นจุดศูนย์กลางการผลิต แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการลดพื้นที่การเพาะปลูก; ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นแทนจำนวนไร่เพาะปลูกที่ลดลง แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่มีการวางแผนในการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง, การส่งเสริมให้ส่งออก แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งที่ผลผลิตคงที่ หรือมีแนวโน้มลดลง ฯลฯ

ศูนย์กลางยางพาราโลก: ทำไม? อย่างไร? ชาวสวนยางได้อะไร?

 

 

• การวางยุทธศาสตร์ยังไม่ได้คำนึงถึงการคาดการณ์อนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัตร และยังไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยภายนอกประเทศที่เหนือการควบคุม อาทิ โควิด-19 ทำให้ความต้องการยางเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ราคาสูงขึ้น แล้วหลังจากการแพร่ระบาดยุติลงจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งยังไม่ได้มีแผนรองรับ, เพดานราคายางธรรมชาติอย่างสูงที่สุดก็ยังขึ้นกับราคา นํ้ามันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลี่ยมที่จะใช้ผลิตยางสังเคราะห์ ซึ่งราคาลดลงทุกวัน และยางสังเคราะห์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดแทนกันก็มีคุณสมบัติดีขึ้น ในราคาที่ตํ่าลง, การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน (Disruptive Technology)

 

อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานทางเลือก ที่ในอนาคตจะใช้ชิ้นส่วนยานยนต์จากยาง อาทิ ท่อยาง ยางรองแท่นเครื่องลดลง, ระบบโลจิสติกส์ที่จะเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะระบบรางที่จะเชื่อมโยงผ่านจีน ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องพัฒนา ท่าเรือในพื้นที่ภาคใต้ อาทิ ท่าเรือสงขลา, นโยบายของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียที่ทำนโยบายเน้นการเป็นจุดศูนย์กลางการค้ายาง (หาตลาดส่งออก, เพิ่มประเภทผลผลิต, ตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน) วางมาเลเซียเป็นปลายนํ้าให้ไทย และอินโดนีเซียเป็นต้นนํ้า

 

 

 

 

ดังนั้นหากประเทศไทยต้องการเป็นศูนย์กลางยางพาราโลก ยังคงมีอีกหลากหลายมิติที่ต้องคำนึงถึง อาทิ

 

• การเปลี่ยนทัศนคติของผู้เกี่ยวข้องจาก การทำมาหากิน เป็นการทำมาค้าขาย เพราะถ้าจะค้าขาย นั่นแปลว่าคุณต้องสนับสนุนทั้งส่งออก ทั้งนำเข้า ต้องทำให้ตัวเองเป็นตลาดการค้า ไม่ใช่กีดกันการค้าเพื่อปกป้อง

 

• กำหนดเป้าหมายชัดเจนในการวางยุทธศาสตร์ และนโยบาย โดยต้องตอบคำถามพื้นฐาน อาทิ ผลิตอะไร? ผลิตอย่างไร? ขายใคร? ใครรับผิดชอบ? งบประมาณ? ภาวะผู้นำ?

 

• รู้จักหยุด และเดินหน้าในสิ่งแวดล้อมยุค Disruptive ที่เปลี่ยนแปลงฉับพลัน บางเรื่อง บางอุตสาหกรรมอาจจะต้องหยุด แล้วเรามีแผนรองรับหรือยัง

 

• วางยุทธศาสตร์และนโยบายที่เน้นให้อุปสงค์เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อ ตอบให้ได้ว่าจะผลิตอะไร อย่างไร ไม่ใช่เน้นแต่เฉพาะนโยบายด้านอุปทาน

 

• สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และโครงสร้างพื้นฐาน (Hardware อาทิ ระบบราง ท่าเรือแห้ง, Software อาทิ ตลาดซื้อขายล่วงหน้า การเงินการธนาคาร ภาษีศุลกากร และPeopleware)

 

• เร่งเจรจาเขตการค้าเสรีใหม่ๆ เพื่อสร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการ

 

• ปฏิรูปกฎระเบียบ กฎหมาย กฎเกณฑ์ ทุกระดับ ต้องกระจายการตัดสินใจให้คนในพื้นที่ และไม่ขึ้นกับดุลพินิจ

 

ถ้าทำให้ตามนี้เราจะสามารถตอบได้ว่า ศูนย์กลางยางพาราโลก: ทำไม? อย่างไร? ชาวสวนยางได้อะไร?