ชะลอล็อกดาวน์ การตัดสินใจที่ไม่เท่

24 ธ.ค. 2563 | 11:40 น.

ชะลอล็อกดาวน์ การตัดสินใจที่ไม่เท่ : คอลัมน์อยู่บนภู หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3639 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 27-30 ธ.ค.2563 โดย...กระบี่เดียวดาย

 

“ที่เสียใจ คือช่วงเวลาปีใหม่ ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนมีความสุข แต่กลับต้องเพิ่มความเข้มงวดในระดับสูงสุด ที่สำคัญมีแรงงานต่างด้าวกระจายทั่วประเทศ ทั้งสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานเหล่านี้ ก็เอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย จึงต้องเฝ้าระวังและตรวจตราอย่างเข้มข้น และในสถานการณ์เช่นนี้ ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจตกต่ำ จะต้องถูกพิจารณาควบคู่กับการรักษาความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญด้วย”
 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (ศบค.)  นัดล่าสุด และไม่มีการประกาศ “ล็อกดาวน์” ทั่วประเทศ แต่จัดโซนนิ่งแบ่งสีเฝ้าระวังแทน โดยแบ่งพื้นที่แต่ละจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงไปถึงจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำ
 

สำทับด้วยการปลอบขวัญประชาชน ไม่อยากให้ทุกคนตื่นตระหนก คราวก่อนที่มีการแพร่ระบาด ก็สามารถทำทุกอย่างให้สงบลงในระดับที่น่าพอใจ มาคราวนี้เกิดมาอีก ตราบใดที่โลกยังแก้ปัญหาตรงนี้ไม่ได้ วัคซีนยังไม่มี มันก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมาอีก แต่เมื่อเกิดแล้ว ความพร้อมของเราพร้อมหรือไม่ ทั้งแพทย์ พยาบาล ระบบการคัดกรอง มีครบ และต้องดูวัคซีนมาแล้วต้องจัดการอย่างไร แต่ตรงนี้เราต้องอยู่กับโควิดไประยะหนึ่งก่อน

“ต้องประคองตัวไปให้ได้ รัฐบาลต้องดูแลเรื่องเศรษฐกิจด้วย หลายคนก็รอว่า จะล็อกดาวน์ทั้งประเทศหรือเปล่า เราต้องดูความรุนแรงของพื้นที่ ของกิจกรรมที่เกิดขึ้น”
 

น่าจะเป็นการประเมินและดำเนินมาตรการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยยึดโยงประเด็นเศรษฐกิจเป็นด้านหลัก และยังมั่นใจว่ากลไกท้องถิ่นเข้มแข็งในการคัดกรองและจัดการโรคไวรัสอันตรายนี้
 

แต่หากพิจารณาจากข้อเสนอหรือแนวคิดของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาบอกว่า โดยทั่วไปโรคที่รุนแรงมากจะไม่ระบาดใหญ่ หรือกว้าง เช่น อีโบลา เสียชีวิตกว่าครึ่ง ผู้ป่วยมีอาการมาก ไม่สามารถเดินทางเคลื่อนย้ายไปได้ไกล โอกาสจะขึ้นเครื่องบินไปไกล หรือการควบคุมโรคจะง่าย
 

โรคที่มีความรุนแรงน้อย อย่างโควิด-19 พบว่ามีถึงร้อยละ 80 มีอาการน้อย หรือ ไม่มีอาการ มีอาการมากที่ต้องนอนโรงพยาบาล ประมาณ 20% และขั้นวิกฤติ 3-5% การที่มีผู้ป่วยอาการน้อย ไม่มีอาการ จำนวนมาก โดยเฉพาะในวัยแรงงาน ทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างเกิดขึ้นได้ เพราะกว่าจะรู้ว่ามีผู้ป่วยแสดงว่ามีผู้ที่ไม่มีอาการติดเชื้อไปแล้วจำนวนมาก และมีการเดินทางไปที่อื่นอย่างรวดเร็ว
 

ความสำคัญต้องเปิดเกมรุก ค้นหาอย่างรวดเร็ว ในกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีอาการ และการตรวจจะต้องใช้วิธีการที่ไว ในการค้นหา เช่นใน state quarantine จะเห็นว่า ผู้ที่สามารถเดินทางได้ ตรวจพบได้อยู่เสมอ (0.8%)
 

เมื่อโรคได้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต้องควบคุมการกระจายออกไป ด้วยการติดตาม และการตรวจวินิจฉัย กลุ่มเสี่ยงอย่างรวดเร็ว 
 

จากถ้อยแถลงของ หมอยงจะเห็นว่า มีผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ไม่แสดงอาการจำนวนมาก ที่ยังไม่มีการตรวจพบ


ที่สำคัญนายกฯ ต้องรู้ว่าโรคนี้ไม่ได้เพาะเชื้อเกิดขึ้นเอง โรคจะไม่กระจายไม่แพร่ระบาด หากไม่มีคนเป็นพาหะในการนำเชื้อโรคไป
 

การตัดสินใจชะลอการ “ล็อกดาวน์” หรือรอดูสถานการณ์ หรือแบ่งโซนสี ดูเหมือนจะไม่เท่มากนัก หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเลวร้ายลงไปอีก  
 

การยังปล่อยให้คนเดินทางข้ามจังหวัดช่วงเทศกาลปีใหม่ สุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะเป็นเหตุให้เชื้อโรคแพร่กระจายลุกลามจนเอาไม่อยู่
 

แน่นอนเศรษฐกิจก็สำคัญ การท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะพลิกฟื้นขึ้นมาได้ในบางภาคก็สำคัญ
 

แต่การรักษาชีวิตคนสำคัญยิ่งกว่า เพราะไวรัสอันตรายนี้ หากจับลงในกลุ่มเสี่ยง ผู้เสี่ยงอายุ กลุ่มที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว มีโอกาสเสียชีวิตสูง
 

เมื่อนายกฯ และศบค.ตัดสินใจเช่นนี้
 

ประชาชนก็ต้องดูแลตัวเอง การ์ดไม่ตก สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้านทุกครั้ง เลี่ยงไปในสถานที่ชุมนุมชน หมั่นล้างมือ หรือเรียกว่าปฏิบัติการล็อกดาวน์ตัวเอง
 

สถานการณ์แบบนี้ อาจต้องยอมละทิ้งความสุขของตัวเองลงไปชั่วคราว ในการท่องเที่ยวเดินทาง ปาร์ตี้พบปะเพื่อนฝูง ญาติมิตร
 

อย่างไรก็ดี ได้แต่หวังว่า การทำงานของทีมแพทย์ที่เข้มแข็ง จะช่วยสกัดยับยั้ง เคลียร์คัตตัดตอนให้เร็ว สอบสวนหาผู้ติดเชื้อให้เร็ว นำเข้าสู่ระบบการกักกันรักษาให้เร็ว
 

ทุกฝ่ายต้องส่งกำลังใจให้ทีมแพทย์และพยาบาล นักรบเสื้อกาวน์ผู้เสียสละต่อสู้กับมหันตภัยไวรัสมรณะตัวนี้
 

การต่อสู้ของพวกเขา ทำไปเพื่อให้พวกเรากลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติโดยเร็ว!!!