ส่งออกสินค้าไทย เตรียมรับมือไบเดน

23 ม.ค. 2564 | 00:30 น.

ส่งออกสินค้าไทย เตรียมรับมือไบเดน : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3647 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 24-27 ม.ค.2564

เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการไปแล้วของ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 46 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 ซึ่งทั่วโลกต่างจับตานโยบายเร่งด่วนสำคัญในช่วง 100 วันแรก ที่มีความชัดเจนออกมาว่าไบเดน จะเร่งแก้ไขความเสียหายร้ายแรงในปัจจุบัน ควบคู่กับการขับเคลื่อนสหรัฐอเมริกา

 

นโยบาย 4 ประเด็นหลัก ที่ไบเดนหยิบยกมา เป็นเรื่องของ 1.การแก้วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมและจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยการลงนามคำสั่งประธานาธิบดี เพิ่มการทดสอบการคติดเชื้อและการใช้มาตรการบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่หน่วยงานรัฐและระหว่างการเดินทางข้ามรัฐ และยังมีแผนอัดงบประมาณ 1.9 ล้านล้าน

 

2.การแก้วิกฤติเศรษฐกิจ ที่ให้ภาครัฐเพิ่มการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการภายในประเทศ การให้ชำระเงินกู้เพื่อการศึกษาพรอมทั้งดอกเบี้ย การเปิดทำการสถานศึกษาและภาคธุรกิจ และยังมีแผนอัดงบประมาณ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเยียวยาจากสถานารณ์โควิด-19 ด้วย

 

3.วิกฤติสิ่งแวดล้อม ที่ไบเดน จะกลับเข้ามาเป็นภาคีของความตกลงปารีส และเร่งแก้ไขปัญหาด้านสภาพแวดล้อมภายใต้กรอบความคิดทางวิทยาศาสตร์

 

4.วิกฤติด้านความเท่าเทียมทางชาติพันธุ์ เช่น การยกเลิกนโยบายปิดกั้นผู้อพยพจากบางประเทศมุสลิม การสนับสนุนกลุ่มคนผิวสีและกลุ่มคนด้อยโอกาสอื่นๆ เป็นต้น

 นโยบายต่างๆ นี้ หากมาพิจารณาดู แง่ดีที่จะส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของโลก จากการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องที่ประเมินว่าในปี 2564 จะขยายตัวที่ 3.5%

รวมถึงมาตรการระงับการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา จะสร้างโอกาสผลักดันการส่งออกสินค้าของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับการป้องกันโรค รวมถึงสินค้าอาหาร สินค้าที่เป็นกลุ่มสนับสนุนการทำงานที่บ้าน เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน สินค้าไลฟ์สไตล์ เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้านและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นของบริษัทสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายของไบเดน ที่จะส่งผลกระทบต่อไทย ก็ยังมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะมาตรการเพิ่มการจัดซื้อจัดจ้างและบริการภายในประเทศเพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยประเภทเหล็ก อะลูมิเนียม และวัตถุดิบสำคัญ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าราว 943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วน 21.44 % ของการส่งออกในช่วงปีที่ผ่านมา

 

อีกทั้ง การกลับเข้าสู่การเป็นสมาชิกความตกลงปารีสของสหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ จะสร้างแรงกดดันต่อสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปของไทย ซึ่งเป็นสินค้าอันดับ 6 ที่ส่งไปสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนของการส่งออกปีก่อนราว 6 % และอาจเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคเอกชนตื่นตัวที่จะกำหนดเงื่อนไขและมาตรฐานของสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

สิ่งที่ไทยจะต้องเตรียมตัวในขณะนี้ จะเป็นเรื่องของเงื่อนไขการเจรจาทางการค้าที่จะเกิดขึ้นภายใต้กติกาและพหุภาคีต่างๆ เพื่อลดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชนและแรงงาน รวมถึงการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา พฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่จะได้รับผลกระทบจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง และทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยด้วย