หากดูจากเงื่อนไขการจ่ายเงินเยียวยาประกันสังคมมาตรา 33 โครงการ “ม.33 เรารักกัน” เบื้องต้นรัฐบาลกำหนดไว้ 2 ข้อคือ 1. มีสัญชาติไทย อายุไม่ตํ่ากว่า 18 ปีบริบูรณ์ และ 2. มีเงินฝากในธนาคารไม่เกิน 500,000 บาท นั่นหมายความว่าผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่จะได้รับการช่วยเหลือ ส่วนใหญ่จะเป็นคนชั้นกลาง ที่มักจะตกขบวนรถไฟ ไม่เคยได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐบาลมากนัก
ทั้งๆ ที่กลุ่มคนชั้นกลางเหล่านี้ เป็น กลุ่มหลักที่จ่ายภาษีให้กับรัฐบาล ทั้งภาษีทางตรงและทางอ้อม
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อดูจากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมลํ้าปี 2562 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังตอกยํ้าความเหลื่อมลํ้าชัดเจนว่า คนชั้นกลางที่เป็นผู้ยื่นภาษีส่วนใหญ่ ที่มีเงินได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี มีสัดส่วนสูงถึง 83.9% ของผู้ยื่นภาษีทั้งหมด
แต่กลับเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิหักลดหย่อนภาษีน้อยมาก สะท้อนจากส่วนแบ่งเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย 46.5% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด และเงินได้สุทธิเพียง 38.4% ของรายได้สุทธิในฐานภาษีทั้งหมด
ขณะที่กลุ่มคนรวยที่สุดประมาณ 75,899 ราย มีส่วนแบ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 12.8% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด และมีส่วนแบ่งเงินได้สุทธิอยู่ที่ 16.7% ของรายได้สุทธิในฐานภาษีทั้งหมด
กลุ่มที่ใช้สิทธิประโยชน์จาการหักค่าใช้จ่ายที่มีสัดส่วนมากกว่า 50% ของเงินได้ พึงประเมิน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้ 15 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป
ภายหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ออกมาหลายด้าน
เช่น การใช้เงินจากกองทุนประกันสังคม 62% ในการช่วยเหลือแรงงานกว่า 9 แสนคน วงเงิน 3 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ก็เป็นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเฉพาะกลุ่ม จากคำสั่งปิดกิจการของคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด
ขณะที่การปรับลดการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เหลือร้อยละ 0.5% ตั้งแต่ ก.พ.-มี.ค. 2564 ก็เป็นเพียงมาตรการที่ออกมาบรรเทาค่าใช้จ่ายของลูกจ้างเท่านั้น
การออกมาตรการเยียวยาโควิดระลอกใหม่ ภายใต้โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ของรัฐบาล โดยกำหนดแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือ คนละ 4,000 บาท พร้อมตัดประเด็นการกำหนดเพดานเงินเดือนต่อปีไม่เกิน 3 แสนบาทออก จึงนับเป็นขบวนรถไฟเยียวยา คนชั้นกลาง ผู้ที่ไม่ค่อยได้รับประโยชน์อะไรจากมาตรการของรัฐบาล
แต่แหล่งเงินที่จะใช้ในการช่วยเหลือในครั้งนี้ จะเป็นอีกโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล เพราะต้องไม่ลืมว่าเงินในกองทุนประกันสังคมนั้น เป็นเงินออมของลูกจ้างเองส่วนหนึ่ง
หากนำเงินจากกองทุนประกันสังคมมาจ่ายให้กับลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 คนละ 4,000 บาท ต้องใช้เงินสูงถึง 40,000 ล้านบาท ซึ่งอาจกระทบกับฐานะของกองทุนในระยะยาว
การให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ จึงอาจจำเป็นต้องดึงเงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงินมาจ่ายเยียวยา โครงการ “ม.33 เรารักกัน” เพิ่มเติม เพื่อให้ขบวนรถไฟเยียวยา คนชั้นกลาง ในครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะกองทุนในระยะยาว
ที่มา: คอลัมน์ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,651 หน้า 10 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ 2564