วิกฤติในเมียนมา คือโอกาสของพ่อค้าไทย

29 มี.ค. 2564 | 02:05 น.

วิกฤติในเมียนมา คือโอกาสของพ่อค้าไทย : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ที่ผ่านมา ช่วงเย็นระหว่างที่ผมกำลังนั่งเขียนบทความเพื่อนำให้ส่งสำนักพิมพ์อยู่ ก็ได้รับโทรศัพพ์จากท่านผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้ากระทรวงพานิชย์ ณ กรุงย่างกุ้ง ท่านได้กรุณาโทรเข้ามาคุยให้ข้อมูลต่างๆของประเทศเมียนมาในปัจจุบัน ในช่วงหนึ่งของการสนทนา ท่านได้พูดคำหนึ่งว่า “อันที่จริงความรุนแรงที่เกิดจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมีการประท้วงกันในวันนี้ อาจจะทำให้ประเทศเมียนมาต้องถดถอยหลังไปหลายปี แต่ถ้าจะมองให้ดีๆ แม้จะเป็นวิกฤตการณ์ที่หนักหนาสาหัสพอควร แต่อาจจะเป็นโอกาสของพ่อค้าไทยก็เป็นได้” ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับท่านเป็นอย่างยิ่งครับ

เราต้องยอมรับความจริงว่า วันนี้เหตุการณ์ประท้วงที่ประเทศเมียนมา แม้จะบอกว่าเป็นการประท้วงด้วยอาริยะขัดขืน แต่ด้วยความเป็นจริงแล้ว ก็มีการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้นในทุกครั้งไป เราไม่สามารถไปกล่าวโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ เพราะถ้าจะมองดูจากภาพบน Facebook หรือใน YouTube ทุกอย่างมันฟ้องด้วยภาพอย่างชัดเจนครับ แต่เราเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยที่ทำมาหากินกับประชาชนในประเทศเขา เราไม่สามารถไปพูดเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เด็ดขาด ดังนั้นผลกระทบที่ได้รับต่อธุรกิจของคนไทยที่อยู่ในประเทศเมียนมา เราได้รับมาอย่างเต็มๆครับ

วันนี้ทุกอย่างในตลาดหยุดนิ่ง ทำมาค้าขายไม่ได้เลย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นที่นั่น กลับผุดขึ้นมาเสมือนหนึ่งดอกเห็ดที่ได้เจอน้ำฝน ทำให้เราต้องแบกรับภาระที่ต้องแบกบนบ่าที่แสนจะหนักอึ้งทีเดียว ดังนั้นผมเองในหมวกของพ่อค้าที่มีบริษัทอยู่ที่นั่น ก็ได้แต่ทำใจครับ ส่วนในหมวกของประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ที่ผ่านมาผมก็พยายามที่จะช่วยภาครัฐในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย ในการเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมามาโดยตลอด ดังนั้นผมจะมองเห็นความกระตือรือล้นในการเข้าไปทำธุรกิจที่ต่างประเทศ หรือเรียกว่า “Go Inter” ของนักรบการค้า-การลงทุนไทยตลอดเวลา แต่พอเกิดการประท้วงเข้าขั้นวิกฤติเช่นนี้ เราต้องยอมรับความจริงว่า นักธุรกิจทุกคนต้อง “ขยาด”กับรัฐบาลเมียนมาอย่างแน่นอน

 

แต่สิ่งที่ท่านผอ.ดร.ธนวุฒิ ได้กล่าวกับผม  ผมเห็นด้วยกับท่านร้อยเปอร์เซนต์เลยครับ ว่าหรือนี่จะเป็นโอกาสทองของพ่อค้าไทย ? เพราะผมเองได้แจ้งเกิดที่ประเทศเมียนมา สามารถกล่าวได้ว่าเกิดในยุคของวิกฤติเช่นกัน นั่นคือการเข้าไปทำธุรกิจในยุคปีค.ศ. 1990  หลังจากเกิดเหตุการณ์ 8888 ในปี1988 ได้ไม่นาน ฝุ่นของการปราบปรามยังคงตลบอบอวลอยู่ไม่ขาด แต่ผมก็สามารถยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้ครับ

ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ จะทำให้ประเทศที่อยู่ห่างไกลจากประเทศเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งมังค่า หรือชนชาติผิวสีเหลืองอื่นๆอีกหลายชาติ คงจะต้องเข็ดขยาดไม่กล้าเข้าไปลงทุนในเมียนมาเป็นแน่แท้ แต่เรามีพรมแดนติดกับเขายาวถึงสองพันกว่ากิโลเมตร เรามีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน เรานับถือศาสนาและความเชื่อที่เหมือนๆกัน มีความเป็นอยู่ที่คล้ายกัน ดังนั้นคนที่รู้จักชาวเมียนมาดีที่สุด น่าจะหนีไม่พ้นเป็นคนไทยเรานี่แหละครับ

นี่คือจุดเด่นของนักธุรกิจของประเทศไทยเราครับ แน่นอนว่าการลงทุนทางตรงหรือ Direct Investment ที่จะเข้ามาใหม่ๆ จะมีคนกล้ามากน้อยเพียงใด แต่การค้าเราไม่จำเป็นต้องกลัวอันตรายใดๆเลยครับ ผมเองก็เกิดจากการเป็น “Trader” นี่แหละครับ คือการซื้อมา-ขายไป อาศัยความกล้าที่จะเข้าไปอยู่และทำการค้าด้วยตนเอง จึงได้มีวันนี้ครับ
 

ในระหว่างที่เหตุการณ์ยังไม่สงบนี้ น่าจะเป็นโอกาสของพ่อค้าหรือ Trader รายใหม่ๆ ที่อยากจะเข้าสู่ตลาดเมียนมา แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยรายใหม่เหล่านั้น  ต้องเตรียมตัวเตรียมความพร้อมไว้ คือการที่จะต้องดูว่าหลังจากเหตุการณ์สงบลง เราจะทำมาค้าขายอะไร? เราจะหาคู่ค้าอย่างไร? ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องมองหาช่องทางได้แล้ว ? เพราะผมเชื่อลึกๆว่า เหตุการณ์นี้คงจะไม่นานเกินรอ เพราะเริ่มเห็นแววมาแล้วนะครับว่า จะคล้ายกับช่วงปี 1988 มาก ดังนั้นแม้อาจจะยึดเยื้อ ก็คงไม่คล้ายอดีตแน่นอน สำหรับสาเหตุคืออะไร หรือผมมองเห็นอะไรนั้น คงจะขออนุญาตไม่นำมาเล่าณ.ที่นี้ เพราะต้องคำนึงถึงมิตรภาพที่ดีงานของทั้งสองประเทศเป็นสำคัญ ถ้าคุยนอกรอบไม่มีการเผยแพร่ออกไป ผมก็สามารถเล่าได้อย่างเต็มปากเต็มคำเลยครับ

สำหรับผู้ประกอบการที่มีคู่ค้าอยู่แล้ว ช่วงนี้ควรจะเก็บความสัมพันธ์ไว้ให้ดีครับ เผื่ออนาคตอันใกล้นี้ เมื่อฟ้าเปิดอีกครั้ง ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสแน่นอนครับ กลุ่มเพื่อนๆคู่ค้าของท่าน จะมีโอกาสช่วยให้ท่านได้บุกเข้าไปทำตลาดได้ง่ายครับ ไม่ต้องมาเริ่มต้นใหม่ สิ่งที่เราได้ลงทุนลงแรงไปก่อนหน้านี้ เราไม่ได้เสียเวลาเสียทรัพยากรไปเปล่าๆแน่  เราต้องเก็บเกี่ยวได้แล้วเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวครับ เชื่อเถอะ....คงไม่นานเกินรอแน่นอนครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง