ส่องความเข้ม ‘พรบ.ข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่’

31 มี.ค. 2564 | 06:15 น.

ส่องความเข้ม ‘พรบ.ข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่’ : คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,666 หน้า 10 วันที่ 1 - 3 เมษายน 2564

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ “ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ ฉบับใหม่” ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป

นับเป็นหนึ่งในกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 

ร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯฉบับใหม่ ถูกกำหนดให้มีสถานะเป็นกฎหมายกลาง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการ “เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ” เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แก้กระทั่งบทนิยามคำว่า “ข้อมูลข่าวสารของราชการ” “หน่วยงานของรัฐ” และ “ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล” เพิ่มบทนิยามคำว่า “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” และยกเลิกบทนิยามคำว่า “บุคคล” 

เมื่อส่องรายละเอียดลึกในเนื้อหาแล้ว พบหลายจุดที่เพิ่มความเข้มข้น อย่างเช่น กำหนดให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบจะไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้ก็ได้ หากปรากฏอย่างชัดแจ้งหรือมีพฤติการณ์ของผู้ยื่นคำขอว่า ผู้นั้นขอข้อมูลเป็นจำนวนมาก หรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือมีลักษณะเป็นการก่อกวนการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ หรือมีผลเป็นการสร้างภาระจนเกินสมควรแก่หน่วยงานของรัฐ หรือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต   

 

ส่องความเข้ม ‘พรบ.ข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่’

 

กำหนดให้ผู้ใดเห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่ประกาศข้อมูลข่าวสาร หรือไม่จัดข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ หรือไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้แก่ตน หรือไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หรือเห็นว่าตนไม่ได้รับความสะดวกโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้มีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ รวมถึงกรณีที่หน่วยงานของรัฐส่งข้อมูลข่าวสารสาธารณะไปลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่ถูกปฏิเสธ 

กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หากเปิดเผยแล้ว อาจมีการนำไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และข้อมูลด้านการถวายความปลอดภัยจะเปิดเผยไม่ได้  

 

กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านการทหารและการป้องกันประเทศ ด้านการข่าวกรอง ด้านการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายด้านการต่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลและข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนด จะเปิดเผยไม่ได้  

กำหนดให้การพิจารณาคดีในศาลในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผย ให้ศาลพิจารณาเป็นการลับ และห้ามเปิดเผยเนื้อหาสาระของข้อมูลและวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในคำพิพากษาหรือ คำสั่ง ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ แต่ให้ศาลรับฟังข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ 

กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หากเปิดเผย จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ หรือการเงินการคลังของประเทศหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้   

 

กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างๆ ตามความเหมาะสม โดยมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร คำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน คำสั่งไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล และอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กำหนด 

ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย อาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบ หรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยนั้น คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่คู่กรณีอาจคัดค้านคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นได้ โดยทำเป็นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ไป พร้อมกับคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง 

ทั้งนี้ ให้รอการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ไว้จนกว่าจะพ้นระยะเวลาขออนุญาตอุทธรณ์ หรือศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ แล้วแต่กรณี