เศรษฐกิจจีนในปี 2021  โตไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ (1)

30 เม.ย. 2564 | 22:30 น.

เศรษฐกิจจีนในปี 2021  โตไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก : โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

ภายหลังความสำเร็จในการฟื้นตัวทางเศรษฐ กิจเป็นรูป “ตัววีหางยาว” ในช่วงปีที่ผ่านมา และทำให้จีนกลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่รายเดียวที่เติบโตเป็นบวก เศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2021 ก็ยังคงเดินหน้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งออกเติบโตดี ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศก็ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ ...

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics) ก็ได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกว่ามีขนาดเกือบ 25 ล้านล้านหยวน ขยายตัวถึง 18.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับแต่ปี 1992 ที่จีนเริ่มเก็บรวบรวมสถิติทางเศรษฐกิจรายไตรมาส

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ของบางสำนักก็เห็นว่า ระดับการเติบโตดังกล่าวไม่น่าแปลกใจมากนัก เพราะในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา จีนต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 อย่างหนักหน่วง และหากเทียบกับของไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ก็อาจสะท้อนว่า พลังเศรษฐกิจจีนก็ดูจะไม่ส่งสัญญาณพุ่งกระฉูดแต่อย่างใด

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม 2021 ขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ โดยเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับของเดือนมีนาคมของปีก่อน 

ทั้งนี้ หมวดสินค้าอาหาร ยาสูบ และ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขยายตัว 0.6% ซึ่งในส่วนนี้ธัญพืช เพิ่มขึ้นถึง 1.5% และผักสด 4.8% แต่เนื้อหมูลดลงถึง 12.5%

ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อในหมวดสินค้าเสื้อผ้า เพิ่มขึ้น 0.2 เท่ากับที่อยู่อาศัย ของใช้จำเป็นและบริการ 0.1% การขนส่งและสื่อสาร 1.4% ขณะที่การศึกษา วัฒนธรรม และบันเทิง 0.3% เท่ากันกับหมวดการรักษาพยาบาล

ในช่วงเวลาดังกล่าว ภาคการค้าปลีกสินค้าบริโภคของจีนเพิ่มขึ้น 33.9% เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สัญญาณที่ดีก็คือ พฤติกรรมการบริโภคของจีนได้กลับไปสู่สภาวะปกติ เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน และการจับจ่ายใช้สอยในห้างสรรพสินค้า 

 

 

 

นอกจากนี้ การจับจ่ายก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ดังนั้น สภาพอากาศที่อบอุ่นในช่วง 5-6 เดือนจากนี้ไปจะยิ่งเป็นแรงส่งให้ภาคการบริโภคฟื้นกลับมาแรงขึ้นไปอีก 

ขณะเดียวกัน ยอดขายรถยนต์ก็พุ่งขึ้นเป็นเกือบ 6.5 ล้านคัน ขยายตัวถึง 75.6% อันเนื่องจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของชาวจีนที่มองหารถยนต์ขนาดใหญ่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคาดว่างานเซี่ยงไฮ้ออโต้โชว์ (Shanghai International Automobile Industry Exhibition) ครั้งที่ 19 ที่จัดในช่วงครึ่งหลังของเดือนเมษายน ที่ผ่านมา จะผลักดันให้ยอดขายรถยนต์ในจีนเติบโตยิ่งขึ้น

นักวิเคราะห์ของสำนักหนึ่งรายงานผลการศึกษาว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี อัตราการเติบโตของรายได้ในจีนเพิ่มขึ้นค่อนข้างดี โดยคนเมืองมีรายได้เฉลี่ย 13,120 หยวน เพิ่มขึ้น 12.2% เมื่อเทียบกับของปีก่อน 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกระลอกในช่วงก่อนตรุษจีน ทำให้รัฐบาลออกมาตรการจำกัดการเดินทางในช่วงปีใหม่จีนที่ผ่านมา ส่งผลให้การท่องเที่ยวและภาคบริการ รวมทั้งธุรกิจขนาดเล็ก ชะลอการฟื้นตัว และทำให้การจ้างงานไม่เติบโตตามเป้าหมาย และกระทบชิ่งต่อไปถึงความมั่นใจของผู้บริโภคในชุมชนเมือง

บางส่วนจึงยังไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยมากนัก ส่งผลให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจไม่เพียงพอที่ภาคการบริโภคภายในประเทศจะเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักของจีนในปีนี้

ขณะที่คนในชนบทมีรายได้เฉลี่ย 5,398 หยวน ขยายตัว 16.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานฝีมือที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม มีอิทธิพลมากขึ้นในด้านกำลังซื้อ เพราะรายได้ไม่ได้รับผลกระทบจากการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ซึ่งเติบโตดี 

เศรษฐกิจจีนในปี 2021  โตไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ (1)

ตามแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 รัฐบาลจีนกำหนดกลยุทธ์ “เศรษฐกิจวงจรคู่” (Dual Circulation) ที่รัฐบาลจีนวางแผนจะเติบโตจากภายในมากขึ้น ผ่านการขยายบทบาทของกำลังซื้อและนวัตกรรมภายในประเทศในระดับที่สูงขึ้น และตั้งเป้าที่จะเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีนไว้ที่ 12,700 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2025 ผมจึงคาดว่า รัฐบาลจีนจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการขยายภาคการบริโภคภายในประเทศให้มากพอที่จะชดเชยกับการเติบโตที่ลดลงของภาคเศรษฐกิจอื่นในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปี

นอกจากนี้ ผลจากการแซงชั่นของแบรนด์ตะวันตกต่อกรณีฝ้ายซินเจียง ยังทำให้เกิดกระแสความรักชาติในหมู่คนจีน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ยอดการค้าปลีกในกลุ่มสินค้าแฟชั่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างจากแบรนด์ตะวันตกไปสู่แบรนด์ท้องถิ่นในสัดส่วนที่มากขึ้น อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้ 

ขณะเดียวกัน การนำเสนอสินค้าภายใต้รูปแบบและโมเดลใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานด้านดิจิตัล กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในจีน อาทิ ไลฟ์สตรีมมิ่ง การวิเคราะห์และการรักษาออนไลน์ และการสื่อสารไร้สาย  

การผนวกโลกออนไลน์และออฟไลน์ก็ขยายตัวในอัตราเร่ง โดยในไตรมาสแรกของปี 2021 การค้าปลีกสินค้าออนไลน์ยังคงขยายตัวในอัตราที่สูงถึงราว 25.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้การค้าออนไลน์เพิ่มบทบาทในโลกการค้าปลีกของจีนอย่างรวดเร็ว โดยมีสัดส่วนคิดเป็นเกือบ 22% ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าโดยรวม (อ่านต่อฉบับหน้า) 

หน้า 6 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564