ท่ามกลางปมใหญ่เรื่องไวรัส&วัคซีน ที่คนไทยจำนวนมากกำลังสำลักข้อมูล จนแยกไม่ออกว่า อะไรคือความจริง อะไรคือความเห็น เพราะชุดข้อมูลถาโถมเข้าใส่จนแทบจะอาเจียนกันทุกวัน ผมขอพาทุกคนมาติดตามปัญหาใหญ่ในภูมิภาคที่ฝ่ายทหาร ฝ่ายความมั่นคง ส่งสัญญาณให้ผมทราบว่า “พายุความขัดแย้งมีสิทธิ์ก่อตัวเป็นสงครามได้ง่าย”
ขณะที่ผู้คนในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กำลังให้ความสนใจกับสงครามของโรคไวรัสโควิด-19 ที่หนักหน่วงรุนแรงกว่าเดิมนั้น
ความขัดแย้งทางการเมืองในเรื่อง “อำนาจเหนือดินแดนและอาณาเขต” ในช่องแคบไต้หวัน ระหว่าง “จีน-สหรัฐอเมริกา” ซึ่งเกี่ยวพันกับสันติภาพและเสถียรภาพก็ปะทุขึ้นอย่างรุนแรง หนักหน่วง จนกระทรวงการต่างประเทศและฝ่ายความมั่นคงในภูมิภาคควรจะต้อง “จัดวอร์รูมขึ้นเป็นพิเศษ” ก่อนที่จะไม่ทันสถานการณ์
พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล นายทหารผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้พยายามเกาะติดการประมวลผลในเรื่องความขัดแย้งของภูมิภาคนี้ในไต้หวันมาตลอด และเริ่มเห็นสัญญาณความขัดแย้งอย่างรุนแรงในทางการเมืองของ 2 ประเทศในระยะ 1 เดือนเศษ และเริ่มเล็งเห็นถึงการเติมเชื้อไฟผ่านการส่งเรือรบหลายสิบลำ เข้ามาประจำการในน่านน้ำบริเวณนี้ของอเมริกา ขณะที่จีนเองก็เติมกำลังและเรือรบตลอดจนเครื่องบินรบออกลาดตระเวณ บริเวณน่านน้ำทะเลไต้หวันชนิดที่บินเฉี่ยวแทบชนกัน
แต่เชื้อไฟของความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวันที่ส่งเสียงคำรามฮึ่มๆ มาตลอด ปะทุพวยพุ่งขึ้นรุนแรงที่สุดจากการที่ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐ 2-3 คน ที่ว่ากันว่า “เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐที่มี โจ ไบเด้น เป็นประธานาธิบดี” ได้เดินทางไปเยือนเกาะไต้หวันอย่างเป็นทางการ ในช่วงวันที่ 13 เมษายน 2564
รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ถือว่า การเดินทางไปเยือนไต้หวันของสหรัฐในรูปแบบนี้เป็น “ล่วงละเมิดรัฐบาลจีน” อย่างรุนแรง
นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน จึงออกมาตอบโต้ เมื่อวันพุธที่ 14 เมษายน 2564 ว่า “รัฐบาลจีนขอคัดค้านการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการไม่ว่าจะรูปแบบใด ๆ ระหว่างสหรัฐฯ และเกาะไต้หวัน โดยทางการจีนขอเรียกร้องให้สหรัฐฯ จัดการกับกิจการที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันอย่างรอบคอบ และละเว้นจากการส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้องใด ๆ ไปยังผู้แยกตัวออกจากไต้หวัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายร้ายแรงต่อความสัมพันธ์จีน - สหรัฐฯ รวมทั้งสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน“
ถ้อยแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลัง อดีตวุฒิสมาชิก คริส ด็อดด์ และ 2 อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ “ริชาร์ด อาร์มิเทจ-เจมส์ สไตน์เบิร์ก” รับหน้าที่เป็นผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ ไปเยือนเกาะไต้หวัน เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2564
โฆษกกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลจีน ยังได้สอนมารยาททางการเมืองและข้อตกลงกันในนามของรัฐบาลว่า สหรัฐฯ ได้มีการลงนามในกฎหมายโดยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ของสหรัฐฯ ในขณะนั้น เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2522 โดยได้กำหนดความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับเกาะไต้หวันอย่างชัดเจนในแนวทางสำคัญของ “นโยบายจีนเดียว” ของสหรัฐฯ โดยอนุญาตให้สหรัฐมีความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ทางการทูตเท่านั้น เช่น ความสัมพันธ์ทางการค้าและวัฒนธรรมกับไต้หวัน
แต่การเยือนอย่างเป็นทางการของตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเช่นนั้น
มีการวิเคราะห์ว่าการเยือนไต้หวันครั้งนี้ของสหรัฐฯ กำลังจะผลักดันความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการระหว่างสหรัฐฯ และเกาะไต้หวันให้เป็นทางการมากขึ้น
“นโยบายการทูต Track II กับเกาะไต้หวันครั้งนี้ อาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดี โจ ไบเดน” พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล นายทหารผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนศึกษา สรุปข้อมูล
คล้อยหลังจากนั้นเป็นต้นมา กิจกรรมทางทหารในทะเลจีนใต้จึงทวีความรุนแรงขึ้น ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ - จีนที่เพิ่มสูงขึ้น ช่วงต้นเดือน เมษายน2564 สหรัฐส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Theodore Roosevelt และเรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก USS Makin Island เข้ามาทำการฝึกซ้อมในทะเลจีนใต้ พร้อมกับเรือลาดตระเวน เรือพิฆาต และเรือสะเทินน้ำสะเทินบกขนาดเล็ก โดยเรือลำดังกล่าวยังบรรทุกกองกำลังภาคพื้นดินทางทะเล รวมทั้งเฮลิคอป เตอร์สนับสนุนและเครื่องบินขับไล่ F-35
ความตึงเครียดก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก จากกรณีที่สหรัฐฯ ส่งเรือรบผ่านช่องแคบไต้หวันเป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้ ซึ่งเป็นจุดที่มีความอ่อนไหวทางยุทธศาสตร์ต่อการแยกไต้หวันอกจากจีนแผ่นดินใหญ่
หลายคนอ่านข้อมูลที่ผมประมวลออกมาแล้วเห็นว่า แค่ขู่กันไปกันมาของมหาอำนาจ “สหรัฐ-จีน” แต่ยากที่จะปะทุ เพราะมีหลายปัจจัยรุมล้อม
นั่นอาจจะจริงส่วนหนึ่ง แต่ในภาวะวิกฤติแบบนี้แหละครับ มันมักจะมีแรงกดดันพิเศษและมักมี “แรงส่ง” อะไรไม่รู้เกิดขึ้นได้หลายอย่างเชียวแหละครับ
แรงกดดันพิเศษบอกว่า ขณะนี้กำลังมีการพูดคุยกันอยู่แบบลับๆ ในกลุ่ม “ปฏิบัติการพิเศษ” นั่นคือ มีพลังจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจบีบให้รัฐบาลไทย เร่งดำเนินการตั้งศูนย์รับรองดูแลผู้อพยพชั่วคราวสำหรับชาวพม่า บริเวณแนวชายแดน เพื่อมนุษยธรรม ให้ได้ในปีนี้ โดยยินดีจะจัดสรรงบประมาณในการดูแลให้กับไทย… จริงหรือไม่?
หรือ...มีข้อมูลลับชุดหนึ่งที่ป้องปากซุบซิบกันว่า รัฐบาลจีนนำโดย “หวัง อี้” มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน กำลังเจรจากับรัฐบาลไทย ผ่านทาง ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนวัคซีนโควิดให้ไทยเป็นกรณีพิเศษ…?
ในการนี้ ใช่ว่ามีการหารือลับเรื่องการจัดการและดูแลเรื่องปัญหาในเมียนมาร์ เป็นกรณีพิเศษ…?
นักการทหารบอกว่า ในภาวะของความตึงเครียดของช่องแคบไต้หวันนั้น มีแรงกดดันและมีผลประโยชน์ในทางการเมืองเกิดขึ้นตลอดเวลา ไทยจึงควรอาศัยข้อมูลข่าวสารเหล่านี้มาดำเนินนโยบายให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ
ข้อมูล ข้อวิเคราะห์ เกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ในบริเวณช่องแคบไต้หวัน ในขณะนี้นั้น มีหลากรูปแบบ และนับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
แสนยานุภาพทางทหารของจีนที่มีอยู่ราว 400,000 นาย พร้อมใช้งานในบริเวณช่องแคบไต้หวันหากเกิดสถานการณ์ตึงเครียดหรือปะทุขึ้นมาทันที ขณะที่กองกำลังบนเกาะไต้หวันมีเพียง 88,000 นาย กองทัพเรือของจีนที่มีเรือรบออกมาวิ่งป้วนเปี้ยนในเขตน่านน้ำจำนวนมากพร้อมปฏิบัติการทันทีหากมีคำสั่งหรือจุดเปลี่ยน
และมีการประเมินว่า สหรัฐฯ จะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านการทหารมากกว่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี หากต้องการดูแลควบคุมไต้หวัน โดยจะต้องติดตั้งระบบข่าวกรอง การเฝ้าระวังและการลาดตระเวน เพื่อตรวจสอบสนามบินและท่าเรือขนถ่ายของจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของกองกำลังจีนแผ่นดินใหญ่ และเตรียมการเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีศักยภาพในระยะไกลมากขึ้น โดยเฉพาะอาวุธต่อต้านเรือและการวางกำลังในบริเวณน่านน้ำและพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น เกาะกวม ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ สิงคโปร์
นักการทหารวิเคราะห์ว่า หากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA ) จะใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อกองกำลังบนเกาะไต้หวัน จะดำเนินการได้ก่อนสหรัฐที่กต้องใช้เวลาเตรียมการอย่างน้อย 5-6สัปดาห์
เรื่องที่ผมนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้ มิใช่เรื่องไกลตัวนะครับ ล่าสุดสื่อดัง นิวส์วีค ได้รายงานว่า กองทัพจีนมีความสามารถในการสยบกองทัพสหรัฐฯ ในทะเลได้ จากการที่จีนได้เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับการแทรกแซงที่อาจเกิดขึ้นโดยกองกำลังสหรัฐฯ ในสถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน โดยจีนเชื่อว่า เจตจำนงการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความพยายามที่จะประกาศเอกราชนั้น จะนำไปสู่สงครามข้ามช่องแคบไต้หวัน
ขณะที่ Chang Che-ping รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของไต้หวัน ได้ถูกซักถามซ้ำหลายครั้งเกี่ยวกับภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่ง Chang ก็ได้อธิบายว่า เรื่องนี้เป็นความเชื่อมั่น ของสหรัฐฯ และเป็นสงครามข่าวสารของสหรัฐฯ กับกองทัพจีน แต่ไต้หวันยังไม่มีขีดความสามารถเลียนแบบการซ้อมรบแบบนั้นได้ และ ถึงจะทำได้ ก็จะไม่ทำ...
ถึงกระนั้นนักวิเคราะห์ข่าวด้านความมั่นคงเห็นว่า สงครามจีน - สหรัฐฯ ในทะเลอาจเกิดขึ้นได้ใน 4 จุด คือ ช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ และน่านน้ำไกลที่อาจขยายไปถึงมหาสมุทรอินเดีย
ทั้งนี้ ช่องแคบไต้หวันเป็นจุดร้อนมากที่สุด ซึ่งคาดว่าถ้ายังขึงกันอยู่อย่างนี้น่าจะเกิดขึ้นภายใน 6 ปีนี้ ด้วยเกาะไต้หวันอยู่ห่างจากฮาวาย 8,000 ไมล์ แต่ห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่เพียง 250 ไมล์ จึงเป็นความท้าทายสำหรับกองทัพเรือสหรัฐฯ
“จีนจะเน้นใช้ยุทธศาสตร์การต่อต้านการเข้าถึง การปฏิเสธพื้นที่โดยใช้มาตรการป้องกัน (A2/AD) รวมทั้งใช้เรือลาดตระเวน เรือพิฆาตและเรือฟริเกต ยิงขีปนาวุธผิวนํ้้าสู่พื้นผิวที่สำคัญ ตลอดจนใช้ขีปนาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียง ต่อระบบสั่งการ การควบคุม การนำทางและระบบ GPS ของสหรัฐฯ ซึ่งในขณะนี้สหรัฐฯ ยังเตรียมการไม่ดีพอ” สำนักข่าวบลูมเบิร์ก
ผมประมวลความขัดแย้งในภูมิภาคนี้มาให้คนไทย รัฐบาลไทยพิจารณา เงี่ยหูฟังกัน บรรดาพ่อค้า นักธุรกิจ ที่ทำการค้ากับจีน ไต้หวัน หูต้องกระดิกเร็วขึ้น ต้องมองหาช่องทางการปรับตัวให้ทัน
รู้เขา ยังไม่เทียบเท่า รู้ทันสถานการณ์ นะครับ!
จีนทุ่มงบทางทหารก้อนมหึมา
พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ประมวลข้อมูลจากเว็บไซต์ https://moderndiplomacy.eu/2021/04/28/chinas-military-modernization-is-a-threat-to-global-security/ แล้วพบว่า รัฐบาลจีนยังคงทุ่มเทงบประมาณทางด้านการทหารมากในแต่ละปี โดยเพิ่มงบทางทหารในทุกมิติและมีเป้าหมายเพื่อความก้าวหน้าในเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะทำให้ได้เปรียบเหนือฝ่ายตรงข้าม
และจากการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการป้องกันประเทศของจีน พบว่า ปี 2021 (พ.ศ.2564) งบประมาณด้านกลาโหมอยู่ที่ประมาณ 1.355 ล้านล้านหยวน หรือราว 2.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการการเพิ่มขึ้นถึง 6.8% เมื่อเทียบกับงบประมาณหลักของปี 2020 (พ.ศ.2563) ซึ่งอยู่ที่ 1.268 ล้านล้านหยวน หรือราว 1.88 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ บ่งบอกถึงเศรษฐกิจของจีนที่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ในแง่ของความเป็นจริงการเติบโตของงบประมาณด้านกลาโหมของจีนในปี 2021 นั้นต่ำกว่าปี 2020 เล็กน้อย แต่จีนยังคงเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายทางทหารมากเป็นอันดับสองของโลกตามหลังเพียงแค่สหรัฐฯ
สำหรับ การใช้จ่ายงบประมาณทางทหารทั่วโลกในปี 2020 มีมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
สหรัฐใช้จ่ายงบทหารคิดเป็น 39% ของทั้งโลก เพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ส่วนจีนใช้จ่ายงบทหารคิดเป็น 13% เพิ่มขึ้นเป็นปี 26 ติดต่อกัน โดยปีที่ผ่านมาจีนใช้จ่ายงบทหารไปทั้งสิ้นราว 2.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ