นับตั้งแต่ผมเข้ามารับผิดชอบเป็นนักข่าวเศรษฐกิจการเมือง ผมเป็นคนหนึ่งที่ทำการตรวจสอบการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเข้มข้น ในฐานะที่เป็นธนาคารกลาง ที่เป็นผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายด้านสถาบันการเงิน ที่มีผลกระทบทางตรงและทางอ้อมกับคนไทยถ้วนทั่วทุกตัวคน ไม่ว่าจะรู้เรื่องเศรษฐกิจ หรือไม่รู้เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นคนทำธุรกิจ เป็นลูกจ้าง เป็นกรรมการแบกหาม ยันเกษตรกรชาวไร่ ชาวนา
นโยบายทุกเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศทุกครั้ง...โดยที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องแบบนี้...
ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพ การขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% หมายถึงต้นทุนทางการเงินของประชาชนทั้งประเทศเพิ่มขึ้นทันที 41,000 ล้านบาท...
ขณะที่การลดดอกเบี้ยเงินฝากมีผลให้ผู้ฝากมีรายได้ลดลงทั้งระบบ 37,464 หมื่นล้านบาท....
ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายให้สถาบันการเงินช่วยกันแก้ไขหนี้เสียในระบบ หมายถึงจะมีผู้ประกอบการในระบบที่กู้เงินกันอยู่ราว 16.5 ล้านล้านบาทจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จามาตรการทันที...
ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราเพดานเงินเฟ้อที่ 0.2.5% หมายถึงว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลประกาศชัดว่า จะยินดีที่จะทำให้ระดับราคาสินค้าและบริการในประเทศนี้มีอัตราการขยายที่ได้ตั้งแต่ 0-2.5% จากราคา ณ ปัจจุบัน
ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศยินยอมให้ “สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” ถูกจัดประเภทเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งๆที่มี “ทะเบียนรถ” เป็นหลักประกันอยู่ หมายถึงว่า ผู้ประกอบธุรกิจจำนำทะเบียนรถ หรือสินเชื่อเงินสดรถช่วยได้ จะสามารถคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าได้สูงลิ่วถึง 28% ต่อปี เหมือนกับสินเชื่อเงินสดหรือสินเชื่อส่วนบุคคลทั่วไป
ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศว่าจะไม่เข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน แม้จะบริหารจัดการค่าเงินแบบ “Manage Float” หมายถึงว่าปล่อยให้ตลาดเป็นคนกำหนดค่าเงินบาท จะแกว่งขึ้นลงวันละ 25-50 สตางค์ ก็แล้วแต่ตลาด หมายถึงว่า ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกที่ทำการซื้อขายเงินตราเพื่อส่งมอบสินค้ากันวันละ 40,000-50,000 ล้านบาท จะต้องเผชิญกับรายได้ที่แปลงเป็นเงินบาทไม่คงที่จะกำไรและขาดทุนได้ในพริบตา...
การดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใดอย่างหนึ่งจึงสำคัญมากๆ สำหรับคนไทยทุกคน
นโยบายหนึ่งที่ผมชื่นชมและติดตามมาอย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนคนไทย ที่เป็นลูกหนี้ทุกคนช่วยกันติดตาม หากใครไม่ได้รับการแก้ไข ให้ร้องเรียนไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแจ้งมาที่ผมก็ได้คือ “นโยบายกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระหนี้ สร้างความเป็นธรรมในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน และลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน”
นโยบายนี้ “ผู้ว่าฯ ก้อ” คุณวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยทำมากับมือก่อนหมดวาระการดำรงตำแหน่งลง และส่งมอบการดำเนินนโยบายที่ดีแบบนี้ให้ “ผู้ว่าฯนก” คุณเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2563 ซึ่งถ้าปฏิบัติได้ 100% จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบการเงินของไทย 3 เรื่อง
เรื่องแรก จะนำไปสู่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของ "เงินต้นที่ผิดนัดจริง" เท่านั้น ไม่ให้นำดอกเบี้ยผิดนัดไปรวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
ข้อกำหนดนี้ถือว่าดีมาก และถือว่าสุดยอดมาก เป็นนโยบายของธนาคารกลางที่กระโดดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการยับยั้งความเสียหายในระบบเศรษฐกิจ โดยไม่ต้อง “ยืนตรง” เพราะข้อกำหนดนี้ต่างจากแนวปฏิบัติเดิมที่หากลุกหนี้รายใดผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดเดียว ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เข้าไปรวมกับฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด
ผลที่ตามมาคือมูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก แต่เกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น
เรื่องที่สอง มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ "บวกไม่เกิน 3%" เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคิดที่ 8% จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 11% และต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย
แนวทางนี้ถือว่า เป็นการปฏิวัติการคิดดอกเบี้ยในประเทศ ที่เดิมผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง เช่น คิดอัตราดอกเบี้ยสูดสุดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ 15% บางกรณี 18%-22% จนลูกหนี้ผ่อนไม่ไหว
การปรับเกณฑ์ใหม่ในประวัติศาสตร์ของธนาคารแห่งประเทสไทยและระบบสถาบันการเงินครั้งนี้จึงถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ช่วยให้ลูกหนี้ได้มาก ลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ และช่วยลดการฟ้องร้องดำเนินคดีลง
เรื่องที่สาม มีการกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ โดยให้ "ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรกก่อน" เพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน โดยเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน
แนวทางนี้ ต่างจากแนวทางเดิมที่เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมด ก่อนนำเงินส่วนที่เหลือมาตัดเงินต้น
เกณฑ์ใหม่นี้ช่วยให้เงินงวด ที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือน สามารถตัดถึงเงินต้นได้มากขึ้น ลดการเกิดหนี้เสีย คนที่เป็นลูกหนี้มีกำหลังใจมากขึ้น
ทั้งนี้ ประกาศการกำหนดเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564....
ใครที่เป็นลูกหนี้แห่งชาติ ให้ไปตรวจสอบบิลค่างวดในการชำระหนี้ของตัวเองในงวดสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ได้รับการปรับลดจริงหรือไม่ มีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของ "เงินต้นที่ผิดนัดจริง" หรือไม่ หากไม่รู้ก็ไปสอบถามจากธนาคาร สถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้กันเลยครับ!
หากเจ้าหนี้รายใดยังไม่ปรับเปลี่ยนด้วยการลดให้แจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยได้เลย หรือไม่ก็ส่งข้อมูลมาที่ผมเลยครับ...ผมก็อยากรู้ว่านโยบายที่ดีแบบนี้ทำได้จริงหรือว่า ล้อเล่นเท่านั้น!
ส่วนประกาศเรื่องการตัดชำระหนี้ ที่กำหนดให้ "ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรกก่อน" มิใช่นำเงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมด ก่อนนำเงินส่วนที่เหลือมาตัดเงินต้นนั้น จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
รอกันนิดหนึ่งสำหรับลูกหนี้แห่งชาติทั้งหลาย !
การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่คุ้นชินกันมานานไม่ได้ทำกันง่ายๆ และธนาคารแห่งประเทศไทยก็ควรประกาศให้สาธารณะรับทราบด้วยว่า ทำได้กี่แห่งแล้วนโยบายที่ดี นโยบายที่กินได้แบบนี้แหละที่ควรเชิดชูครับ!