ขณะที่อีกหลายธุรกิจกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีที่กำลังจะเติบโตมีอันต้องชะงักและต้องดิ้นปรับตัวเองเพื่อไปต่อ โดยหนึ่งในนั้นคือกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ที่แม้ตลาดจีนให้ความสนใจแต่ต้องชะลอตัวลงเช่นกัน
นายอรรณพ อารัญญิก ประธานกรรมการบริษัท เอเบิลสทรอง จำกัด และอดีตประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หนึ่งในนักธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการปรับตัวของบริษัทและฝากการบ้านถึงรัฐบาลเพื่อจัดลำดับความสำคัญในการรับมือสู้โควิด รวมถึงภารกิจเร่งด่วนหลังฉีดวัคซีนต้านโควิด
ปรับแผนธุรกิจแก้รายได้วูบ
นายอรรณพ ยอมรับว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติที่ร้ายแรงมากบั่นทอนทุกด้านทั้งชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข และอื่น ๆ รอบตัวเรา ส่วนตัวประกอบธุรกิจในนามบริษัท เอเบิล สทรอง จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณกลุ่ม Skincare ผลิตสินค้าทั้งภายใต้แบรนด์ของบริษัท และผลิต OEM ให้กับลูกค้าที่สนใจ โดยสัดส่วนผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ จะผลิตขายในประเทศ 80% โดยผลิตในรูป OEM และผลิตจำหน่ายในแบรนด์ของบริษัทเอง ภายใต้แบรนด์ PUKKA (พุกก้า) และสัดส่วนอีก 20% ส่งออก ส่วนแอลกอฮอล์ขายในประเทศทั้งหมดภายใต้แบรนด์เดียวกัน ปัจจุบันแอลกอฮอล์ตลาดยังตอบรับไม่ดีตามที่หวังไว้ เพราะตั้งแต่เกิดโควิดระบาด ผลิตขายไปแล้วราว 30-50 ตัน ถ้ารัฐส่งเสริมรณรงค์การใช้มากกว่านี้น่าจะขยับตัวได้อีก
อย่างไรก็ดีธุรกิจของบริษัทได้รับผลกระทบทันทีท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้รับผลกระทบไปแล้วราว 70% ของรายได้ จากปีก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มีรายได้ 180-200 ล้านบาทต่อปี แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด ยอดขายธุรกิจลดลง 11-12 ล้านบาทต่อปี
“จากความรุนแรงของการแพร่ระบาด บริษัทมองวิกฤติเป็นโอกาสหันมาเสริมธุรกิจด้านการผลิตแอลกอฮอล์เพื่อรองรับตลาดที่มีความจำเป็นสูงขึ้น แต่ก็ยังเน้นสินค้ากลุ่ม Skincare เป็นหลักคู่ขนาน เดินหน้ารุกผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกฮอล์เป็นองค์ประกอบเสริมเข้ามา เช่น เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ เป็นต้น
จี้รัฐรณรงค์ใช้แอลกอฮอล์
ทั้งนี้บริษัทได้หันมาขับเคลื่อนธุรกิจแอลกอฮอล์ ด้วยความหวังว่าจะมีการรณรงค์ใช้อย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันถ้ามองในแง่การนำมาใช้เกี่ยวกับสุขอนามัย เช่น การนำเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ มาล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อลดการระบาดของโรค โดยทั่วไปยังเห็นใช้แค่ระยะแรกที่มีการระบาดเท่านั้น หลังจากนั้นใช้น้อยจนเห็นได้ชัด อาจจะเกิดจากคนไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้เจลหรือสเปรย์แอลลกอฮล์ ในการล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อ
“รัฐบาลควรรณรงค์ให้ใช้แอลกอฮอล์ต่อเนื่อง เพราะเป็นการรักษาสุขอนามัยที่ง่ายรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะโรคไวรัสโควิด หากยังรวมถึงโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ระบบสาธารณสุขของเราเข้มแข็งไปโดยปริยาย”
2-3 ปีเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว
นายอรรณพกล่าวอีกว่า หลังฉีดวัคซีนธุรกิจจะเริ่มขยับตัวมากขึ้น เพราะคนจะเริ่มเกิดความมั่นใจในการออกมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติมากขึ้น และภาคธุรกิจเองก็ได้ปรับตัวและเตรียมแผนรับมือเพื่อเร่งเครื่องให้ธุรกิจกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยคงต้องใช้เวลา 2-3 ปีนับจากนี้ เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
และเมื่อมองภายในประเทศในขณะนี้การระบาดของโรคยังมีต่อเนื่องหลายระลอก และการฉีดวัคซีนก็ยังไม่แพร่หลาย ยังไม่สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ เศรษฐกิจก็ไม่สามารถฟื้นตัวเร็ววันในปีนี้แน่นอน อาจปลายปี 2565 เมื่อการฉีดวัคซีนแพร่หลายทั่วถึง ภาคการท่องเที่ยวจะได้กลับมาคึกคัก และในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็จะทยอยดีขึ้นตามลำดับ
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,681 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :