“ส.ส.”โยกงบ-สั่งขรก.สบายอุรา รธน.ต้านโกง “เละไม่เป็นท่า”

22 มิ.ย. 2564 | 12:36 น.

“ส.ส.”โยกงบ-สั่งขรก.สบายอุรา รธน.ต้านโกง “เละไม่เป็นท่า” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3690 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 24-26 มิ.ย.2564 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

ภาคต่อของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 กำลังเปิดฉากขึ้นอีกครั้ง หลังจากภาคแรก “จบไปแบบไม่สวย” จากากรลงมติของส.ส.และส.ว. รวมถึงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขทั้งฉบับนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ

23-24 มิถุนายน 2564 จะเป็นตัวชี้วัดว่า การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 13 ฉบับ ของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านนั้น จะนำพากฎหมายหลักของประเทศไปทางไหน

มิติทางการเมือง อาจให้น้ำหนักในเรื่อง “การได้มาซึ่งอำนาจ – ยุทธศาสตร์ประเทศ - กติการะบบการเลือกตั้งผ่านบัตร 2 ใบ – สัดส่วนจำนวน ส.ส.-ส.ว. – การมอบสิทธิเสรีภาพ สร้างความยุติธรรมให้กับประชาชน” เพื่อหาความชอบธรรมจากคนไทยทั้งประเทศที่ตอนนี้กำลังโหยหา สิทธิ” แต่หลงลืม หน้าที่” ของพลเมืองไปเกือบค่อนประเทศ

แต่ในมิติที่เหนือกว่าทางการเมืองของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในภาคต่อครั้งนี้คือ การมอบอำนาจคืนกลับไปให้นักเลือกตั้งที่อ้างสิทธิว่า มาจากตัวแทนประชาชนผ่านระบบการเลือกตั้ง เข้าไปมีบทบาทในการทำหน้าที่จัดการบริหารงบประมาณ ผ่านกระบวนการแปรญัตติ ปรับ-ลด-เพิ่ม-โยก” แบบเต็มร้อย และการมอบดาบในการเข้าไปสั่งการแทรกแซง ก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการได้เต็มที่ โดยไม่มีความผิดทางกฎหมาย

อันนี้แหละครับ ที่เป็นเสมือนระเบิดนาปาล์มในกระบวนการจัดการและบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงทำให้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เป็นการทำประชามติมาจากประชาชนจนได้รับคำกล่าวขานว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ  “ต้านโกง” ให้ล้มพังพาบไปอย่างไม่เป็นท่า

ทำไมเป็นเช่นนั้น เพราะในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขใหม่ 1 ร่าง 5 ประเด็นของพรรคพลังประชารัฐ ที่ถือว่าเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ทำงานในสภาแบบสำเร็จเป็นรูปธรรมสูงสุด เหนือพรรคการเมืองอื่นใดในสภานั้น 2 ใน 5 ประเด็นหลัก มุ่งเน้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน มาตรา 144 กับ มาตรา 185

กฎหมายทั้ง 2 มาตรานั้น ถือเป็นหัวใจในการดึงนักเลือกตั้งให้หันมาสนับสนุนและร่วมโหวต เพราะการแก้ไขใน 2 มาตรานี้คือ การขยี้ไปที่หัวใจของนักเลือกตั้ง” 

มาดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 แบบเต็มๆ กันครับ มาตรานี้ระบุว่า... “ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการมิได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่าย ซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

 (1) เงินส่งใช้ต้นเงินกู้

 (2) ดอกเบี้ยเงินกู้

 (3) เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย”

วรรคสอง ระบุว่า “ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ การเสนอการแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้”

รัฐธรรมนูญมาตรา 144 วรรคสาม ยังก้าวหน้าลงไปอีกว่า “ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่า มีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา และศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน  นับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว...

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล...

ถ้าผู้กระทำการดังกล่าว เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้กระทำการนั้น สิ้นสุดสมาชิกภาพ นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น  

แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำการ หรืออนุมัติให้กระทำการ หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่มิได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนมิได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติ  

และให้ผู้กระทำการดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินนั้น คืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย...

รัฐธรรมนูญมาตรา 144 ในวรรคสี่ ยังกำหนดลึกลงไปอีกว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจัดทำโครงการ หรืออนุมัติ หรือ จัดสรรเงินงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดำเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง หรือ วรรคสอง ถ้าได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือ หรือ มีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ ให้พ้นจากความรับผิด.. 

การเรียกเงินคืนตามวรรคสาม หรือ วรรคสี่ ให้กระทำได้ภายในยี่สิบปีนับแต่วันที่มีการจัดสรรงบประมาณนั้น

และวรรคห้ากำหนดว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้รับแจ้งตามวรรคสี่ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการสอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน หากเห็นว่ากรณีมีมูล ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการต่อไปตามวรรคสาม และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและศาลรัฐธรรมนูญหรือบุคคลใดจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้แจ้งมิได้”

เห็นภาพชัดกันมั้ยครับว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้ามส.ส. ส.ว.เข้าไปจุ้นกับการปรับลดเพิ่มโยกงบประมาณแผ่นดิน เพื่อให้ตัวเองได้รับประโยชน์ทั้งในทางตรง หรือ ทางอ้อมไม่ได้ จะไปแปรญัตติเป็นงบพัฒนาจังหวัด หรือพื้นที่หาเสียงของตนเองไม่ได้

รัฐธรรมนูญ ยังกำหนดกลไกต่าง ๆ เพื่อป้องปรามไว้เข้มข้นมาก เช่น หากทำแล้วศาลชี้ว่าผิด ผู้เป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. หรือ ส.ว. และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทันที

ถ้า ครม.รู้เห็น รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ครม.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

รวมถึงกำหนดให้พิทักษ์ ปกป้อง ผู้แจ้งเบาะแส อย่างเต็มที่

ขนาดเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำตามนักการเมืองนั้น มาตรานี้ยังกำหนดลงไปว่า “สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่จัดทำโครงการ หรืออนุมัติเงินทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า ขัดต่อมาตรานี้ ให้มีความผิดด้วย เว้นแต่ว่า เจ้าหน้าที่รายนั้นได้ทำหนังสือแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงได้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” และเป็นผลให้การอภิปรายงบประมาณทุกครั้ง บรรดานักเลือกตั้งจะโวยวายว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสยบอำนาจของประชาชน

ทว่ามาถึงบัดนี้ “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง" ที่เป็นจุดแข็งสุดของ คสช.กำลังถูกพรรคการเมืองหลัก คือ พรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุนคณะของ คสช.”  ให้เข้ามาบริหารประเทศต่อไปแบบไร้รอยต่อ ภายหลังการเลือกตั้งให้แก้ไขมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณปลายปี  

ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอให้มีการแก้ไขฉบับของพรรคพลังประชารัฐกำหนดให้นำข้อความในวรรค 5, 6, 7, 8 และ 9 ของมาตรา 168 รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาแทนที่มาตรา 144 โดยระบุเพียงว่า “หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิดให้การเสนอการแปรญัตติ หรือ การกระทำดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลไป” เท่านั้น

ส่วนผลที่เกิดขึ้นกับ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือ คณะรัฐมนตรี ที่แปรญัตติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จัดทำโครงการ หรือ อนุมัติเงินทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า ขัดต่อมาตรา 144 ไม่มีกำหนดไว้แม้แต่น้อย...เอาแบบนี้กันมั้ยครับ

ส่วนมาตรา 185 ที่กำหนดให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่สามารถก้าวก่ายหรือแทรกแซงการดำเนินงานของหน่วยงานราชการได้  

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐเสนอให้แก้ไขมาตรา 185 โดยนำมาตรา 111 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาแทน มาตรา 111 ระบุว่า “ห้ามไม่ให้ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการบรรจุแต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนขั้นของข้าราชการเท่านั้น”

ไม่ได้ห้าม นักการเมืองก้าวก่าย หรือ แทรกแซงการปฏิบัติราชการในหน้าที่ประจําของข้าราชการอีกต่อไป   ส.ส. หรือ ส.ว. สามารถติดต่อกับหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้เต็มที่

สบายอุรา...ข้าละทีนี้...ประชาชนจะว่าอย่างไร....