ทำนองเดียวกัน ทุกรัฐบาลก็พร่ำบอกพี่น้อง SME อยู่ตลอดว่า SME คือ กระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย ที่มีจำนวนกว่า 99% ของธุรกิจ และผู้เกี่ยวข้องกว่า 10 ล้านคน ดังนั้น จึงมีหน่วยงานจำนวนมากเกือบ 30 หน่วยงาน ที่เข้ามามีบทบาทในการช่วย SME และจัดตั้งสำนักงานพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ขึ้นมา ทำหน้าที่บูรณาการงานที่เกี่ยวกับ SME ร่วมกับทุกหน่วยงาน และมีงบบูรณาการทุกปี ซึ่งที่ผ่านมาก็พอเข้าใจได้ ไม่ว่าด้วยอะไรก็แล้วแต่
วันนี้ สสว. ยังรับผิดชอบภาพรวมการพัฒนา SME และหน่วยงานต่าง ๆ ก็ทำงานกันไปตามแบบที่เข้าใจและเป็นภารกิจของตนเอง ได้ผลเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ พอเดาได้จากที่สำนักงบประมาณในปีนี้ยกเลิกงบบูรณาการ SME ออก ปล่อยให้แต่ละหน่วยงานว่ากันไป และยิ่งในระดับจังหวัด ผมเคยหารือกับหลายหน่วยงาน ก็เข้าใจมุมที่เขามองต่อ SME ที่ต่างกันตามภารกิจของตนเอง เพียงแค่กิจกรรมหลักคล้าย ๆ กัน แต่งานก็ซ้ำซ้อนกัน เวลาไปถามก็จะตอบด้วยคำพูดสวย ๆ “ไม่ได้ซ้ำซ้อน แต่ซ้ำเสริม” แบบไม่เคอะเขิน
ผมได้หารือกับผู้ประกอบการหลายคน และรับรู้ถึงความต้องการของเขาที่อยากเข้าถึงการสนับสนุนของรัฐ และพวกเขาก็ทราบดีว่ารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามที่จะสนับสนุนและพัฒนา SME จำนวนมาก แต่ไม่รู้จะไปหาดูที่ไหนเพราะเยอะหน่วยงานเหลือเกิน ซึ่งเขามองว่ายุคนี้น่าจะทำได้ง่ายในการรวมกิจกรรมเหล่านี้อยู่ที่เดียวกันผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์ เพราะสะดวกต่อผู้ประกอบการที่จะหาดูและติดตามงานของทุกหน่วยงานได้ง่ายและครบถ้วน
ทำให้เลือกมาตรการและโครงการที่ตนเองต้องการและคิดว่าเป็นประโยชน์ได้ดี หากไม่เช่นนั้นก็จะเหมือนเดิม ๆ คือ คนที่รู้เรื่อง มีความสนินสนมกับเจ้าหน้าที่ ที่ปรึกษา หรือหน่วยงานก็จะได้ประโยชน์อยู่อย่างนั้น วนเวียนไม่กี่กลุ่ม ซ้ำ ๆ และบางทีก็จำต้องเข้าร่วมโครงการที่ตนเองไม่ต้องการมากนัก แต่ก็ไม่อยากขัดหน่วยงานหรือที่ปรึกษาที่ชวนให้เข้าร่วม และคนกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มเดิม ๆ ที่เก่ง มีศักยภาพ เนื่องจากสามารถผ่านตัวชี้วัดสัมฤทธิ์ผลของโครงการได้ง่าย
ในระดับจังหวัดนั้น หน่วยงานที่มีกิจกรรมต่าง ๆ ในการส่งเสริมการพัฒนา SME มีตั้งแต่ พาณิชย์ อุตสาหกรรม สาธารณสุข เกษตรจังหวัด พัฒนาชุมชน แรงงาน สสว. องค์กรปกครองท้องถิ่นต่าง ๆ ธนาคาร สถาบันการศึกษา รวมทั้งสำนักงานจังหวัด และภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้า สมาพันธ์ SME บิสคลับ ฯลฯ แต่ที่ผ่านมาต่างคนก็ต่างทำ และแทบจะไม่มีใครรู้ว่า ใครทำอะไร มี SME รายไหนเข้าร่วมโครงการมาแล้ว และได้รับพัฒนาด้านไหนมาแล้ว ควรจะต่อยอดด้านไหน ต้องไปที่หน่วยงานไหนช่วยเขาต่อได้ และที่สำคัญจังหวัดแทบจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการเหล่านี้ อย่าว่าในมิติการพัฒนาเลย เอาแค่จำนวนวิสาหกิจก็แทบไม่รู้ เพราะเขาเหล่านี้ไม่อยู่ในระบบทะเบียนใด ๆ ทั้งสิ้น ทำให้การพัฒนาวิสาหกิจในจังหวัดทำได้ยากและขาดประสิทธิภาพ
ผมได้รับมอบหมายจากรองประธานโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (พลเอก สกนธิ์ สัจจานิตย์ ) เข้าหารือกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน (ท่านนิพันธ์ บุญหลวง) เรื่องการสร้างเครือข่ายการพัฒนา SME ในจังหวัดน่าน โดยขอให้ทางสำนักงานพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จังหวัดน่าน เป็นแม่งาน
และทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม (ท่านนิรันดร์ มิ่งมหิศรานนท์) เข้าร่วมประสานงานด้วย เพราะแนวคิดของเครือข่ายการพัฒนา SME ในระดับพื้นที่นี้มาจากโครงการ Regional Integrated SME promotion (RISEP) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่นมากว่า 3 ปี และเริ่มดำเนินการให้หลายจังหวัด
แต่รูปแบบที่เหลือร่องรอยในวันนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จตามหวังไว้มากนัก เนื่องจากงานแบบนี้ต้องการความร่วมมือของหน่วยงานทุกหน่วยงานในจังหวัดที่มีภารกิจกับ SME ให้ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ซึ่งบางจังหวัดก็ทำได้ดีในระยะแรก ๆ หากจังหวัดให้ความสนใจจริงจัง ติดตาม และมีเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลติดตามต่อเนื่อง แต่ระบบราชการไทยจะให้ทำงานต่อเนื่อง บูรณาการ และสานต่องานหัวหน้าเก่านี้ดูเหมือน “ยัดภูเขาลงครก”
และผมคิดว่าการมีหน่วยงานที่ดูแลแบบถูกฝาถูกตัว คือ สสว. จังหวัด และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นเบอร์หนึ่งของจังหวัดเอาจริง ก็ไม่ยากครับ แต่ต้องมีระบบที่ดี มีเครือข่ายของผู้พัฒนาที่ครบ นอกจากนี้เพื่อให้การทำงานยั่งยืนและต่อเนื่อง ผู้ประกอบการในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ได้ประโยชน์ต้องเข้ามาช่วยขับเคลื่อนด้วย
ผมมองว่าวันนี้ น่านเป็นจังหวัดที่มีชื่อว่ามีเครือข่ายของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหลายเครือข่ายที่เข้มแข็ง และสมาชิกเครือข่ายส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรง มีความรู้ และการทำงานของเครือข่ายและคลัสเตอร์ต่างๆ ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานเอกชน รัฐ และสถาบันการศึกษา ทำให้มีระบบการทำงานและสนับสนุนซึ่งกันและกันได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีหลายเครือข่าย โดยเฉพาะคลัสเตอร์เกษตรแปรรูปและอาหาร หรือคลัสเตอร์เครื่องเงินและผ้าทอน่าน ก็เป็นตัวอย่างของการวางรากฐานที่ดีไว้แล้ว และทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของจังหวัดน่านมาตลอด
รูปแบบของการสร้างเครือข่ายหน่วยพัฒนา SME จังหวัดน่านที่ออกแบบเป็นแพลตฟอร์มที่ให้เครือข่ายของหน่วยราชการและอาจรวมถึงภาคเอกชนที่เป็นผู้ให้บริการการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของจังหวัดน่านนำข้อมูลกิจกรรม โครงการ และการให้บริการต่าง ๆ ของตนเองมาวางไว้บนแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งตอนนี้ใช้ชื่อว่า “น่านคอนเน็กซ์” NAN Connext
แนวคิดของแพลตฟอร์ม NAN Connext นี้ ทางจังหวัดน่านได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของน่านเป็นผู้ดูแลและประสานงานกับหน่วยงานพัฒนาผู้ประกอบการอื่นๆ ในจังหวัดน่านทั้งหมด รวบรวมกิจกรรมที่กำลังดำเนินงาน และเคยดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ไว้ในแพลตฟอร์มนี้
โดยในแพลตฟอร์มนี้จะเปิดให้ผู้ประกอบการเข้ามาดูข้อมูลกิจกรรมของแต่ละหน่วยงาน สอบถาม ปรึกษา ขอรับการสนับสนุนหรือเข้าร่วมกิจกรรมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวกับ SME ในจังหวัด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงข้อมูล เข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกส่วน และหากเชื่อมกับ e-consult ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็จะช่วยให้ทุกคำถาม ทุกคำขอปรึกษาของ SME จะมีคำตอบและคนให้คำแนะนำ
นอกจากนี้ งานหลังบ้านทั้งหมดที่ดูแลการประสานงานที่นำด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และมอบให้ท่านวิบูรณ์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นแม่งานกำกับ และให้หน่วยงานต่างเชื่อมข้อมูลทั้งรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาทั้งที่กำลังดำเนินการและที่เคยได้รับการพัฒนา ระบุประเภทกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งหมดของแต่ละหน่วยงานไว้ด้วยนั้นจะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดน่านทราบว่ามีงานอะไรที่มีคนอื่นทำแล้ว
หรือกำลังจะทำ ตนเองก็จะได้ทำในส่วนอื่น ๆ เพื่อ SME ตามภารกิจตนเอง และหากผู้ประกอบการรายใดติดต่อเข้ามาและเป็นงานที่หน่วยงานอื่นทำอยู่ ก็จะสามารถแนะนำและส่งต่อการขอรับความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานนั้น ๆ ทั้งหมดนี้จะทำให้การทำงานพัฒนา SME ในจังหวัดน่านเป็นไปอย่างมีเครือข่าย
มีการบูรณาการ และมีประสิทธิภาพในภาพรวม
หาก NAN Connext เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ และได้รับความร่วมมือเป็นเครือข่ายเพื่อพัฒนาสนับสนุนผู้ประกอบการของทุกหน่วยงานแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงการบริการของรัฐได้ง่าย อย่างทั่วถึง และรวดเร็ว ในขณะเดียวกันทางจังหวัดน่านก็จะมีข้อมูล และทราบสถานการณ์การเคลื่อนไหวของ SME น่าน ทราบถึงปัญหา อุปสรรค และความต้องการของผู้ประกอบการน่าน
รวมทั้งติดตามผลการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานในทุกกิจกรรมที่ทำงานเพื่อ SME ของน่านได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็วในการแก้ไขปัญหา ผมว่า สสว. ผู้รับผิดชอบแพลตฟอร์มนี้ให้กับจังหวัดก็จะสามารถรวบรวมข้อมูล SME ครบถ้วนและวิเคราะห์สถานการณ์ของ SME น่านได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และหากทำได้ครบทุกจังหวัดแล้ว ก็จะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูล SME ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น
เราต้องรอดูละครับว่าจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีเครือข่ายของ SME ที่เข้มแข็ง ภาคเอกชนที่กระตือรือร้น ผู้บริหารจังหวัดตั้งแต่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลงมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการของน่าน หน่วยราชการในจังหวัดมีกิจกรรมที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และมีความตั้งใจเพื่อ SME อย่างต่อเนื่องนั้น คือองค์ประกอบที่ครบของน่านในการสร้างเครือข่ายการพัฒนา SME ของจังหวัด
หน่วยงานพัฒนา SME ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการสร้างคลัสเตอร์และเครือข่ายของผู้ประกอบการ เรามีโครงการสร้างคลัสเตอร์ การพัฒนาเครือข่ายให้ผู้ประกอบการมากมาย หลายสาขา จนวันนี้ผู้ประกอบการน่านมีคลัสเตอร์ที่แข่งแกร่งในหลายสาขา แต่วันนี้ NAN Connect กำลังเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจของหน่วยงานรัฐในจังหวัดน่านทุกหน่วยว่า เราให้ความสำคัญกับคลัสเตอร์และเครือข่าย เหมือนกับที่เราพร่ำสอน SME หรือไม่ ซึ่งผมเชื่อว่าชาว SME และผู้ประกอบการของน่านทั้งหมดกำลังรอดูและเอาใจช่วยให้ท่านทำงานเชื่อมโยงและบรูณาการกันเองจริง ๆ เพื่อพวกเขา .... สักที
บทความที่เกี่ยวข้อง :