หลังการฉีด วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบ ผู้มีอาการข้างเคียงหลังรับวัคซีนโควิด-19 เพิ่มอีก 99 ราย โดยมี อาการข้างเคียง-อาการแพ้-อาการไม่พึงประสงค์ ที่หลากหลายแตกต่างกันไป ตั้งแต่อักเสบ แน่นหน้าอก มีไข้ หนาวสั่น จนถึงคลื่นไส้ แนะหากมีประวัติการแพ้ยา ควรแจ้งประวัติก่อนรับวัคซีน
นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง การให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ระยะแรก ในช่วงวันที่ 28 ก.พ.-3 มี.ค.64 ซึ่งกระจายไปใน พื้นที่ 13 จังหวัด รวม 116,520 โดส ประกอบด้วย
เชียงใหม่ 3,520 โดส, ตาก 5,000 โดส, นครปฐม 3,560 โดส, นนทบุรี 6,000 โดส, ปทุมธานี 8,000 โดส, กรุงเทพฯ 33,600 โดส, ชลบุรี 4,720 โดส, สมุทรปราการ 6,000 โดส, สมุทรสาคร 35,080 โดส, สมุทรสงคราม 2,000 โดส, ราชบุรี 2,520 โดส, สุราษฎร์ธานี 2,520 โดส และภูเก็ต 4,000 โดส
พบว่ามีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกใน 13 จังหวัดดังกล่าวไปแล้ว 13,464 ราย คิดเป็น 11.6%
ขณะที่ผลการเฝ้าระวัง อาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการรับวัคซีน ล่าสุดวานนี้ พบรายใหม่ 99 ราย มีอาการต่างๆ ได้แก่ อักเสบบริเวณที่ฉีด 59 ราย, แน่นหน้าอก 11 ราย, มีไข้ 2 ราย, หนาวสั่น 6 ราย, เหนื่อย 1 ราย, ปวดเมื่อยเนื้อตัว 1 ราย และคลื่นไส้ 19 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรายงานจากบ้านผ่านมาทาง แอปพลิเคชัน "หมอพร้อม"
พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงกรณีที่พบบุคลากรทางการแพทย์มีอาการข้างเคียงภายหลังได้รับการฉีดวัคซีนว่า บุคลากรทางการแพทย์หญิง อายุ 28 ปี ได้รับวัคซีนเมื่อเวลา 11.14 น. วันที่ 2 มี.ค.64 ภายหลัง 30 นาทีแล้วมีอาการเวียนศีรษะเล็กน้อย แต่ยังทำงานต่อได้ และเวลา 14.00 น. มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ
ต่อมาเวลา 16.30 น. เวียนศีรษะ แน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียนมากขึ้น เหงื่อออก ปลายมือปลายเท้าเย็น แต่ไม่มีผื่นขึ้นตามตัวหรือบวม ไปตรวจที่ห้องฉุกเฉิน พบความดันโลหิต 90/60 มม.ปรอท ชีพจร 90 ครั้ง/นาที ตรวจปอดปกติ ได้รับยา “เอพิเนฟริน” ทางกล้ามเนื้อ และ “เดกซาเมทาโซน” และ “คลอเฟนิรามีน” ทางหลอดเลือดดำ ทำให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงกลับไปสังเกตอาการที่บ้านพัก
ขณะที่อยู่ที่บ้านพัก มีถ่ายเหลว 4 ครั้ง แต่วันนี้อาการดีขึ้น มีถ่ายเหลว 1 ครั้ง สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ได้รักษาตัวในรพ. อย่างไรก็ดี บุคลากรทางการแพทย์รายนี้เคยมีประวัติแพ้ยาเพนนิซิลิน โดยมีอาการตัวบวมมาก
"บุคคลากรทางการแพทย์รายนี้ เกิดผลข้างเคียงจากวัคซีน แต่ไม่ใช่การแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินดูแล รวมถึงได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้แล้ว เห็นควรว่าสามารถรับวัคซีนเข็ม 2 ได้ แต่ต้องอยู่ในความดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด พญ.จุไร กล่าว พร้อมระบุว่า ผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยา แพ้อาหารต่างๆ หรือแพ้วัคซีนตัวอื่นๆ อย่างรุนแรงที่แสดงอาการภายใน 30 นาที ขอให้แจ้งประวัตินี้ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้แพทย์ได้ประเมินว่าจะสามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่
ส่วนผู้มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน แต่สามารถคุมระดับน้ำตาลได้ดี น้ำตาลสะสมไม่เกินเกณฑ์ หรือผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่สามารถควบคุมความดันได้ดี ความดันไม่สูง ก็ยังสามารถรับวัคซีนได้
"แต่หากผู้ที่มีโรคประจำตัว และไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินก่อน หากไม่มีความพร้อม จะไม่สามารถรับวัคซีนได้ เพราะจะไม่ปลอดภัย" พญ.จุไร ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: