40 CEO ถกนายกฯชง 4 เรื่องเร่งด่วน สกัดโควิด-เยียวยา-ฟื้นฟูประเทศ

21 ก.ค. 2564 | 11:16 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2564 | 20:33 น.

นายกฯ เปิดเวที ถกยาว 40 CEO ร่วมหอการค้าไทย บิ๊กเอกชนชง 4 เรื่องเร่งด่วนแก้ปัญหาโควิด เยียวยาผู้ประกอบการ และประชาชน กระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ "บิ๊กตู่" ขอบคุณภาคเอกชน พร้อมมอบแนวทางและนโยบายเพิ่มเติมเพื่อบูรณาการการทำงานร่วม

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือ ผ่านระบบ Video Conference ของคณะผู้บริหารหอการค้าไทย และ 40 CEOs พลัส กับ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เรื่องการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงและกังวล เรื่องการจัดหาและจัดสรรวัคซีนที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์เศรษฐกิจที่ถดถอยและซบเซาอย่างมาก

 

40 CEO ถกนายกฯชง 4 เรื่องเร่งด่วน  สกัดโควิด-เยียวยา-ฟื้นฟูประเทศ


ทั้งนี้ หอการค้าไทย และภาคเอกชน 40 CEOs พลัส พร้อมที่จะสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อฝ่าวิกฤติในครั้งนี้ไปด้วยกันกับภาครัฐ โดยการหารือในครั้งนี้ภาคเอกชนพร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น สำหรับเป็นแนวทางวางแผนเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้เตรียมการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้เสนอแนวทางและความคิดเห็น 4 ประเด็น

 

ประกอบด้วย  1. การควบคุมการแพร่ระบาด  โดยให้เร่งจัดสรรและกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ทั้ง 25 ศูนย์ ของภาคเอกชนร่วมกับ กทม. มีความสามารถที่จะเสริมการฉีดและรองรับการกระจายวัคซีนได้ทุกกลุ่มอายุ โดยสามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้  รวมถึง การจัดยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และมาตรการ Isolation  จัดให้มี Rapid Tests อย่างทั่วถึง  สนับสนุนให้เอกชนจัดสถานที่ Isolation ให้มียารักษาอย่างพอเพียง  และเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยหนักและ ICU โดยเฉพาะในเขตสีแดงและแดงเข้ม

 

2. การเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน เนื่องจากการขยายมาตรการที่เคยดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้ ในกรณีที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการตาม คำสั่งของราชการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อหรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกินกว่า 90 วัน ให้ได้รับการช่วยเหลือ    เร่งรัดออกมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น

 

40 CEO ถกนายกฯชง 4 เรื่องเร่งด่วน  สกัดโควิด-เยียวยา-ฟื้นฟูประเทศ

 

ไม่ว่าจะเป็นเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในประเทศ   เร่งรัดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทุกกลุ่มที่ใบอนุญาตให้ทำงานสิ้นสุดลงตามผลของ กฎหมาย ตามมติ คณะรัฐมนตรี เร่งรัดการเจรจาเพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU จำนวน 500,000 ราย พร้อมทั้ง กำหนดแนว ทางการนำแรงงานใหม่เข้ามาโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการการกักตัวและตรวจเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัดและเร่งตรวจเชิงรุกในโรงงาน เพื่อป้องกันภาคการผลิตไม่ให้หยุดชะงัก

3.การกระตุ้นเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะการ กระตุ้นผู้มีรายได้ และผู้มีกำลังซื้อสูง นำมาตรการ ช้อปดีมีคืน กลับมาอีกครั้ง โดยเพิ่มวงเงินไม่ต่ำกว่า 100,000  บาท ซึ่งจะสามารถกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทภายใน 1 ไตรมาส  รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาคเอกชนให้ลงทุนเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ภาคการลงทุนคึกคัก และเกิดการจ้างงานหลายแสนรายโดยภาคเอกชน ซึ่งอยากให้ได้รับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำพิเศษจากสถาบันการเงิน และสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาล และ BOI  และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐทรวมไปถึงการบทวนความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ New Economy โดยกำหนดนโยบาย และกฎหมายที่ชัดเจนเฉพาะธุรกิจบางประเภท และกำหนดโครงสร้างฐานภาษีใหม่

 

40 CEO ถกนายกฯชง 4 เรื่องเร่งด่วน  สกัดโควิด-เยียวยา-ฟื้นฟูประเทศ

 

และ4 การฟื้นฟูประเทศไทย  ซึ่ง การฟื้นฟูประเทศไทย เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน เพื่อแสวงหาโอกาสที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด โดยมีตัวอย่างความร่วมมือของ Alliances for Actions (AfA) จากประเทศสิงคโปร์ มุ่งเป้าความสำเร็จในเรื่องที่มี Impact สูง และคนไทยได้ประโยชน์ เช่น เกษตรสมัยใหม่ ท่องเที่ยวคุณภาพสูง การศึกษายุคใหม่ และ Food for future เป็นต้น

 

40 CEO ถกนายกฯชง 4 เรื่องเร่งด่วน  สกัดโควิด-เยียวยา-ฟื้นฟูประเทศ

 

การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วย Digital Transformation โดยเสนอให้มี Super App. ที่ช่วยอำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร ซึ่งต้องเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน และกำหนดเจ้าภาพที่ชัดเจน

 

40 CEO ถกนายกฯชง 4 เรื่องเร่งด่วน  สกัดโควิด-เยียวยา-ฟื้นฟูประเทศ

 

โดยหลังจากที่ภาคเอกชนได้นำเสนอและแสดงความคิดเห็น นายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางและนโยบายเพิ่มเติมเพื่อการบูรณาการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน โดยภาครัฐก็ยินดีสนับสนุนให้ภาคเอกชนช่วยเหลือประชาชนร่วมกัน  และรัฐบาลเปิดโอกาสให้เอกชนช่วยเจรจาหาวัคซีนที่ดีมีคุณภาพ เสริมจากที่ทางรัฐบาลได้เตรียมการไว้ เพื่อให้ประชาชนได้วัคซีนเร็วที่สุด

 

40 CEO ถกนายกฯชง 4 เรื่องเร่งด่วน  สกัดโควิด-เยียวยา-ฟื้นฟูประเทศ

 

ส่วนประเด็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนที่ได้มีการหารือในวันนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมเปิดให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน และข้อเสนอแนะของ 40 CEOs พลัส นายกฯ ได้รับไว้ และจะพิจารณาดำเนินการร่วมกันต่อไป

 

“ทั้งนี้หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้บริหาร 40 CEOs พลัส ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีและคณะ ที่ได้รับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากภาคเอกชนในวันนี้(21ก.ค.) โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะสนับสนุนและบูรณาการการทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้ภารกิจในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นไปอย่างบรรลุเป้าหมาย และเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้เข้มแข็งต่อไป”

 

ด้านนายสมชัย  เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส  กล่าวว่าเห็นใจและเข้าใจ รัฐบาลมาก ทั้งนี้ขอเสนอแนะ 2 ข้อ คือ

1) เชื่อว่าทางภาครัฐมีแผนงานชัดเจน ทั้งการคัดกรอง การเยียวยา และการฉีดวัคซีน แต่ขอเรียนเสนอว่า  หากแผนงานที่วางไว้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็จำเป็นต้องพูดความจริงให้ประชาชนทราบ พร้อมบอกแผนที่ปรับเปลี่ยนไป เพื่อให้ ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และรู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ

 

 2. รัฐบาลยังมีทรัพยากรอยู่มาก ขอเสนอให้มีการ re allocate resource ในทุกหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อเอามาร่วมใช้แก้วิกฤติครั้งนี้ เอาเอกชน และภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันทำงาน เพื่อให้เกิดพลังและประโยชน์ต่อประชาชน เช่น ในสายโทรคมนาคม ทาง กสทช. ก็ต้องมาช่วย และร่วมทำงานกับ ภาคเอกชน เพื่อช่วยผู้บริโภคก่อน

 

ขณะที่ นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ได้นำเสนอมาตรการ 5 ข้อ เพื่อเร่งฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด-19 ดังนี้ 1. มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ด้วยจุดแข็งเครือข่ายการสื่อสารและบิ๊กดาต้า: ด้วยฐานข้อมูลที่มีความแม่นยำและรวดเร็วสามารถนำมาจัดการต่อสถานการณ์ควบคุมโรคระบาดได้ทันเวลา ดีแทคสามารถร่วมทำงานกับภาครัฐเพื่อใช้ข้อมูลที่ไม่ระบุตัวตนในการติดตามการเคลื่อนไหวของประชากรเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดตามการระบาด ซึ่งจะช่วยสนับสนุนแผนการของรัฐบาลในการฉีดวัคซีน และระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงล่วงหน้าซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่หรือไม่

2. แจ้งข่าวสารด้วยการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพต่อประชาชน: ดีแทคเสนอในการส่งข้อความตรงไปที่กลุ่มลูกค้าที่กำหนดเพื่อการลดความสับสนต่อการประกาศและข้อกำหนดต่อมาตรการต่างๆ และการนำ dtac OneCall ซึ่งเป็นระบบที่เพิ่มความสามารถให้มือถือมาช่วยสนับสนุนรูปแบบคอลเซ็นเตอร์โดยมีระบบจัดการสายโทรเข้าที่มีฟีเจอร์หลากหลายและประสิทธิภาพสูง ที่ทำให้การบริหารทีมคอลเซนเตอร์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ดีแทคขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ถ้ามีการใช้แอปพลิเคชันที่มากเกินไปจะทำให้สับสนต่อการใช้งาน ควรใช้งานแอปพลิเคชันเดียวรูปแบบ Single point เช่น สิงคโปร์ที่มีการสนับสนุนการใช้งานแอปพลิเคชันเดียวด้วยจำนวน 70% ของประชากรจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

3. สนับสนุนช่องทางออนไลน์และการใช้เน็ตแก่ผู้ประกอบการ:  เนื่องจากการล็อกดาวน์และจำกัดเวลาเพื่อลดการระบาดจากพื้นที่ผู้คนพลุกพล่านซึ่งจะทำให้มีปัจจัยเสี่ยงสูง ดังนั้น ช่องทางออนไลน์จึงสำคัญเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการและพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย รวมถึงต้องมั่นใจว่าไม่มีช่องว่างในการเข้าถึงและมีทักษะพื้นฐานที่ปรับตัวมาทำธุรกิจออนไลน์ได้ สำหรับดีแทคได้ริเริ่มโครงการ “เน็ตทำกิน” เพื่อยกระดับทักษะผู้ค้ารายย่อยเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ดิจิทัล ให้รอดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจโควิดและได้ทำอย่างต่อเนื่อง

4. เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว : การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตคุณภาพสูงทั่วประเทศเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง จากวิกฤตจะเห็นได้ว่ามีประชากรย้ายกลับต่างจังหวัดมากขึ้น ความจำเป็นในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตทุกที่จึงมีความสำคัญมากกว่าที่เคย ประเทศไทยต้องเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่จำเป็น และเร่งจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการ โดยเฉพาะคลื่น 3500 MHz ที่เป็นคลื่น 5G หลักที่ใช้งานทั่วโลก ซึ่งพร้อมที่จะรองรับโซลูชั่นต่างๆ สำหรับดีแทคได้เร่งนำคลื่น 700 MHz ขยายไปมากกว่า 9100 สถานีฐาน เพื่อนำอินเตอร์เน็ตเข้าถึงชุมชนช่วยเรื่องเศรษฐกิจและการเพิ่ม GDP ดังนั้น คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติที่สำคัญที่ควรนำมาจัดสรรใช้งาน ไม่ควรมีคลื่นที่ถูกทิ้งไว้จากการประมูล

5. มาตรการฟื้นฟูประเทศ

• สนับสนุนธุรกิจและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ: นี่เป็นช่วงเวลาที่การแข่งขันทางเศรษฐกิจและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI ) มีความสำคัญอย่างมาก ประเทศไทยต้องดำเนินการลดความเสี่ยงสำหรับนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนในประเทศ โดยลดความซับซ้อนของระเบียบข้อบังคับเพื่อชวนนักลงทุนต่างประเทศให้มาลงทุนในประเทศไทยและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้

• การสนับสนุนเศรษฐกิจและสังคม และภาคประชาชนในประเทศ: เพิ่มการสนับสนุนการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสำหรับทุกกลุ่ม และต้องมีนโยบายการมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้น การเติบโตหลังเศรษฐกิจที่กระจุกตัวจะนำมาซึ่งปัญหาในระยะยาวสำหรับประเทศได้ โดยการสนับสนุนกลุ่มคนในชนบท และกลุ่มเปราะบางต่างๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่พลิกฟื้นเศรษฐกิจ ดีแทคยินดีให้การสนับสนุนกับการฝึกอบรมออนไลน์ และให้ความสำคัญประชากรกลุ่มเปราะบางที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดิจิทัลและอินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัย