"ล็อกดาวน์" ช้าไป 6-10 สัปดาห์ "หมอเฉลิมชัย" ชี้ผลลัพท์ต่างกันมากถึง 1 เท่า

05 ก.ค. 2564 | 02:36 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2564 | 09:35 น.

หมอเฉลิมชัยเผยล็อกดาวน์ป้องกันโควิด-19 ช้าไป 6-10 สัปดาห์ ผลลัพท์ที่ได้จะแตกต่างกันมากถึง 1 เท่าตัว ชี้มาตรการสำคัญาต้องต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางมิติเศรษฐกิจและทางสังคมให้ได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า อาจช้าไปแล้ว Lockdown ช้าไป 6-10 สัปดาห์ ผลที่ได้จะแตกต่างกันมากถึง 1 เท่าตัว ทุกประเทศทั่วโลก เมื่อประสบปัญหาสถานการณ์โควิดระบาด ต่างก็ต้องพิจารณาออกมาตรการควบคุมโรค โดยมีตั้งแต่มาตรการที่เบาหรืออ่อน ไปจนถึงมาตรการหนักที่เข้ม หรือเรียกว่าล็อกดาวน์ (Lockdown)ปัญหาที่ทุกรัฐบาลประสบเหมือนกันคือ จะเลือกออกมาตรการล็อกดาวน์ตอนไหนดี เพราะถ้าออกเร็วไป ก็จะกระทบกับมิติเศรษฐกิจและมิติทางสังคมอย่างมาก จะมีผู้ไม่เห็นด้วยและอาจมีผู้ออกมาต่อต้านได้ แต่ถ้าออกมาตรการล็อกดาวน์ช้าไป ระบบสาธารณสุขก็จะอ่อนล้าลงเรื่อยเรื่อย จนถึงระบบสาธารณสุขรับมือไม่ไหว จะทำให้จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นเป็นกราฟแบบก้าวกระโดด
ทุกรัฐบาลจึงมักจะเลือกออกมาตรการที่อยู่ในระดับอ่อนจนถึงปานกลางก่อนเสมอ ทั้งนี้เพื่อประคองมิติทางเศรษฐกิจและมิติทางสังคมเอาไว้ก่อน แล้วพยายามมสนับสนุนมิติทางสาธารณสุขให้สามารถรับมือให้ได้มากที่สุด โดยคอยเฝ้าดูตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต เมื่อระบบสาธารณสุขรับไม่ไหวแล้ว ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตพุ่งสูง ก็จะยอมออกมาตรการเข้มข้นตามความเหมาะสม ซึ่งก็คือออกมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งอาจเป็นในระดับพื้นที่ หรืออาจเป็นระดับประเทศก็ได้
มาตรการล็อกดาวน์ จึงเป็นความหวังหรือเป็นอาวุธชิ้นสุดท้ายของทุกประเทศ ที่หวังว่าจะนำมาใช้ควบคุมการระบาด แต่ในความเป็นจริงแล้ว มาตรการล็อกดาวน์นั้น จะให้ผลดีในการควบคุมโรคได้มากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าระยะเวลาที่ออกมาตรการนั้นเร็วช้าเพียงใด ถ้าออกช้าเกินไป ผลที่ได้จะแตกต่างกับการออกเร็วอย่างมาก เช่น ถ้าออกช้าไป 6-10 สัปดาห์ ผลที่จะควบคุมโรคได้ อาจจะแตกต่างกันมากถึง 100% หรือหนึ่งเท่าตัว
ทั้งนี้มีเหตุการณ์ในอดีต ที่เกิดขึ้นจริง ทำให้เห็นการเปรียบเทียบดังกล่าวได้ชัดเจน เมื่อปี  ค.ศ. 1918-1919 ตรงกับ พ.ศ. 2461-2462 ได้เกิดการระบาดของไข้หวัดสเปน (Spanish Flu) ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกไป 500 ล้านคน หรือมากถึงหนึ่งในสามของประชากรโลก และประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 50 ล้านคน ในจำนวนนี้เฉพาะสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวเสียชีวิตไป 6.75 แสนคน
กรณีตัวอย่างของการประกาศมาตรการเข้มข้นหรือล็อกดาวน์ที่เร็วช้าต่างกัน แล้วส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตแตกต่างกันอย่างมาก เกิดขึ้นระหว่างสองเมืองใหญ่ คือเมืองฟิลาเดลเฟีย ของรัฐเพนซิลเวเนีย กับเมืองเซนต์หลุยส์ ของรัฐมิสซูรี โดยเมืองฟิลาเดลเฟีย เป็นเมืองที่ออกมาตรการล็อกดาวน์หรือเข้มข้นช้าคือ ออกหลังจากที่พบผู้ป่วยเคสแรกแล้วถึง 16 วัน(3-5 รอบระยะฟักตัว) 17 กันยายน 1918 พบผู้ป่วยเคสแรก 3 ตุลาคม 1918 ออกมาตรการเข้มข้น โดยในช่วงก่อนวันที่ 3 ตุลาคม นายกเทศมนตรีของเมือง ยังคงจัดให้มีการเฉลิมฉลองเดินขบวนพาเหรดไม่จำกัดจำนวนกิจกรรมที่มีคนมาร่วมกันเป็นจำนวนมาก ไม่ควบคุมสถานที่สาธารณะต่างๆ ผลคือ มีคนเสียชีวิตต่อสัปดาห์มากถึง 257 คนต่อแสน และเสียชีวิตตลอดช่วงการระบาด 719 คนต่อแสน

เปรียบเทียบกับเมืองเซ็นต์หลุยส์ของรัฐมิสซูรี เร่งออกมาตรการอย่างรวดเร็วภายในสองวันคือ 5 ตุลาคม 1918 พบผู้ป่วยเคสแรก 7 ตุลาคม 1918 ออกมาตรการเข้มข้นระดับล็อกดาวน์ทันที โดยปิดทั้งโรงเรียน โรงภาพยนตร์ ห้องสมุด โบสถ์ สนามเด็กเล่น ไม่ให้มีกิจกรรมสาธารณะ และควบคุมการเดินทางสาธารณะด้วย ผลคือมีผู้เสียชีวิตต่อสัปดาห์เพียง 31 คนต่อแสน และผู้เสียชีวิตตลอดช่วงระบาด 347 คนต่อแสน

ล็อกดาวน์ช้า 6-10 สัปดาห์ ผลที่ได้แตกต่างกันมากถึง 1 เท่าตัว
เมื่อนำทั้งสองเมืองมาเปรียบเทียบกัน จะพบว่าอัตราการเสียชีวิตต่อสัปดาห์ต่างกันถึง 8.29 เท่าหรือ 829%  และถ้าคิดตลอดช่วงการระบาดจะต่างกัน 2.07 เท่า หรือต่างกันถึง 107% ความแตกต่างของสองเมืองดังกล่าวที่ออกมาตรการเข้มช้าต่างกันอยู่ 14 วันนั้น
ถ้าแปลงมาเป็นระยะเวลาฟักตัวของ โควิด-19  ก็จะเท่ากับสามถึงห้ารอบของการระบาดหรือ 6-10 สัปดาห์ (42-70 วัน) นั่นคือในเหตุการณ์โควิด ถ้าออกมาตรการช้าไป 70 วัน จะทำให้ผลในการควบคุมโรคแตกต่างกันได้ถึงหนึ่งเท่าตัวหรือ 100% 
เรามีการพบเคสแรกของระลอกที่สาม เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ถ้านับจนถึงวันที่ระบาด 70 วัน ก็คือ 9 มิถุนายน 2564 เมื่อเลย 9 มิถุนายนมาแล้ว ถ้ามีการประกาศล็อกดาวน์ ผลที่ได้จะน้อยกว่าการประกาศล็อกดาวน์ก่อนสงกรานต์อย่างน้อยหนึ่งเท่าตัว แล้วถ้ายังประกาศช้าไปกว่านั้นอีก คือมาประกาศในเดือนกรกฎาคม ผลที่ได้จากการล็อกดาวน์ (ซึ่งทำให้คนได้รับผลกระทบทางมิติเศรษฐกิจและสังคมมาก) จะยิ่งได้ผลน้อยกว่าในการประกาศโดยเร็วก่อนหน้านั้น 
การตัดสินใจล็อกดาวน์ จึงควรทำให้เร็วที่สุด ไม่ควรช้าออกไป เพราะยิ่งช้า ผลที่ได้ก็จะยิ่งได้น้อยลงเป็นลำดับ และมาตรการที่สำคัญมากในการประกาศล็อกดาวน์ก็คือ มาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางมิติเศรษฐกิจและทางสังคม
ให้ได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด ต้องเยียวยาให้มีความเหมาะสม ประคองตัวให้รอดในช่วงมาตรการล็อคดาวน์ให้ได้
และบทเรียนที่สำคัญอีกบทคือ เมืองเซ็นต์หลุยส์เมื่อประสบความสำเร็จในการล็อกดาวน์ มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตน้อยแล้ว ก็ประมาท ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์เร็วเกินไป ทำให้เกิดการระบาดระลอกถัดมาทันที นับเป็นบทเรียนที่ควรจะสนใจนำมาใช้ประกอบการดำเนินการในปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทยนั้น การประกาศล็อกดาวน์ล่าสุดจากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) มีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง ห้ามรับประทานอาหารในร้าน รวมกลุ่มสังสรรค์ งานเลี้ยงรื่นเริง และห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 
สำหรับข้อกำหนดนี้มีผลในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา
สรุปข้อกำหนด
1.สั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง สั่งหยุดทำงานก่อสร้าง อย่างน้อย 30 วัน และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราว
2.การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ โรงแรม ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัด ซูเปอร์มาร์เก็ต ให้เปิดบริการเฉพาะนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น
3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ถึง 21.00 น. โดยงดให้บริการโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ ศูนย์อาหาร
4.โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดได้ตามเวลาปกติ แต่ให้งดการจัดประชุม การสัมมนา และจัดเลี้ยง
5.ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีบุคคลจำนวนรวมกันเกินกว่า 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค
6.ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เข้าไปตรวจตราเขตชุมชน ตลาด หรือสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาด เมื่อพบแหล่งที่มีการระบาดของโรคเป็นกลุ่มก้อน ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการสั่งปิดเขตชุมชน หรือสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว
7.ให้เจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ จุดสกัด เพื่อคัดกรองการเดินทาง อย่างน้อย 30 วัน ในเส้นทางคมนาคมเข้าออกชายแดนภาคใต้ และกรุงเทพฯ-ปริมณฑล
8. ให้ประชาชนงดกิจกรรมทางสังคมที่มีการรวมกลุ่มในลักษณะการสังสรรค์ งานจัดเลี้ยงรื่นเริงในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็นระยะเวลา 30 วัน เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยม
คำสั่งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป