“ล็อกดาวน์” มาตรการยาแรง ที่เริ่มมีเสียงข้อเสนอนี้กลับขึ้นมาดังอีกครั้ง เพื่อหวังให้ “ศบค.” ใจถึงๆ ใช้มาตรการขั้นสูงสุด หยุดยั้งการระบาดเชื้อร้ายโควิด19 ให้จงได้
เพราะสถานการณ์การระบาดในระดับที่มีคนป่วยติดเชื้อทะลุ 5 พันคนอย่างต่อเนื่องต่อวัน จนเกิดวิกฤติเตียงรักษา ลามไปถึงปัญหาการตรวจหาเชื้อจากผู้สัมผัสในกลุ่มเสี่ยง หนำซ้ำมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 50 คนต่อวัน ไม่ใช่เรื่องดีแน่หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้
นับตั้งแต่เม.ย. จุดเริ่มต้นของระลอก 3 จนถึงปัจจุบัน รวมกว่า 3 เดือน แทบจะมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าจะกดตัวเลขให้กลับมาอยู่ในหลักไม่เกิน 100 คนต่อวัน เหมือนครั้งระบาดระลอก 1 และ 2 ได้อย่างไร
“ฐานเศรษฐกิจ” ประมวลมุมมอง ความคิดเห็นของฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับ “ข้อเสนอล็อกดาวน์” ก่อนที่จะถึงวันประชุมศบค.ชุดใหญ่อีกครั้ง ในวันจันทร์ที่ 12 ก.ค. นี้
ข้อเสนอให้ “ล็อกดาวน์”
เริ่มที่ “น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ” หรือ หมอเฉลิมชัย รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความ โดยสรุปว่า
สถานการณ์โควิดระลอกที่สาม ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 1 เมษายน 2564 จนถึงขณะนี้เป็นระยะเวลา 98 วัน ยอดผู้ติดเชื้อรายวัน ผู้เสียชีวิต ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แม้ได้มีการประกาศยกมาตรการเข้มข้นขึ้นในเขตกรุงเทพปริมณฑล 6 จังหวัด และ 4 จังหวัดภาคใต้แล้วเป็นเวลา 10 วัน การรอให้ครบ 14 วัน
หลังใช้มาตรการดังกล่าว จึงอาจเป็นการรอที่ไม่มีประโยชน์คุ้มค่า มีแต่ผลกระทบทางด้านลบเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และยังไม่เห็นแนวโน้มที่มาตรการเข้มข้นที่ประกาศออกมาแล้ว จะทำให้สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลงได้
หมอเฉลิมชัย ระบุต่อไปว่า น่าจะพิจารณายกมาตรการให้เข้มข้นขึ้นอย่างจริงจังให้เร็วที่สุด เช่น การประกาศให้ทำงานจากบ้าน 100% การประกาศเคอร์ฟิวบางช่วงเวลา การประกาศล็อกดาวน์เขตจังหวัดที่มีการระบาด และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลดลง โดยภาครัฐต้องออกแบบวางระบบ และทำการประกาศให้ประชาชนรับทราบ ถึงมาตรการรองรับผลกระทบ เพื่อเยียวยาให้ประชาชนทุกภาคส่วน
ซึ่งจะได้รับผลกระทบทางลบ ไม่มากก็น้อย แตกต่างกันไป เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ในระหว่างที่มาตรการดังกล่าวกำลังทำงานเพื่อให้เกิดผลดีในท้ายที่สุดคือ การลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อ อันจะนำมาสู่การกลับมาดำเนินการของมิติเศรษฐกิจและสังคมได้ในภายหลัง
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล โดยสรุปว่า ผ่านมาครบ 7 วันแล้วสำหรับมาตรการล็อคดาวน์แบบจำกัดขอบเขต ผมถูกถามจากสื่อหลายแห่งว่าพอจะประเมินได้หรือยัง คำตอบคือยังไม่ได้
และขยายความเพิ่มเติมว่า สำหรับผมจะขอดูดัชนีชี้วัดหลักจากจำนวนรวมกันของผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจใน กทม. สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาคร โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตในหกจังหวัดนี้เป็นดัชนีชี้วัดรอง ด้วยเหตุผล คือ สัดส่วนผู้ป่วยวิกฤตในผู้ป่วยรายใหม่จะมากหรือน้อยขึ้นกับว่าตรวจในกลุ่มไหน
ถ้าเป็นการตรวจเชิงรุกในคนงาน จะพบผู้ป่วยสีเขียวราว 95-98% จึงมีโอกาสเกิดผู้ป่วยวิกฤตน้อยกว่าการตรวจเชิงรับในคนที่มาโรงพยาบาล ซึ่งพบผู้ป่วยสีเขียวราว 80-90%
แต่ทั้งสองกลุ่มถ้าโรคลุกลามไปหลังจากเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว หรือลุกลามในระหว่างรอรับการตรวจวินิจฉัย หรือลุกลามหลังจากตรวจพบแล้วยังไม่ได้รับตัวเข้ารักษา สุดท้ายผู้ป่วยก็จะมีอาการรุนแรงมากขึ้นจนถึงขั้นวิกฤต เมื่อเข้าโรงพยาบาลก็มักจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ยกเว้นรายที่เสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล
ดังนั้นรูปกราฟที่แสดงตัวเลขย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. จนถึง 3 ก.ค. จึงต้องจับตาดูกันว่าจากวันที่ 4-11 ก.ค. จะมีทิศทางไปเป็นเช่นใด จะต้องล็อคดาวน์กันเพิ่มอีกไหมหรือเท่านี้ก็พอแล้ว
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ปัจจุบัน การระบาดของไทยเราจึงยังเป็นระลอกสามที่คุมไม่ได้ ดังที่เห็นจากกราฟการระบาดในแต่ละวัน จะเรียกระลอกสี่ได้นั้น ระลอกสามต้องกดลงมาให้ได้คงที่ระยะหนึ่งเสียก่อน แต่ที่เราเป็นมานั้นคือ สาหัสคงที่มาหลายเดือนและปะทุเป็นระยะ แบบ Table mountain with big volcanoes on top
หมอธีระ บอกต่อไปอีกว่า สิ่งที่ต้องระวังต่อจากนี้ หากศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศ
พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม รักษาโรคทางอายุรกรรมและอายุรกรรมโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก ได้โพสต์เฟสบุ๊ก Nuttagarn Chuenchom ใจความมีดังนี้ เคสบวก 1,200 เคสแล้วจ้า มันเกินความสามารถที่เรามีอยู่ไปมากแล้ว ตอนนี้รับเคสทุกด้าน แรงงานในโรงงานที่แออัด มาจากไหนบ้างก็ไม่รู้ คนไทยลอบข้ามแดนจากคาสิโนฝั่งเมียนมาลอบมากันดึกๆดื่นๆ คนมาจากจังหวัดเสี่ยงสีแดงต่างๆ คนไทยที่ติดเชื้อในพื้นที่กว่า 40+ เคสต่อวัน
ถ้ามันยังบวกวันละเกือบร้อยแบบนี้ ไม่นานคงทะลุ 3,000 เป็นแน่ ตอนนี้เตียงทุกที่เริ่มเต็มแล้ว
ตอนนี้คนขับรถบรรทุกที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่บวกเยอะมากๆๆๆๆ วันนี้บวก 15 ราย มีแอดมิทที่แม่สอด 2 รายที่เหลือปลายทางจังหวัดอื่นนะ ..แพร่จากไหนไปไหนบ้างก็ไม่รู้ ไกลสุดโทรไปอยู่สงขลาจ่ะ
คนข้ามแดนบวกเยอะมากๆๆ และก็ยังไม่เคยมีจิตสำนึกที่ดีในการรับผิดชอบสังคม จะโกหกกันไปถึงไหน กฎหมายเอาผิดก็อ่อนเหลือเกิน
เราเอาคนไข้หนักสีเหลือง สีแดง และคนไข้คนไทยเข้ามารักษาในโรงพยาบาล
คนไข้แรงงานมีนายจ้างอาการเบาสีเขียวรักษาในโรงงานแบบ factory isolation (FI)
คนไข้เมียนมาไร้สิทธิ์ ไม่มีสังกัดเอามาอยู่ใน community isolation(CI) ซึ่งชาวบ้านคนไทยหลายตำบลช่วยเร่งสร้างขึ้นมา พื้นที่โกดังก็ล้วนแล้วแต่พวกเขาเสียสละมาทำเพื่อควบคุมโรคในชุมชน
ต่อไปถ้าเตียงตึงแบบนี้จนขยับไม่ได้ ..เราจะเริ่ม home isolation คือให้ คนไข้ติดเชื้อโควิด 19 อยู่ที่บ้าน และทำการรักษาทางไกลซึ่งตอนนี้เราก็เริ่มทำบ้างแล้ว ในคนที่มีความรู้ ตอนนี้มีคนใส่ท่ออาการหนัก 3 คน เพิ่งเสียชีวิตไป 1 คน
เชื่อว่าตอนนี้เชื้อโรคคงเปื้อนไปทั่วแม่สอดแล้วค่ะ
ตอนนี้รอคำสั่ง ล็อกดาวน์ ก็ไม่มาสักที คงต้องติดกันหมดก่อนมั้ง ไม่ก็เตียงเต็มในทุกโรงพยาบาลก่อนมั้ง ..พวกเราทุกคนก็ต้องทำตัวเหมือนติดไปแล้วแต่ไม่แสดงอาการ คือเขียวทิพย์ เพื่อล็อคดาวน์ตัวเอง เคอร์ฟิวตัวเอง ถ้าไม่ช่วยกันทำให้ดีที่สุดสถานการณ์คงจะน่ากลัวมาก..
นี่ยังไม่นับว่าฝั่งเมียนมาล่มสลาย คนไข้ทั้งไทยและเมียนมาจะวิ่งขึ้นฝั่งมาเหมือนกับหนังซอมบี้..ถึงตอนนั้น หมอจะขอหยุดอยู่บ้านละค่ะ เพราะสุขภาพกายใจตอนนี้ก็เริ่มไม่ไหวเหมือนกัน
พวกเราทีมชายแดนต่อสู้กับโควิดยาวนานมาปีกว่าแล้ว ไม่เคยได้หยุดเลยสักวัน..ถึงตรงนี้เหลือแรงก็อกสุดท้ายจริงๆแล้วค่ะ
ฝ่ายของ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)หรือ ศปก.ศบค.กล่าวถึงข้อเสนอ “ล็อกดาวน์” ว่า
ได้ยินอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ตอนนี้เรารอข้อเสนออย่างเป็นทางการจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก่อน โดย ศบค.พร้อมรับไว้พิจารณาอยู่แล้ว จากนั้นจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
"ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังทรงตัวอยู่ แต่ตัวเลขจะถึงขั้นไหนค่อยมาว่ากันอีกที อยากให้สื่อทำความเข้าใจกับคำว่าล็อกดาวน์ ว่าหมายความว่าอย่างไร ถ้าเป็นเหมือนตอนเดือนเม.ย.2563 คือการล็อกดาวน์จริง เพราะรวมถึงการเคอร์ฟิวส์ด้วย
แต่หลังจากนั้นไม่ใช่ล็อกดาวน์แต่เป็นการปิดกิจการและจำกัดการเคลื่อนย้าย ดังนั้นถ้าใช้คำว่าล็อกดาวน์ ในขณะนี้ที่เป็นการปิดบางกิจการ คนจะเข้าเข้าใจว่าเหมือนเดือนเม.ย.2563ซึ่งความหมายผิดเพี้ยนไป"
อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่าจะพิจารณาเรื่องนี้ ในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้เลยหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ถ้าตัวเลขเพิ่มขึ้นก็อาจจะเร็วกว่านั้น แต่ถ้ายังเป็นลักษณะขึ้นลงแบบนี้ อาจรอดูสถานการณ์ให้ครบ 15วัน เพื่อประเมินทีเดียว แล้วดูให้ครบถ้วน โดยเราต้องทำอย่างอื่นไปด้วยเช่น ควบคุมการเคลื่อนย้าย การแก้ปัญหาเรื่องเตียงไม่พอ ไม่ใช่ว่าเราจะนั่งรอดูตัวเลขอยู่เฉยๆ
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าหากจะประกาศล็อกดาวน์ จะประกาศเฉพาะพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้ามากที่สุด หรือจะประกาศในภาพรวมทั้งหมด พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า จะเน้นเข้มข้นในพื้นที่แพร่ระบาดทั้งใน กทม.และปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนพื้นที่อื่นจะมีมาตรการเสริม
หากล็อกดาวน์หรือเซมิล็อกดาวน์ หรืออะไรก็ตาม ถ้าทำเฉพาะกทม.หรือปริมณฑล แต่พื้นที่อื่นไม่ทำ ก็จะไม่สอดคล้องกันดังนั้นต้องลดหลั่นไปตามความเหมาะสม
ส่วนคำถามที่ว่าเหตุใดรัฐบาลจึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้ คำว่า"ล็อกดาวน์" พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ไม่ได้หลีกเลี่ยง แต่ความหมายต้องชัดเจน คำว่าล็อกคือไม่ให้ไปไหน แต่ช่วงหลังให้ไปไหนมาไหนได้ เมื่อใดที่ต้องใช้คำว่าล็อกดาวน์ หรือทำบางช่วงเวลาและบางพื้นที่ต้องระบุให้ชัดเจน
ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอบคำถามสื่อมวลชนภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 7/2564 ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 7 ก.ค. เมื่อถามถึงมาตรการล็อกดาวน์ว่า “ต้องยอมรับว่าล็อกดาวน์ เป็นอำนาจสูงสุดที่ต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉะนั้นจึงเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี”
“ส่วนการเปิดช่องหรือไม่ สธ.เรารายงานสถานการณ์และความจำเป็นในทุกครั้งที่ประชุม ศบค. ฉะนั้นจะล็อกดาวน์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้บริหารสูงสุดในการใช้อำนาจ เพราะต้องหารือผลกระทบในหลายมิติ” นายสาธิต กล่าว