หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีมติให้มีการกำหนดแนวทางการใช้การตรวจหาแอนติเจนโดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ดังนี้
1. ชุดตรวจที่ใช้ต้องผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนแล้วกับ อย.
2. ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ใช้โดยสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนที่ผ่านการรับรองทางห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจ SARS-CoV-2 โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
3. ตัวอย่างที่ใช้ตรวจเก็บจากการแหย่จมูกตามที่ชุดตรวจกำหนด
4. ผู้ป่วยที่มีอาการให้มีการพิจารณาการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ก่อน
5. กรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนมากให้ใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ถ้าให้ผลบวกให้ตรวจยืนยันด้วย RT-PCR
6. ผู้สงสัยแต่ไม่มีอาการให้ตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ Rapid Antigen Test
นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า ทัวร์เดิมเพิ่งซาไป ไม่รู้ว่าจะมีทัวร์มาอีกรอบไหม?
เรื่องrapid test ชุดตรวจไว
ที่ผมแนะนำมาตลอดว่าควรมี แต่ขณะนี้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้แล้วนั้น… ผมกังวลมากกว่า เพราะ สธ.ยังไม่ได้กำหนดนโยบายที่ชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนไว้ว่าในรายที่จะตรวจพบผลเป็นบวก (หรือผลเป็นลบก็ตาม) จะทำอย่างไร ตอนนี้ถ้าไม่มีแนวปฏิบัติ คอขวดในการรอก็จะไปอยู่ที่การรอเตียงแอดมิต
แทนที่รอตรวจที่โอพีดี หรืออาจจะทำให้คนตื่นไปตรวจมากขึ้นโดยไม่จำเป็น (เช่นไม่ได้สัมผัสใกล้ชิด หรือฉีดวัคซีนครบแต่สัมผัสวงที่สองหรือสาม หรือไม่มีอาการเลย แต่แค่อยากรู้) กลายเป็นไปแออัดกัน ไปรับเชื้อกัน วันที่ไปตรวจไม่มีเชื้อ วันสองวันต่อมากลายเป็นมี (เพราะตรวจเร็วไป หรือไปรับเชื้อโรคในวันที่ไปตรวจ)
แนวปฏิบัติที่ต้องมีคร่าวๆ คือ
1) ถ้าตรวจได้ผลบวกจาก rapid test ทำไงต่อ ได้ผลลบทำไงต่อ (ในภาวะรุนแรงการระบาดที่ต่างกันแนวทางก็ไม่เหมือนกัน ผู้กำหนดต้องเข้าใจเรื่อง Pretest likelihood)
2)การ ปชส. สอน ปชช.ให้เข้าใจว่า การดูแลสังเกตุอาการที่ต้องมาตรวจ คืออะไร? สัมผัสอย่างใดที่เรียกว่าใกล้ชิด และควรมาตรวจวันไหน ระหว่างยังไม่ถึงเวลาที่ควรมาตรวจ อยู่ที่บ้านควรจะทำอย่างไร)
ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมต้นทุนตรงนี้จะมหาศาล รบ.จะแบกไม่ไหว ไหนจะ ค่าตรวจ จำนวนเตียงที่ต้องเพิ่มขึ้น ทั้งเตียง hospitel รพ. สนาม จนถึงค่าอุปกรณ์เครื่องมือในไอซียู (ใครมีรายได้ตรงนี้กันบ้างไม่แน่ใจ) แต่คนทำงานหนัก คือแพทย์พยาบาลซึ่งมีเท่าเดิม
ตราบใดที่ไม่มีมาตรการ...
1)ลดคนเข้า รพ. ฝึกและสอนวิธีคัดกรอง คนที่ดูแลตัวที่บ้านได้ให้อยู่บ้าน และมีระบบติดตามให้พร้อม
2) ป้องกันคนไม่มีอาการให้กลายเป็นคนมีอาการ (ซึ่งมีวิธีอยู่ อย่าปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูล)
3) ป้องกันคนมีอาการน้อยไม่ให้กลายเป็นมีอาการมาก
4)ลดคนมีอาการมากไม่ให้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ… อย่าแค่ตั้งรับ เราเพิ่มคนไม่ได้ อย่าบอกว่ารอวัคซีน เพราะวัคซีนกว่าจะเห็นผล ต้องรอหลายเดือน
และที่สำคัญ ต้องประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง ให้ความรู้ความเข้าใจคนว่า...
1)เมื่อไหร่จำเป็นต้องมาตรวจ
2)ถ้าจะให้มาเมื่อมีอาการอาการอะไร หรือสัมผัสอย่างไรถึงควรมาตรวจ และควรมาวันไหน ระหว่างรอมาตรวจทำอย่างไร
ที่สำคัญอีกเรื่องคือการตรวจแบบไวนี้ถูกออกแบบมาให้เป็นการทำด้วยตัวเองครับ ดังนั้นคนทำการตรวจร้อยครั้งเรามีเทคนิเชี่ยนช่วยทำร้อยคน แต่ถ้ามาทำในโรงพยาบาลเรายังมีคนทำเท่าเดิมกลายเป็นคอขวดที่คนตรวจ
การตรวจทำพร้อมๆกันไม่ได้เหมือนเครื่องRtPCRที่ทำพร้อมๆกัน เก้าสิบกว่าราย(หรือมากกว่า) ใช้คนสี่คน ตรวจรอบแรกใช้เวลาสี่ชั่วโมงแต่รอบต่อๆไปใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเศษ ถ้าเป็นการตรวจแบบไว(rapid test) การตรวจหนึ่งรายใช้เวลา 15-20นาที(อ่านไม่ตรงเวลาผลอาจคลาดเคลื่อน)
เทคนิเชี่ยนหนึ่งคนต้องนั่งจ้องดูผลอย่างมากได้ 10 รายกว่าๆ และทำได้เป็นแบบอนุกรม ถ้าคนอยากตรวจมาพร้อมกัน เป็นร้อยคนที่ มาท้ายๆต้องรออยู่ดี แต่ถ้าจะให้ทำเองที่บ้าน(ซึ่งมันถูกออกแบบมา) เตรียมพร้อมให้การศึกษาหรือยังว่าจะกำจัดขยะเหล่านี้อย่างไร
ผมว่าเรายังไม่มีแผนใดๆที่เห็นเป็นรูปธรรม ปล่อยแบบนี้จลาจลแน่ เคอร์ฟิวก็เอาไม่อยู่ ตอนนี้ต้องช่วยกันคิดช่วยกันแบบสร้างสรรค์ อย่าไปกดดันกัน อย่าใช้อารมณ์ตัดสิน ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ให้การศึกษาให้ทั่วถึง และตัวเลขที่จะช่วยตัดสินใจมีอยู่แล้ว แค่อยู่ต่างที่ต่างกรม เอาตัวเลขมาโชว์ the whole truth เพื่อที่ทำอะไร หรือมีมาตรการอะไรไป จะได้ประเมินผลลัพธ์ได้ และระหว่างทางต้องมีตัวชี้วัดด้วยเผื่อต้องปรับแผนระหว่างทาง